BITE SIZE : 1 มีนาคมนี้ ขึ้นค่าทางด่วน ฉลองรัช-บูรพาวิถี ปรับขึ้นเท่าไร ?

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ผู้ใช้งานทางด่วน 2 สาย ฉลองรัช และบูรพาวิถี เตรียมตัวควักกระเป๋าสตางค์เพิ่ม เพราะการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะปรับขึ้นค่าทางด่วนทั้ง 2 สาย หลังเลื่อนการปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษ ออกไป 6 เดือน จากเดิมที่จะขึ้นวันที่ 1 กันยายน 2566

แล้วหน้าตาของค่าทางด่วน ที่เริ่มใช้ในวันดังกล่าวจะเป็นอย่างไร จ่ายแพงขึ้นแค่ไหน

Prachachat BITE SIZE สรุปให้ฟัง

เปิดอัตราใหม่ ค่าทางด่วน 2 สาย

ค่าทางด่วนที่จะมีการปรับขึ้นนี้ กระทบกับผู้ใช้ทางด่วน 2 สาย คือ ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-บางปะกง)

สำหรับทางพิเศษฉลองรัช ค่าทางด่วนเพิ่มขึ้น 5-10 บาท ตามประเภทรถยนต์ 4 ล้อ, 6-10 ล้อ และมากกว่า 10 ล้อ จากเดิม 40, 60, 80 บาท ขึ้นมาเป็น 45, 65, 90 บาท ตามลำดับ

ยกเว้น 2 ด่าน คือ ด่านรามอินทรา 1 และด่านสุขาภิบาล 5-2 ปรับขึ้น 5 บาท เฉพาะรถ 6-10 ล้อ และรถมากกว่า 10 ล้อ จากเดิมอยู่ที่ 30, 40 บาท ขึ้นมาเป็น 35 และ 45 บาท ส่วนรถ 4 ล้อ ยังคงจ่ายอัตราเดิม 20 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนทางพิเศษบูรพาวิถี ปรับขึ้น 5-25 บาท ตามประเภทรถและระยะทาง

  • รถ 4 ล้อ เดิมจ่าย 20-70 บาท ขยับขึ้นมาเป็น 20-80 บาท
  • รถ 6-10 ล้อ เดิมจ่าย 50-145 บาท ขึ้นมาเป็น 55-165 บาท
  • รถมากกว่า 10 ล้อ เดิมจ่าย 75-220 บาท ขึ้นมาเป็น 80-245 บาท

ข้อสำคัญ คือ ทางพิเศษบูรพาวิถี  ค่าผ่านทางคิดตามระยะทางที่ใช้จริง ขึ้น-ลงที่ด่านผ่านทางไหน คิดตามที่ใช้งานจริง ไม่ได้คำนวณเป็นค่าทางด่วนตายตัว เหมือนทางพิเศษสายอื่น ๆ

ทั้งนี้ หากลงจากทางพิเศษบูรพาวิถี ที่ด่านบางนา กม. 6 (ขาเข้า) ช่องทางที่ 4-14 จะต้องชำระค่าผ่านทางพิเศษสำหรับรถ 4 ล้อ/รถ 6-10 ล้อ/รถมากกว่า 10 ล้อ เพิ่มอีก +40/+60/+80 บาท/คัน เพื่อเข้าใช้ทางพิเศษฉลองรัช/ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (กรณีเข้าใช้ทางพิศษเฉลิมมหานคร จะต้องผ่านด่านบางจาก และชำระค่าผ่านทางพิเศษสำหรับรถ 4 ล้อ/รถ 6-10 ล้อ/รถมากกว่า 10 ล้อ อีกเป็นจำนวน 10/15/30 บาท/คัน)

ปรับขึ้นค่าทางด่วน รอบ 5 ปี

การปรับขึ้นค่าทางด่วน เป็นไปตามสัญญาของกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) ที่กำหนดไว้ว่าต้องมีการปรับค่าผ่านทางพิเศษที่อยู่ภายใต้กองทุนนี้ ทั้ง 2 สาย ทุก 5 ปี โดยจะคำนวณจากดัชนีผู้บริโภค ซึ่งช่วงที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นประมาณ 10%

ส่วนขั้นตอนการปรับขึ้น เริ่มพิจารณาปรับอัตราค่าผ่านทางวันที่ 1 มีนาคม และการทางพิเศษฯ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 กันยายน

การปรับขึ้นรอบนี้ ความจริงต้องปรับขึ้นตั้งแต่ 1 กันยายน 2566 แล้ว แต่ได้มีการแตะเบรกขึ้นค่าทางด่วน ให้มีผลใน 6 เดือนข้างหน้าแทน ซึ่งจะครบรอบดังกล่าวในวันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่จะถึงนี้ ส่วนตัวเลขการสูญเสียรายได้ ช่วง 6 เดือนที่เลื่อนขึ้นค่าทางด่วน อยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท

เปิดตัวเลข-รายได้ ทางด่วน 2 สาย

สำหรับตัวเลขผู้ใช้ทางด่วน 2 สาย เฉลี่ยต่อวัน ในปีที่ผ่านมา เริ่มจากทางพิเศษฉลองรัช มีผู้ใช้งานเฉลี่ย 213,054 คัน เพิ่มขึ้นแซงปี 2563 ที่มีอยู่เฉลี่ย 210,718 คัน ส่วนทางพิเศษบูรพาวิถี มีผู้ใช้งานเฉลี่ย 143,309 คัน เพิ่มขึ้นแซงหน้าปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 136,550 คัน

ขณะที่รายได้ค่าทางด่วนที่กองทุนได้รับตามสัญญาฯ ในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 1,977 ล้านบาท แบ่งเป็น ทางพิเศษฉลองรัช 1,148 ล้านบาท และทางพิเศษบูรพาวิถี 829 ล้านบาท

โดยรายได้ดังกล่าว ตามสัญญาระบุให้แบ่งในอัตรา 45% ต่อ 55% เข้ากองทุน ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ 45% และเข้ากระเป๋าการทางพิเศษฯ 55% และมีระยะเวลาของสัญญารวม 30 ปี

ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.43 ได้ที่ https://youtu.be/cCc8ui277f0

เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ