
ผบช.น.เตรียมเชิญ ‘เฌอเอม’ ให้ปากคำ เพื่อเป็นประโยชน์ทางคดี หลังโพสต์โดนแก๊สน้ำตา ยันตำรวจไม่ได้ใช้ แจงเหตุการณ์ชุมนุม 13 ก.พ. 2564
วันที่ 14 ก.พ. 2564 ข่าวสดรายงานว่า ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. แถลงสรุปสถานการณ์ชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และหน้าศาลฎีกา สนามหลวง เมื่อเวลา 15.00-21.30 น. วันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 มีการชุมนุมทำกิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะเริ่มทำกิจกรรมตำรวจได้ตั้งจุดคัดกรองพื้นที่โดยรอบ เพื่อตรวจค้นอาวุธสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ชุมนุม พร้อมมีการประกาศแจ้งเตือนเป็นระยะ ๆ ว่าการชุมนุมในช่วงเวลานี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เบื้องต้นประกาศให้ทราบว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 1,000 คน ได้ทำกิจกรรมต่อเนื่องและปิดเส้นทางจราจร ทำให้ไม่สามารถสัญจรได้
โดยดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องมาถึงเวลา 18.00 น. หลังเคารพธงชาติเสร็จกลุ่มผู้ชุมนุมได้ชักชวนกันไปทำกิจกรรมที่ศาลหลักเมือง ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีสถานที่สำคัญอีกหลายสถานที่ เช่น วัดพระแก้ว ศาลหลักเมือง ฯลฯ ตำรวจจึงจำเป็นต้องตั้งแนว เพื่อกำหนดอาณาเขตให้ทราบ เมื่อผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงบริเวณดังกล่าวก็มีกลุ่มบุคคลที่อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมได้ขว้างปาสิ่งของ ทั้งก้อนหิน ขวดน้ำ วัตถุที่ก่อให้เกิดระเบิดแรงดันต่ำ ฯลฯ ทำให้ตำรวจบาดเจ็บทั้งสิ้น 23 นาย
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า ต่อมาหลังผู้ชุมนุมบางส่วนประกาศให้ยุติชุมนุม ได้มีกลุ่มบุคคลชุมนุมต่อและก่อความวุ่นวาย ขว้างปาสิ่งของ ทั้งหิน ขวด วัตถุระเบิด ใส่ตำรวจ ตำรวจได้แจ้งเตือนให้แยกย้ายกันกลับบ้าน เพราะมีความจำเป็นต้องเปิดเส้นทางการจราจร และรักษาความสงบเรียบร้อยให้เข้าสู่ภาวะปกติ
กลุ่มผู้ก่อเหตุวุ่นวายยังคงชุมนุมต่อจนครบเวลา 30 นาที ตำรวจจึงต้องใช้กำลังในการผลักดันผู้ชุมนุมออกเพื่อรักษาความสงบและเปิดเส้นทางการจราจร ทั้งนี้ตำรวจยืนยันว่าไม่ได้ใช้น้ำฉีด ไม่ได้ใช้แก๊ส และไม่ได้ใช้กระสุนยาง
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวอีกว่า หลังการชุมนุมสามารถควบคุมตัวบุคคลได้ 11 ราย มี 3 ราย เมาสุรา จึงเปรียบเทียบปรับและปล่อยตัวไป ส่วนอีก 8 ราย ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน, และร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน ในจำนวน 8 คนนี้ยังมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ยังถูกควบคุมตัวอยู่ ตชด.ภาค1
สำหรับการทำกิจกรรมรื้อกระถางต้นไม้ ถือว่าผิด พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อพิสูจน์ทราบตัวบุคคลใครได้ก็ดำเนินคดี ส่วนเหตุการณ์หลังจากนั้นหากมีพยานหลักฐานพิสูจน์ทราบได้ว่าร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน ก็ต้องแจ้งข้อหาเช่นกัน
ส่วนกรณีเหตุการณ์กลุ่มการ์ดราษฎรถูกยิงได้รับบาดเจ็บ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า ได้รับรายงานเมื่อ 21.00 น.เศษ ตำรวจ สน.นางเลิ้ง รับแจ้งว่ามีเหตุเหตุยิงกันบริเวณร้านสะดวกซื้อ สะพานผ่านฟ้า เมื่อตำรวจเดินทางไปถึง พบกลุ่มการ์ดแจ้งว่าคนยิงอยู่ในร้านดังกล่าว ตำรวจจึงได้นำตัวไป สน.นางเลิ้ง แต่จากการตรวจสอบพยานบุคคลในที่เกิดเหตุ กล้องวงจรปิด และพยานหลักฐานอื่น ยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยิงปืน ซึ่งตำรวจอยู่ระหว่างพิสูจน์ทราบตัวคนยิงต่อไป
ทั้งนี้เมื่อตำรวจนำบุคคลดังกล่าวมาที่ สน.นางเลิ้ง ทางกลุ่มการ์ดได้เข้ามาล้อมโรงพัก และพยายามจะชิงตัวบุคคลดังกล่าวไป ตำรวจเกรงว่าจะเกิดอันตราย จึงมีความจำเป็นต้องยิงปืนขึ้นฟ้า ส่วนกรณีมีการแชร์ภาพชายสวมเสื้อขาวถือปืนยาวในรั้วโรงพัก ก็เป็นตำรวจฝ่ายสืบสวน ทำในลักษณะยิงปืนขึ้นฟ้าเช่นกัน
เมื่อถามว่าในโซเชียลมีเดียมีผุดแฮทแท็ก ”ตำรวจกระทืบหมอ” ตำรวจจะชี้แจงอย่างไร พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า บุคคลดังกล่าวไม่ได้มีอาชีพพยาบาล และยังอยู่ในกลุ่มที่ก่อความวุ่นวาย ตำรวจเลือกที่จะไม่ใช้น้ำ แก๊ส กระสุนยาง และมีการประกาศแจ้งเตือนให้ระยะเวลาออกนอกพื้นที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นก็มีความจำเป็นต้องเข้ารักษาความสงบ
เมื่อถามว่าทางกลุ่มยืนยันบุคคลดังกล่าวเป็นพยาบาลอาสา รวมทั้งสวมเสื้อกั๊กบอกสัญลักษณ์ทีมแพทย์อาสา พล.ต.ท.ภัคพงศ์ ชี้แจงว่า ตนไม่ได้บอกว่าเขาไม่ได้ทำหน้าที่พยาบาล ตนบอกว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้นเขาไม่ได้มีอาชีพเป็นพยาบาล ส่วนในการชุมนุมเขาอาจจะทำหน้าที่พยาบาลของกลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้ อันนี้ตนไม่ทราบ แต่บริเวณที่เขาอยู่ใกล้เคียง มีกลุ่มบุคคลที่ขว้างปาสิ่งของ และใช้อาวุธทำร้ายตำรวจ
ซึ่งเหตุตรงนั้นตำรวจได้มีการประกาศแจ้งเตือนหลายครั้งให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ชุมนุม เนื่องจากมีแกนนำบางส่วนได้ประกาศยุติการชุมนุมไปแล้ว ซึ่งได้เลยเวลาและเป็นกลุ่มที่สร้างความวุ่นวาย ทางตำรวจได้ประกาศแจ้งเตือนขอร้องให้ออกจากพื้นที่ เพราะตำรวจมีความจำเป็นต้องเปิดเส้นทางการจราจร แต่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมยังคงขว้างปาทำร้ายเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็นต้องตั้งแนวและผลักดันคนออกไป
ถามต่อว่ากรณีที่ เฌอเอม ชญาธนุส ศรทัตต์ อดีตผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ โพสต์ทวิตเตอร์ว่าถูกแก๊สน้ำตา ตำรวจได้ตรวจสอบหรือไม่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า ยืนยันขณะนั้นตำรวจไม่ได้ใช้แก๊สน้ำตา เพราะก่อนจะใช้เราต้องแจ้งเตือน แม้สถานการณ์จะอยู่ในลักษณะที่พร้อมใช้แก๊สน้ำตาก็ตาม ซึ่งอาจต้องเชิญเฌอเอมมาให้ปากคำ เพื่อเป็นประโยชน์ทางคดี ว่าเขาเห็นใครใช้ หรือว่าใครมีข้อมูลหลักฐานสามารถส่งมาให้ตำรวจได้
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ทางกลุ่มราษฎรนัดชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 20 ก.พ.นั้น ตอนนี้เราอยู่ภายใต้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จริง ๆ ไม่อยากให้ชุมนุม แต่เมื่อชุมนุมแล้วต้องไม่มีลักษณะแพร่เชื้อโควิด-19 และให้ความร่วมมือกับตำรวจในการตั้งจุดคัดกรอง เพื่อป้องกันเหตุความรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจพยายามตั้งจุดคัดกรองทำเพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม แต่บางส่วนให้ความร่วมมือ หลายคนหลีกเลี่ยง ทำให้เล็ดลอดไปได้ พร้อมยังฝากถึงผู้ชุมนุมด้วยว่า กรณีมาร่วมชุมนุม เมื่อมีเหตุวุ่นวายแล้วตำรวจแจ้งเตือนควรออกจากพื้นที่ ตำรวจจะได้ดำเนินการรักษาความสงบตามขั้นตอนได้
“ในหลาย ๆ ครั้งของการชุมนุม มีกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนเดียวเท่านั้นเองที่ก่อความรุนแรง กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศแจ้งเตือนก็อยากจะขอให้แยก ตำรวจจะได้ปฎิบัติหน้าที่โดยไม่กระทบกับบุคคลอื่น กรณีที่มีการประกาศขอให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากพื้นที่การชุมนุม ทางตำรวจจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนได้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น อย่างที่ทราบเจ้าหน้าที่มีการควบคุมตัวไปจำนวน 11 คน ไม่ใช่จะมีการดำเนินคดีทั้งหมดได้มีการตรวจสอบเบื้องต้น รวมถึงตรวจสอบกล้องวงจรปิด สอบพยานบุคคลในที่เกิดเหตุ ว่าแต่ละคนทำอะไรบ้าง
ซึ่งพบว่า 3 คน ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมและไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ก่อเหตุความวุ่นวายในบริเวณดังกล่าว แต่พบว่าหลังเจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้ออกจากบริเวณแล้วยังเมาอยู่ในบริเวณดังกล่าว ก็ดำเนินคดีเฉพาะการเมาสุรา หลังจากนี้จะมีการดำเนินคดีบุคคลอื่นเพิ่มเติมอีก
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ออกปฏิบัติหน้าที่ จะต้องอดทนอดกลั้น ที่ผ่านมาตำรวจได้รับบาดเจ็บมาโดยตลอด จึงต้องมีการย้ำเตือนอยู่หลายครั้งว่าเจ้าหน้าที่ต้องการรักษาความสงบ ในกรณีที่มีความจำเป็นมีเหตุการณ์รุนแรงก็อยากให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกนอกพื้นที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปดำเนินการได้