การทางพิเศษฯ ยืนยัน 1 มีนาคมนี้ ขึ้นค่าทางด่วน ฉลองรัช-บูรพาวิถี

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ด่านผ่านทาง

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยืนยันแล้ว 1 มีนาคม 2567 ขึ้นค่าทางด่วน ฉลองรัช-บูรพาวิถี หลังเลื่อนขึ้นค่าผ่านทางครบ 6 เดือนแล้ว ระบุเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญากองทุน TFFIF ที่ต้องปรับขึ้นทุก 5 ปี

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 จากกรณีผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะมีการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษ 2 สายทาง คือ ทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี หลังเลื่อนการปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษ ออกไป 6 เดือน จากเดิมที่จะขึ้นวันที่ 1 กันยายน 2566 และจะครบกำหนดในวันที่ 1 มีนาคมที่จะถึงนี้นั้น

ล่าสุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยืนยันแล้วว่า จะปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี ตามเงื่อนไขสัญญากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย TFFIF ที่จะปรับขึ้น ทุก 5 ปี โดยจะปรับอัตราค่าผ่านทางในวันที่ 1 มีนาคม 2567 หลังจากที่ชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญา มาตั้งแต่ 1 กันยายน 2566 เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ทางพิเศษและประชาชน

ทั้งนี้ ทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี มิได้มีการปรับขึ้นค่าผ่านทางมากว่า 6 ปี และการปรับขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าว คิดคำนวณตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) ที่จะปรับขึ้นประมาณ 10% หรือประมาณ 5 บาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

อัตราค่าผ่านทางพิเศษฉลองรัช

ทุกด่านผ่านทาง (ยกเว้นด่านรามอินทรา 1 และด่านสุขาภิบาล 5-2)

  • รถ 4 ล้อ 45 บาท (เดิม 40 บาท)
  • รถ 6-10 ล้อ 65 บาท (เดิม 60 บาท)
  • รถมากกว่า 10 ล้อ 90 บาท (เดิม 80 บาท)

เฉพาะด่านรามอินทรา 1 และด่านสุขาภิบาล 5-2

  • รถ 4 ล้อ 20 บาท (คิดอัตราเดิม ไม่มีการปรับขึ้น)
  • รถ 6-10 ล้อ 35 บาท (เดิม 30 บาท)
  • รถมากกว่า 10 ล้อ 45 บาท (เดิม 40 บาท)

อัตราค่าผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี

รถ 4 ล้อ กรณีเดินทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะใช้อัตราค่าผ่านทางเดิม แต่กรณีเดินทางเกิน 20 กิโลเมตร จะปรับอัตราค่าผ่านทางต่ำสุด 5 บาท สูงสุดไม่เกิน 10 บาท โดยคิดตามระยะทาง

  • อัตราเดิมเริ่มต้น 20-70 บาท
  • อัตราใหม่เริ่มต้น 20-80 บาท

รถ 6-10 ล้อ กรณีเดินทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะปรับขึ้น 5 บาท แต่กรณีเดินทางเกิน 20 กิโลเมตร จะปรับอัตราค่าผ่านทางต่ำสุด 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยคิดตามระยะทาง

  • อัตราเดิมเริ่มต้น 50-145 บาท
  • อัตราใหม่เริ่มต้น 55-165 บาท

รถมากกว่า 10 ล้อ กรณีเดินทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะปรับขึ้น 5 บาท แต่กรณีเดินทางเกิน 20 กิโลเมตร จะปรับอัตราค่าผ่านทางต่ำสุด 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 25 บาท โดยคิดตามระยะทาง

  • อัตราเดิมเริ่มต้น 75-220 บาท
  • อัตราใหม่เริ่มต้น 80-245 บาท

ทั้งนี้ หากลงจากทางพิเศษบูรพาวิถี ที่ด่านบางนา กม. 6 (ขาเข้า) ช่องทางที่ 4-14 จะต้องชำระค่าผ่านทางพิเศษสำหรับรถ 4 ล้อ/รถ 6-10 ล้อ/รถมากกว่า 10 ล้อ เพิ่มอีก +40/+60/+80 บาท/คัน เพื่อเข้าใช้ทางพิเศษฉลองรัช/ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (กรณีเข้าใช้ทางพิศษเฉลิมมหานคร จะต้องผ่านด่านบางจาก และชำระค่าผ่านทางพิเศษสำหรับรถ 4 ล้อ/รถ 6-10 ล้อ/รถมากกว่า 10 ล้อ อีกเป็นจำนวน 10/15/30 บาท/คัน)

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระบุเพิ่มเติมว่า กทพ. ได้พยายามชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทางของทางพิเศษทั้ง 2 สายดังกล่าว มาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะทางพิเศษฉลองรัช ที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าผ่านทางมาเป็นระยะเวลา 15 ปีแล้ว แม้ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ การบำรุงรักษาทางพิเศษเพื่อให้อยู่ในสภาพที่ดีจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีก็ตาม ซึ่ง กทพ. ขอขอบพระคุณประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษ ที่ให้การสนับสนุน กทพ. ด้วยดีมาโดยตลอด

ภาพจากรายการ Prachachat BITE SIZE
ภาพจากรายการ Prachachat BITE SIZE
ภาพจากรายการ Prachachat BITE SIZE

ย้อนเรื่องราว ปรับขึ้นค่าทางด่วน รอบล่าสุด

การปรับค่าผ่านทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถีนั้น เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย TFFIF โดยเริ่มพิจารณาปรับอัตราค่าผ่านทางวันที่ 1 มีนาคม 2566 และ กทพ.จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 กันยายน 2566

แต่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในขณะนั้น ได้ลงนามเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงคมนาคม

ที่กำหนดให้ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ชะลอการปรับค่าผ่านทางออกไปอีก 6 เดือน หรือไปมีผลวันที่ 1 มีนาคม 2567 เพื่อลดภาระใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการทางด้านขนส่ง

ขณะที่การชะลอหรือการปรับขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าว เป็นไปตามสัญญาโอนและรับโอนสิทธิในรายได้ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการทางพิเศษฉลองรัช และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี (Revenue Transfer Agreement : RTA) กับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย TFFIF

ในข้อ 4.4 การปรับค่าผ่านทาง ที่ระบุว่า เมื่อมีการพิจารณาตามข้อ 5.4 (1) แล้วปรากฏว่าจะต้องปรับค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น ทาง กทพ.จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการที่ระบุไว้ในกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น เพื่อให้มีผลบังคับภายในวันที่ 1 กันยายน ของปีเดียวกับที่ได้มีการพิจารณา

ทั้งนี้ สัญญาของกองทุนฯ ระบุเรื่องการแบ่งรายได้ค่าผ่านทางไว้ว่า แบ่งรายได้ในสัดส่วน 45% ต่อ 55% โดยเป็นของกองทุน ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ 45% และเป็นของการทางพิเศษฯ 55% โดยมีระยะเวลาของสัญญารวม 30 ปี