คพ.ชี้ “ฝุ่นพิษ” เมืองกรุงยังไม่วิกฤตเท่าปี’61 เชื่อเอาอยู่ พร้อมรับฟังข้อมูลกรีนพีซ แต่ยึดตามอนามัยโลก

เมื่อวันที่ 14 มกราคม นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองที่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะนี้ว่า เชื่อว่าสถานการณ์ฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในปีนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต และสามารถรับมือได้ ดังนั้น ประชาชนอย่าเพิ่งตระหนกจนเกินไป

“เชื่อว่าเราเอาอยู่ ขอให้ประชาชนมีความตระหนักแต่อย่าตระหนก เพราะสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงเท่ากับปี 2561 ซึ่งค่าสูงสุดเคยไปแตะที่ 120-130 ไมโครกรัม (มคก.)ต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ประมาณ 1-2 วัน ส่วนปีนี้ตรวจพบค่าอยู่ระหว่าง 70-100 มคก./ลบ.ม. เศษเท่านั้น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้เตรียมความพร้อมในการรับมือไว้แล้ว คาดว่าสถานการณ์ยังต้องเฝ้าระวังในช่วง 1-2 สัปดาห์จากนี้” นายประลองกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย) ระบุว่าไทยเป็นประเทศที่เกิดปัญหามลพิษเป็นอันดับ 9 ของโลก ว่า คงเป็นข้อมูลจากภาคประชาชน ซึ่งคิดว่าเป็นข้อมูลที่ดี และพร้อมเปิดใจรับฟังทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ระบุว่า PM 2.5 มีแหล่งกำเนิดจากพื้นที่อีอีซีนั้น ขอชี้แจงว่าในพื้นที่ จ.ระยอง นั้น พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กต่ำมาก เช่นเดียวกับที่ระบุว่า มลพิษนี้ลอยข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศไทยมีสถานีตรวจวัดที่ จ.สระแก้ว ก็พบว่าค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ต่ำมากเช่นกัน ส่วนที่เป็นปัญหาจะเป็นฝุ่นขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ PM 10 จากโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า นอกจากนั้น ตัวชี้วัดของภาคประชาชนจะเน้นดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ณ ขณะตรวจวัดหรือเป็นรายชั่วโมง ทำให้พบค่าที่สูงมาก แต่ของ คพ. ยึดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

นายประลอง กล่าวอีกว่า ในส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ค่า PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานนั้น จากผลการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) พบว่า ร้อยละ 50-60 เกิดจากควันดำ รถยนต์ดีเซลที่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ร้อยละ 35 เกิดจาการเผาในภาคเกษตร และร้อยละ 5 เกิดจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล จำนวน 2.5 ล้านคัน และรถยนต์ทั่วไป จำนวน 9.8 ล้านคัน ซึ่งมาตรการในการดำเนินการนั้น หากพบรถควันดำจะจับปรับทันที ส่วนจะมีการจำกัดรถยนต์ที่เข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในหรือไม่ เป็นเรื่องของกรมการขนส่งทางบก และกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) จะพิจารณาร่วมกัน โดยต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก โดยในวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการประชุมกันที่ศาลาว่าการ กทม.

 

ที่มา : มติชนออนไลน์