ผอ.เขื่อนศรีนครินทร์ยันยังรองรับน้ำได้อีก ส่วนเขื่อนวชิราลงกรณเร่งระบายน้ำ 3-5 ส.ค.

วันที่ 3 สิงหาคม นายประเสริฐ อินทับ ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 173.89 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นปริมาณน้ำ 15,296.48 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 86.20% ซึ่งถ้านำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำเมื่อปีที่ผ่านมา คือ วันที่ 3 สิงหาคม 2560 อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์มีข้อมูลระดับน้ำอยู่ที่ระดับ 167.92 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นปริมาณน้ำ 13,122.56 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 73.93% ถือได้ว่าปริมาณน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ในปีนี้ได้เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว 12.27%

โดยวานนี้ (2 ส.ค.61) มีน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์เพิ่มขึ้น 52.81 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์ที่สามารถใช้ได้มีจำนวน 5,031.48 ล้านลูกบาศก์เมตร และได้ระบายน้ำออกตามแผนการระบายน้ำโครงการชลประทานวันละ 12.09 ล้านลูกบาศก์เมตร และตอนนี้ยังสามารถรับน้ำได้อีก 2,448.52 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 13.80% จึงทำให้มั่นใจได้ว่าอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ยังคงสามารถรองรับน้ำฝนได้อีก โดยไม่เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยของตัวเขื่อน รวมไปถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนชนท้ายน้ำอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เขื่อนศรีนครินทร์ได้มีการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานสากล โดยจะมีหน่วยงานด้านตรวจสอบและบำรุงรักษาเขื่อน ทำการตรวจสอบเขื่อน เป็นประจำทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุก 3 เดือน ด้วยเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน ที่ติดตั้งไว้กับตัวเขื่อนตั้งแต่การก่อสร้างเขื่อน และทุกๆ 2 ปี จะมีการตรวจสอบประเมินความปลอดภัยเขื่อน ตามมาตรฐานเขื่อนใหญ่โลก (ICOLD)

โดยคณะกรรมการตรวจประเมินความปลอดภัยของเขื่อน หรือเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติ เช่น ฝนตกหนักต่อเนื่อง เกิน 48 ชม. ในขณะที่ปริมาตรกักเก็บมากกว่า 95 % ของความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับกักเก็บปกติ หรือมีแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางใกล้เคียงกับพื้นที่ กฟผ. ก็จะมีการตรวจสอบเขื่อนในกรณีพิเศษ โดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบเขื่อนกรณีพิเศษ จากฝ่ายบำรุงรักษาโยธา เพื่อรายงานและวิเคราะห์ผลที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น

แต่เนื่องจากสถานการณ์น้ำในช่วงนี้ที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงได้เพิ่มการตรวจสอบเขื่อนให้มีความถี่มากขึ้นกว่าเดิม เช่น การตรวจอัตราการซึมของน้ำผ่านตัวเขื่อน การตรวจวัดระดับน้ำในหลุมวัดน้ำ

เดิมตรวจสอบสัปดาห์ละครั้ง เป็นตรวจสอบทุกวัน ส่วนการตรวจสอบ การทรุดตัวและเคลื่อนตัวของเขื่อน จากเดิมไตรมาสละครั้ง เป็นเดือนละครั้ง จึงขอให้ประชาชนมีความมั่นใจ ในความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนศรีนครินทร์

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย หรือได้รับข่าวต่างๆ ที่ผิดปกติ โปรดสอบถามข้อเท็จจริงโดยตรง ที่ กฟผ.เขื่อนศรีนครินทร์ โทรศัพท์ 0-3457-4001 ต่อ 2110, 2010 และติดตามเหตุการณ์ทางกล้อง CCTV ตลอด 24 ชั่วโมงที่ http://www.snr.egat.com หรือ Application EGAT Water
DCIM100MEDIADJI_0044.JPG

ด้าน นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งมีความจุอ่าง 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับ 155 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (โดยข้อมูล ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2561 เวลา 07.00 น. มีปริมาณน้ำในเขื่อน 7,361 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 83% โดย กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณ มีแผนการระบายน้ำ วันที่ 3-5 สิงหาคม 2561 ระบายน้ำเฉลี่ย 36 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

สาเหตุที่ต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ เนื่องจากมีปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนมาก จึงจำเป็นต้องระบายน้ำ เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำเพียงพอ ซึ่งอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณยังสามารถรับน้ำได้อีก 1,499 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางเขื่อนวชิราลงกรณรับทราบปัญหาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการทางด้านท้ายน้ำ และได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจาก ณ เวลานี้มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างมากกว่าวันละ 100 ล้าน ลบ.ม. อย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำในอ่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ และถ้าปริมาณน้ำฝนที่ไหลเข้าอ่างลดลงก็จะทำการลดการระบายน้ำลงเท่าที่จะทำได้

ทั้งนี้ กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณ มีการรายงานแผนการระบายน้ำ ให้หน่วยงานราชการในจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรี ทราบเป็นประจำทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ หากประชาชนมีข้อสงสัย หรือได้รับข่าวลื่อต่างๆ ที่มีความผิดปกติ สามารถสอบถามข้อเท็จจริงโดยตรง ที่ กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณ หมายเลข 0-2436-8739 หรือ 0-3459-9077 ต่อ 3110, 3111 และติดตามเหตุการณ์ทางกล้อง CCTV ตลอด 24 ชั่วโมงที่ http://www.vrk.egat.com หรือ Application EGAT Water

ด้านความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน เขื่อนวชิราลงกรณมีการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานสากลโดยมีหน่วยงานด้านบำรุงรักษาเขื่อนฯ ทำการตรวจสอบเขื่อน เป็นประจำทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกปี และโดยคณะกรรมการตรวจประเมินความปลอดภัยเขื่อนฯ ทุกๆ 2 ปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบกับตัวเขื่อน

เช่น ฝนตกหนัก ระดับน้ำในเขื่อนมากกว่า 80% หรือมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ก็จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเขื่อนด้วยเครื่องมือวัดที่ติดตั้งไว้ภายในตัวเขื่อนและบริเวณใกล้เคียงทันที เพื่อรายงานและวิเคราะห์ผลทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น จึงขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์