กทม.เตรียมขยาย BRT ถึงแยกวิทยุ จัดเลนพิเศษช่วงเร่งด่วน เริ่ม 1 ก.ย.นี้

BRT รถ BRT

กรุงเทพมหานคร เตรียมขยายเส้นทาง รถ BRT ถึงแยกวิทยุ พร้อมจัดเลนวิ่งเฉพาะสำหรับชั่วโมงเร่งด่วน เริ่ม 1 กันยายนนี้

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 มติชน รายงานว่า นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงแผนการขยายเส้นทางให้บริการรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) ว่า ที่ผ่านมาได้ว่าจ้างที่ปรึกษามาทบทวนโครงการ BRT โดยช่วงแรกมีคนใช้โดยเฉลี่ยประมาณ 8,000 คนต่อวัน หลังจากนั้นช่วงเลิกเก็บค่าโดยสารขยับขึ้นมาประมาณ 10,000 คนต่อวัน

ผู้ว่าฯ กทม.จึงให้โจทย์ว่าจะเพิ่มจำนวนคนมาใช้ BRT มากขึ้นได้อย่างไร ที่ปรึกษาโครงการจึงเสนอว่า ถ้าขยายเส้นทางเดินรถให้บริการคนไปถนนสาทรต่อถึงถนนพระรามที่ 4 ที่แยกวิทยุ เนื่องจากมีสำนักงานเยอะ คาดว่าคนจะใช้บริการเยอะขึ้น

นายวิศณุ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามมีข้อจำกัดว่าเส้นทางถนนสาทรนั้น ไม่มีช่องทางเดินรถเฉพาะเหมือนเส้นทางเดิม และรถ BRT เดิมประตูเปิดฝั่งขวา แต่ถ้าจะนำเอารถ BRT เดิมไปให้บริการในช่องทางปกติ และใช้ป้ายรถเมล์ร่วมกับรถประจำทาง ต้องใช้ประตูฝั่งซ้าย ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ในการเปิดประมูลใหม่ รถจะต้องเปิดได้ 2 ประตูทั้งด้านซ้ายและด้านขวา

“อุปสรรคสำคัญคือการจราจรติดขัด โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน หากใช้เลนร่วมกับรถปกติ รถ BRT ก็จะทำรอบเวลาไม่ได้ ส่งผลให้รถหมุนเวียนให้บริการไม่ได้ จึงมีแนวคิดทำ Bus Lane ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน โดยจะให้รถเมล์ที่มีอยู่ 12 สาย รวมถึงอนุญาตให้รถมอเตอร์ไซต์สามารถวิ่งใน Bus Lane ได้ด้วย” นายวิศณุกล่าว

รออนุมัติ พร้อมให้บริการ 1 กันยายนนี้

นายวิศณุ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเรื่องไปยังกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในการอนุมัติเส้นทางเดินรถในถนนสาทร เพราะเป็นเส้นทางที่มีการเก็บค่าโดยสาร และอยู่ระหว่างขออนุญาตทำ Bus Lane จากกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) หากผ่านการพิจารณาก็เริ่มให้บริการได้ 1 กันยายนนี้ โดยนำรถ BRT คันใหม่จำนวน 23 คัน มาให้ได้บริการเลย

ส่วนการเก็บค่าโดยสารนั้นปัจจุบันยังคงให้บริการฟรี ทั้งนี้อยู่ระหว่างจัดหาผู้ประกอบการทำระบบจัดเก็บค่าโดยสารใหม่แทนของเดิมที่มีค่าบริหารจัดการค่อนข้างสูง โดยเสนอให้เป็นส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารแทน

นายวิศณุ กล่าวอีกว่า ส่วนการขยายเส้นทางเดินรถไปถึง MRT สถานีท่าพระนั้น จากผลการศึกษาเส้นทางของที่ปรึกษาโครงการพบว่า ยังมีผู้ใช้บริการน้อย และหากเดินรถไปจะส่งผลให้มีรถหมุนเวียนกลับมาให้บริการได้ช้าลงกว่าเดิมเพราะเจออุปสรรคการจราจรติดขัด

ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญของ BRT คือความถี่ของการให้บริการ ถ้าใช้เวลารอนานประชาชนจะไม่เลือกใช้ ดังนั้นต้องให้การเดินรถมีความถี่เหมาะสมกับความต้องการด้วย