รถ BRT ตามสัญญาจ้างเดินรถใหม่ เริ่มกรกฎาคม 2567 มีอะไรเปลี่ยนไป

รถ BRT รุ่นใหม่

แกะข้อมูลจากร่างเอกสาร TOR กทม. จ้างเดินรถ BRT รอบใหม่ สัญญาจ้าง 5 ปี ตั้งแต่กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป มีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ตามที่ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยความคืบหน้าการประกวดราคาจ้างโครงการพัฒนาระบบการเดินรถด่วนพิเศษ (BRT) สายสาทร-ราชพฤกษ์ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) งบประมาณ​ 478,932,000 บาท สัญญาจ้าง 5 ปี โดยมีผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี) ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดที่วงเงิน 465 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบเพิ่มเติมจากระบบเผยแพร่ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร (e-GP BMA) พบว่า ในรายละเอียดของร่างเอกสาร TOR มีการกำหนดรายละเอียดที่เปลี่ยนไปจากการให้บริการแบบเดิม โดยเฉพาะรูปแบบของรถที่จะเปลี่ยนเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้า

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับรถ BRT รูปแบบใหม่ ให้ชัดเจนขึ้น

ปรับรถใหม่ เป็น EV

รายละเอียดในร่าง TOR ระบุว่า ผู้รับจ้างจะต้องจัดหารถโดยสารในการให้บริการเดินรถโดยสารในโครงการให้
เพียงพอต่อปริมาณและความการเดินทาง โดยต้องผลิตขึ้นใหม่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ต้องไม่เป็นรถที่
นำมาดัดแปลง ตัดปะตัวถังในภายหลัง และผลิตขึ้นในประเทศไทย

สำหรับคุณสมบัติหลักของรถโดยสาร BRT รุ่นใหม่ที่กำหนดไว้ มีดังนี้

  1. รถโดยสารปรับอากาศขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ให้เพียงพอกับการให้บริการจำนวนไม่น้อยกว่า 23 คัน
    1. มีระบบการชาร์จ/เครื่องชาร์จไฟที่มีการใช้งานกันแพร่หลาย
    2. แบตเตอรี่มีขนาดความจุไม่น้อยกว่า 150 kWh ชนิด Lithium iron phosphate หรือเทียบเท่าหรือดีกว่า
    3. โครงสร้างตัวถังชุบเคลือบผิวด้วยระบบไฟฟ้า (EDP)
  2. ขนาดความยาวรถโดยสาร 10-12 เมตร รัศมีวงเลี้ยวไม่เกิน 12.5 เมตร
  3. จำนวนที่นั่งผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 24 ที่นั่ง สามารถปรับเปลี่ยนขนาดรถโดยสาร โดยจะต้องคงความสามารถในการให้บริการตามจำนวนคนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง (PPHPD) ได้ตามที่กำหนดไว้
  4. มีพื้นที่รองรับรถเข็นผู้พิการ (Wheel chair)
  5. พื้นที่ทางเข้า-ออก และตัวรถโดยสารเป็นรูปแบบชานต่ำ (Low Floor) (ความสูง 25-30 เซนติเมตร จากระดับพื้นถนน)
  6. มีประตูทางเข้า-ออกทั้งทางด้านฝั่งซ้ายและขวาของตัวรถโดยสาร ประตูทางเข้า-ออกหลักความกว้าง 1.4 เมตร (สามารถปรับลดขนาดได้แต่ไม่น้อยกว่า 1.2 เมตร)
  7. ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยตามมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก และระบบกล้องวงจรปิด CCTV อย่างน้อย 5 ตัว (กล้อง CCTV อย่างน้อย 2 ตัว จับภาพบริเวณเครื่องจัดเก็บค่าโดยสาร)
  8. ติดตั้งระบบ GPS และระบบตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งรถโดยสาร (ส่งสัญญาณข้อมูลทุก ๆ 15 วินาทีหรือน้อยกว่า) พร้อมระบบการทำงานเป็นไปตามประกาศกรมการขนส่งทางบกกำหนด
  9. เป็นไปตามมาตรฐานกันน้ำและฝุ่น IP67 และสามารถเดินรถได้หากมีน้ำท่วมขังที่ระดับความสูงไม่เกิน 30 เซนติเมตร
  10. ป้ายแสดงข้อมูลหมายเลข และเส้นทางเดินรถด้านหน้ารถโดยสาร (ชนิดปรับเปลี่ยนได้)
  11. ระบบปรับอากาศมีขนาด 100,000 – 130,000 BTU

ทั้งนี้ รถ BRT รูปแบบใหม่นั้น ผู้รับจ้างจะต้องเสนอรูปแบบและคุณสมบัติของรถโดยสารให้กรุงเทพมหานครพิจารณาเห็นชอบก่อนเริ่มดำเนินการ

แพลนขยายเส้นทางสู่ “เพลินจิต”

รถโดยสารด่วนพิเศษ BRT มีเส้นทางการให้บริการ 2 เส้นทาง สถานีโดยสารทั้งหมด 14 สถานี (12 สถานีเดิม และ 2 ปัายรถโตยสารใหม่) และจุตรับ-ส่งผู้โดยสารบริเวณป้ายรถโดยสารประจำทาง ตลอดแนวเส้นทางการเตินรถโดยสาร โดยมีรายละเอียดแนวเส้นทางการให้บริการและสถานีโดยสาร ดังนี้

เส้นทางที่ 1 การเดินรถช่วง สถานีสาทร (B1) ถึงสถานีราชพฤกษ์ (B12)

เส้นทางที่ 2 การเดินรถช่วง แยกทางด่วนสาธุประดิษฐ์ ถึง แยกนราธิวาสราชนครินทร์-รัชดาภิเษก ถึงสถานี
สาทร (81) ถึงรถฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินี (เพิ่มเส้นทางไป สถานีนราราม 3 ในชั่วโมงเร่งด่วน)

โดยการเดินรถ BRT เส้นทางที่ 2 มีแผนที่จะขยายการเดินรถ จากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินี ต่อขยายไปทางถนนวิทยุ ถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สุขุมวิท) สถานีเพลินจิต ซึ่งจะขยายการเดินรถในอนาคต

ขณะที่เวลาการให้บริการรถ BRT ยังคงเป็นไปตามเดิม คือ เวลา 06.00-22.00 น. และมีความถี่การให้บริการในช่วงเวลาปกติอยู่ที่ 15 นาที และช่วงเวลาเร่งด่วนอยู่ที่ 10 นาที

นอกจากนี้ รายละเอียด TOR ยังระบุขอบเขตงานที่ผู้ได้รับจ้างเดินรถตามสัญญาใหม่ต้องดำเนินการ เช่น การดูแลรักษาสถานีรถโดยสาร และสถานีชาร์จรถ BRT รุ่นใหม่ การบริหารสถานีและศูนย์ควบคุมการเดินรถ การจัดหาบุคลากร การประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

จ้างเดินรถ BRT รอบใหม่ ระยะเวลากี่เดือน

สำหรับการดำเนินการก่อนให้บริการนั้น กรุงเทพมหานคร กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 64 เดือน โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ

  1. ช่วงเตรียมความพร้อม และจัดหารถยนต์ 4 เตือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา
  2. ช่วงบริหารจัดการเดินรถ 60 เดือน นับถัดจากวันที่มีหนังสือแจ้งให้เริ่มให้บริการเดินรถ

โดยขณะนี้ กทม. อยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารประมูล ก่อนจะมีการลงนามสัญญา และดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไป

ขณะที่สถานีโดยสาร BRT นั้น กทม.จะต้องปรับปรุงสถานีใหม่ โดยทำทางลาดชานชาลาเพื่อรองรับรถโดยสารรุ่นใหม่ ที่ออกแบบเป็นชานต่ำ และเพื่อให้ผู้โดยสารขึ้นลงรถได้สะดวกและปลอดภัย และการปรับเส้นทางสามารถออกไปรับส่งผู้โดยสารที่ป้ายรถประจำทางได้ด้วยนั้น กทม.จะต้องขออนุญาตกรมการขนส่งทางบกในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเส้นทางเดินรถ