“ค่าไฟแพง” เหตุเครื่องฟอกอากาศ-แอร์ ตู้เย็น พัดลมไอน้ำ “คนไฟฟ้า” กาง 4 สูตรคำนวณ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 หลังจากที่ผู้ใช้ไฟฟ้า ได้รับบิลค่าไฟ และพบว่าค่าไฟหลายบ้านพักอาศัยมีอัตราสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ และมีการโพสต์ในสังคมโซเชียล ทั้งทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก

จนกระทั่ง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เตรียมเรียกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือในวันที่ 20 เมษายน 2563

ก่อนที่ผลการหารือจะออกมาชี้แจง และมีมาตรการที่ชัดเจน มีเพจเฟซบุ๊ก ของผู้ที่ใช้ชื่อว่า “โธ่ ชีวิตพนักงานไฟฟ้า” มาตอบคำถาม และอธิบายตัวอย่าง 4 สูตรการคำนวณค่าไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ทำให้ค่าไฟพุ่งขึ้น ดังนี้

1. การไฟฟ้า คิดเงินแบบอัตราก้าวหน้ามาตลอด ใช้เยอะจ่ายเยอะ ประโยคนี้คือ ความจริง (จะอ้างไม่รู้ไม่ได้นะคะ หรือจะบอกว่าสุดท้ายไฟฟ้าก็เอาเปรียบอยู่ดีไม่ได้ ไฟฟ้าไม่ได้ไปใช้ไฟกับคุณ)

2. ตัวแปรของค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น คือ หน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น พูดง่าย ๆ ก็ คือ คุณใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเลยทำให้ราคามันก้าวกระโดด

3. หลายคนคงสงสัย ทำไมหน่วยการใช้ไฟฟ้าถึงขึ้นได้มากขนาดนี้ ? ไฟฟ้ามาทำอะไรกับมิเตอร์รึเปล่า ?

คำตอบ คือ ไฟฟ้าไม่มีใครไปทำอะไรกับมิเตอร์ลูกค้าหรอกค่ะ เอาจริง ๆ นะ พนักงานแผนกมิเตอร์จำนวน 7 คน ต่อผู้ใช้ไฟฟ้าหลักแสนราย

ทีนี้เราต้องมาดูพฤติกรรมของตัวเองและคนในบ้าน ที่บอกว่าฉันใช้ไฟเท่าเดิม ลองคิดนะ

เปิดแอร์ เวลาเดิมทุกวัน 8.00 – 12.00 น. คุณเย็นเท่าเดิมจริง แต่ตัวที่ทำให้มิเตอร์ขึ้นหน่วยไวแค่ไหน อยู่ที่คอมเพรสเซอร์ข้างนอก ถ้าอากาศข้างนอกร้อนแค่ไหน หน่วยการใช้ไฟก็ขึ้นไวเท่านั้น เพราะคอมเพรสเซอร์คุณทำงานหนัก ยิ่งถ้าเปิดแอร์พร้อมกันนะ เสียงคอมฯดังนานแค่ไหนนั่นแหละคือ ทำใจไว้เลย มิเตอร์กำลังหมุนอย่างแรง และนั่นคือ เงินที่คุณต้องจ่ายไป

เครื่องฟอกอากาศอีก แทบทุกยี่ห้อกินไฟ ลองดูนะที่บอกประหยัดไฟคือไม่ประหยัดเลย ยิ่งเปิดพร้อมแอร์ คูณกำลัง 2 ไปเลย

ตู้เย็น เห็นตั้งนิ่ง ๆ แบบนั้น กินไฟเราแบบเงียบ ๆ นะคะ หน้าที่ของตู้เย็นคือต้องทำความเย็นในช่องแช่อาหาร ตามอุณหภูมิที่เรากำหนด เช่น เราตั้งไว้ที่ 1 องศา หลักการทำงานของมันคือ ต้องทำยังไงก็ได้ให้ 1 องศาตลอดเวลา นั่นก็ คอมเพรสเซอร์หลังตู้เย็นไงที่เป็นตัวทำงาน

– เปิดตู้เย็นบ่อย ๆ เปลืองไฟจริง เพราะตู้เย็นสูญเสียอุณหภูมิตอนเปิด

– แช่ของแบบไม่คิด ยัด ๆ เข้าไปก็เปลืองไฟจริง ต้องจัดระเบียบตู้เย็นกันบ้าง

บ้านที่มีปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าส่วนมาก จะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าดังนี้

1. แอร์ พร้อม คอมเพรสเซอร์
2. เครื่องฟอกอากาศ
3. พัดลมไอน้ำ
4. ตู้เย็น ยิ่งอัดของเยอะ คอมเพรสเซอร์ตู้เย็นที่ดังตลอดเวลานั่นแหละคือ กำลังกินไฟคุณ

ตู้เย็นที่ประหยัดไฟคือตู้เย็นที่แช่แค่เครื่องดื่มไม่เกิน 5 ขวดเท่านั้น ถึงจะได้จ่ายราคาต่อปีตามที่ร้านโฆษณา

สรุปคือ ไฟฟ้าไม่ได้ปรับ หรือ ทำอะไรทั้งนั้น ไม่ได้คิดจะทำอะไรด้วย ไม่ฉวยโอกาสอะไรทั้งนั้น ไฟฟ้าการรันตีราคาให้แบบนี้

– ใช้ไปหน่วยที่ 0- 150 หน่วย จ่ายราคาหน่วยละ 3.2484 บาท
– ใช้ไปหน่วยที่ 151 – 400 หน่วย จ่ายราคาหน่วยละ 4.2218 บาท
– ใช้ไปหน่วยที่ 400 ขึ้นไป จ่ายราคาหน่วยนะ 4.4217 บาท

ยกตัวอย่างการคิดแบบคร่าว ๆ

ตัวอย่างที่ 1
ใช้ไฟฟ้าไป 200 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้
150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท
50 หน่วยที่เหลือ × 4.2218 = 211.09 บาท
รวมเป็นเงิน = 698.35 บาท
(ราคายังไม่รวม vat 7 %, ค่าบริการ, หักส่วนลดค่า FT)

ตัวอย่างที่ 2
ใช้ไฟฟ้าไป 400 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้
150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท
250 หน่วยที่เหลือ × 4.2218 = 1,055.45 บาท
รวมเป็นเงิน = 1,542.41 บาท
(ราคายังไม่รวม vat 7 %, ค่าบริการ, หักส่วนลดค่า FT)

ตัวอย่างที่ 3
ใช้ไฟฟ้าไป 600 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้
150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท
250 หน่วยถัดมา × 4.2218 = 1,055.45 บาท
200 หน่วยที่เหลือ × 4.4217 = 884.34 บาท
รวมเป็นเงิน = 2,427.05 บาท
(ราคายังไม่รวม vat 7 %, ค่าบริการ, หักส่วนลดค่า FT)

ตัวอย่างที่ 4
ใช้ไฟฟ้าไป 1,000 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้
150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท
250 หน่วยถัดมา × 4.2218 = 1,055.45 บาท
600 หน่วยที่เหลือ × 4.4217 = 2,653.02 บาท
รวมเป็นเงิน = 4,195.73 บาท
(ราคายังไม่รวม vat 7 %, ค่าบริการ, หักส่วนลดค่า FT)