ซิโนฟาร์ม ประชาชนจองผ่าน 2 ช่องทาง 18 ก.ค. ราคา 1,554 บาท

ราชวิทยาลัยเปิดจองซิโนฟาร์มสำหรับประชาชน
ภาพจากเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมเปิดให้ประชาชนทั่วไปดาวน์โหลดแอปจองวัคซีนซิโนฟาร์ม วันที่ 18 ก.ค. นี้ ใน 2 ช่องทาง ราคา 1,554 บาท

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยว่า หลังจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซิโนฟาร์มให้กับองค์กรต่าง ๆ แล้ว รอบใหม่จะจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ เปิดให้ประชาชนทั่วไปจองผ่านแอปพลิเคชั่น ที่จะเปิดให้ดาวน์โหลดและจองในวันที่ 15-16 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

โดยในล็อตแรกจะให้จอง 30,000-50,000 คน จากนั้นจึงจะเปิดให้จองอีกครั้งหลังผ่านไป 4-5 วัน ทั้งนี้ ราคาที่จะเปิดจองจะไม่เกินเข็มละ 888 บาท เท่ากับราคาที่องค์กรต่าง ๆ ได้ไปก่อนหน้านี้ หากเป็นไปได้ จะทำให้ราคาต่ำกว่านี้

โดยจะจัดเวลาการจองเป็นช่วง ๆ เนื่องจากมีเรื่องของระยะเวลาการจัดส่งวัคซีนให้วัคซีนให้คงคุณภาพตั้งแต่กระบวนการจัดเก็บและกระบวนการขนส่ง เพราะโรงพยาบาลหลายแห่งไม่มีสถานที่จัดเก็บวัคซีนจำนวนมาก ๆ สำหรับประชาชนทั่วไปเมื่อจองวัคซีนผ่านแอปฯ และโอนเงินเพื่อจองเป็นเจ้าของวัคซีนแล้ว สามารถไปฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลเอกชน หรือ โรงพยาบาลได้

แอปพลิเคชั่น CRA SINOP

มีรายงานว่าแอปพลิเคชั่นที่ประชาชนทั่วไปต้องดาวน์โหลดเพื่อจองวัคซีนซิโนฟาร์ม มีชื่อว่า CRA SINOP ซึ่งจะเปิดให้ดาวน์โหลดผ่านสมาร์ทโฟนทุกระบบ ทั้งแอปสโตร์ (App Store) และ เพลย์สโตร์ (Play Store) ระหว่าง 15-16 กรกฎาคม 2564 จากนั้นจึงจะเปิดให้จองในวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เวลา 08.00 น. เมื่อสั่งจองแล้ว แอปพลิเคชั่นจะกำหนดให้เลือกชำระเงินทันที พร้อมกับให้เลือกโรงพยาบาลที่ต้องการไปฉีดวัคซีน

โดยรอบแรก จะเปิดจองจำนวน 40,000 โดส สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด (กรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้)

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวทดสอบดาวน์โหลดแอป CRA SINOP ผ่านแอปสโตร์และเพลย์สโตร์ เมื่อช่วง 08.00 น. ยังไม่พบแอปดังกล่าว หากมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ศ.นพ.นิธิ โพสต์เฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda ระบุว่า ขออภัย เนื่องจากยังไม่สามารถนำแอปฯ ขึ้นระบบให้ดาวน์โหลดได้ทันเวลาสำหรับบุคคลธรรมดา โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนอีกครั้งในวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เวลา 08.00 น. ชุดแรกจำนวน 40,000 คนก่อน เพื่อทดสอบระบบ

จองทางเว็บไซต์

ล่าสุด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แจ้งว่า วัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” สำหรับประชาชน เปิดจองรอบแรก จำนวน 40,000 ราย สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในกรุงเทพ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ 1 บัตรประชาชนต่อ 1 สิทธิ์

จองวัคซีนซิโนฟาร์ม ราคา 1,554 บาท (โดสละ 777 บาท) รับวัคซีน 2 โดส และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์บริจาคสมทบครึ่งโดสให้กับผู้ด้อยโอกาส กำหนดการเปิดจอง วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2564 เวลา 8.00 น. ลงทะเบียนจองวัคซีนผ่าน 2 ช่องทาง

1) เว็บไซด์ https://sinopharm.cra.ac.th

2) แอปพลิเคชั่น CRA SINOP ทั้งระบบ iOS และ Android

*การดาวน์โหลดแอปอยู่ระหว่างรออนุมัติจากระบบ iOS ใน App Store และ Android ใน Play Store

เงื่อนไขการจองสิทธิ์รับวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับประชาชน:

1) อัตราดังกล่าวรวมค่าประกันผลข้างเคียงแล้ว แต่ไม่รวมค่าบริการฉีดและค่าบริการทางการแพทย์ที่ผู้ฉีดจะต้องชำระ ณ โรงพยาบาลที่เข้ารับบริการโดยตรง

2) การจองวัคซีน 1 สิทธิ์ ต่อ 1 บัญชีผู้ใช้งานที่ระบุตามเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนหรือเลขที่หนังสือเดินทาง ทั้งนี้ ผู้จองสิทธิ์จะไม่สามารถโอนสิทธิ์การฉีดวัคซีนให้กับบุคคลอื่นได้ทุกกรณี

3) ผู้จองสิทธิ์รับวัคซีนซิโนฟาร์ม ยินดีและเต็มใจสละสิทธิ์การรับวัคซีนหลักพื้นฐานในภาวะฉุกเฉินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 และเป็นบุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาก่อน กรณีปกปิดข้อมูลการรับวัคซีน เพื่อให้ได้รับวัคซีนต่างชนิดหรือใช้วัคซีนเพื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันก่อนเวลาที่เหมาะสม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะไม่รับผิดชอบผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม และการประกันอาจไม่คุ้มครองการรักษาพยาบาลที่เกิดจากอาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน

4) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่รับเปลี่ยนหรือคืนวัคซีนทุกกรณี ภายหลังจากที่ผู้จองสิทธิ์ได้ชำระเงินเรียบร้อยแล้ว

เริ่มเข้ารับวัคซีนในโรงพยาบาลที่กำหนดได้ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2564

วัคซีนยี่ห้ออื่น

ส่วนจะจัดซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ มาเพิ่มเติมจากซิโนฟาร์มหรือไม่ ศ.นพ.นิธิ ระบุว่า กำลังมองหาวัคซีนสำหรับอนาคต สำหรับกระตุ้นภูมิคุ้มกันและมีความสามารถในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่เพราะต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิเป็นระยะ ๆ ซึ่งทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จองไว้บ้างแล้ว แต่ไม่มากนัก และต้องรอเวลาที่จะได้รับการจัดสรรจากบริษัทผู้ผลิต เนื่องจากทั่วโลกยังมีความต้องการและมียอดจองไปถึงกลางปีหน้าแล้ว

“ทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ ตอนนี้มีการพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ จะเป็นวัคซีนเชื้อตาย หรือวัคซีนที่ใช้การดัดแปลงเปลี่ยนพันธุกรรม หรือจะเป็นวัคซีนที่ใช้ mRNA แต่ที่สำคัญ คือ เราเอามาเพื่อ 1.กระตุ้นภูมิ และ 2.ป้องกันเชื้อสายพันธุ์ใหม่ การเอามาแต่ละครั้งเราต้องดูว่า วัคซีนชนิดไหนประเภทไหนที่มีคุณสมบัติได้แบบนั้น ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเขามีเงินเยอะ เขาจองไปหมดเลย ประเทศไทยมีเงินจำกัด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เราเป็นหน่วยงานเล็ก ๆ เราก็ไปดำเนินการจองไว้บ้างบางส่วน เพื่อช่วยประเทศชาติในอนาคต”

ประกาศจัดสรรซิโนฟาร์มให้หน่วยงานท้องถิ่น

ล่าสุดราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ออกประกาศเรื่อง การจัดสรรวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ให้หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งที่ 1 ที่ยื่นความประสงค์มาในระบบขอรับการจัดสรรและส่งเอกสารรับรอง พร้อมแบบฟอร์มแผนการกระจายวัคซีน ดังนี้

1) องค์กรที่ได้รับการจัดสรรมีจำนวน 54 แห่ง เป็นจำนวนประชากรที่ได้รับจัดสรรในระยะที่ 1 นี้จำนวน 375,320 คน ตามลำดับความจำเป็นของกลุ่มกิจกรรมและกลุ่มเปราะบางในท้องถิ่น

2) ลำดับความสำคัญกลุ่มที่ได้รับการจัดสรรคือ

  • กลุ่มองค์กรการศึกษา
  • กลุ่มองค์กรการกุศล
  • กลุ่มองค์กรด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
  • กลุ่มผู้พิการ
  • กลุ่มผู้ด้อยโอกาส/ชุมชนแออัด
  • ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป/ผู้ป่วยติดเตียง
  • พระ/นักบวช

หมายเหตุ กลุ่มธุรกิจ/กิจกรรมอื่นๆ และองค์กรอื่นที่ส่งแผนการจัดกลุ่มมาสมบูรณ์ตามเวลาจะได้รับการจัดสรรตามกลุ่มกิจกรรมความจำเป็น ความรุนแรงของการระบาดและปริมาณวัคซีนที่มีมาในลำดับต่อไป

ประกาศ ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2564

ดาวน์โหลดรายชื่อองค์กรที่ได้รับการจัดสรรที่เว็บไซต์ https://www.chulabhornhospital.com/page.php?name=1533

ตรวจสอบสถานะการขอรับการจัดสรรวัคซีน ที่ https://vaccine.cra.ac.th/