เปิดกฏหมาย ปิดกิจการประกันวินาศภัย ต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง

กฎหมายประกันวินาศภัย

เปิดข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ตามมาตรา 59 บอร์ด คปภ. ใช้พิจารณาชี้ชะตา “เลิกกิจการ” อาคเนย์ประกันภัย และรายอื่น ๆ

วันที่ 28 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายฝ่ายจับตารอมติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) วันนี้ (28 ม.ค.) ที่นัดพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสม การเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของอาคเนย์ประกันภัย ตามที่ บริษัท เครือไทย โฮลดิ้ลส์ จำกัด (TGH) ได้ยื่นคำขอ

ทั้งนี้ การเลิกกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย ไม่เพียงแต่ภาคเอกชนจะยื่นคำขอ และจะสามารถเลิกกิจการได้ในทันที แต่ยังมีข้อกำหนดและเงื่อนไขในทางกฎหมาย ที่ต้องได้รับการพิจารณาและรอคำสั่งเลิกกิจการได้จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสียก่อน

“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดเงื่อนไขและการดำเนินการการเลิกกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย ตาม กฎหมาย พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 57 และมาตรา 59

ปิดกิจการบริษัทประกันวินาศภัย มีเงื่อนไขอย่างไร

การบอกเลิกประกอบกิจการบริษัทประกันวินาศภัย มีเงื่อนไขและขั้นตอนดำเนินการตามมาตรการแบ่งเป็น มาตรการเริ่มต้น และมาตรการสูงสุด โดยมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรการเริ่มต้น : หากบริษัทประกันภัยใด มีฐานะการเงินไม่มั่นคงจากการดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน มีสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า ซึ่งเป็นกรณีที่บริษัทมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะนายทะเบียน ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) จะอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งให้บริษัทแก้ไขฐานะและการดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนด และให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว

จากนั้น สำนักงาน คปภ. จะเข้าควบคุมธุรกรรมการเงินระหว่างที่มีคำสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวและอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาตามคำสั่ง จะไม่มีการโยกย้ายทรัพย์สิน หรือมีการกระทำใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน เมื่อให้ระยะเวลาบริษัทแก้ไขฐานะการเงินแล้ว หากไม่มีความพร้อมและความสามารถในการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยได้

มาตรการสูงสุด : คณะกรรมการ คปภ. จะมีมติให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณามีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทประกันภัยนั้น ๆ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยแล้ว บอร์ด คปภ. ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 60 และมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี เพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากการปิดกิจการ

การควบคุมบริษัทประกันวินาศภัย มาตรา 57

สำหรับข้อกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ต้องการยื่นคำขอเลิกกิจการเอง จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 หมวด 2 การควบคุม มาตรา 57 ระบุว่า “บริษัทใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยให้ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการ เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย

ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือผู้มีส่วนได้เสีย ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาอย่างน้อย ดังต่อไปนี้ ให้บริษัทต้องปฎิบัติให้แล้วเสร็จก่อนที่คณะกรรมการจะอนุญาตให้เลิกกิจการ”

1. วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันอยู่

2. วิธีการบอกเล่าให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสียทราบ และใช้สิทธิตามกฎหมาย

3. การโอนหรือการขอรับเงินสำรองตามมาตรา 23 (1) ที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบีนย ตามมาตรา 24

4. การจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันวินาศภัย และกิจการที่ไดัรับอนุญาตให้ดำเนินการตามมาตรา 28

5. ระยะเวลาการดำเนินการตามข้อ 1, 2, 3 และ 4

ในกรณีที่คณะกรรมการอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และบริษัทประสงค์จะเลิกบริษัท การเลิกบริษัทให้มีผลนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและให้มีการชำระบัญชี

แต่ในกรณีที่ไม่ประสงค์จะเลิกบริษัท ให้บริษัทดำเนินการแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิโดยเปลี่ยนแปลงชื่อและวัตถุประสงค์ไม่ให้เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

เลิกกิจการประกันวินาศภัย มาตรา 59

การเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย เป็นไปตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหากมีสาเหตุ 5 ข้อ ประกอบด้วย

1. มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สินหรือมีฐานะการเงินไม่มั่นคงอันอาจเกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

2. ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฏกระทรวง เงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด หรือประกาศที่ออกหรือกำหนดตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรี นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในเมื่ออาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

3. หยุดประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยไม่มีเหตุอันสมควร

4. ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่ายหรือคืนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือจ่ายหรือคืนไปโดยไม่สุจริต

5. ถ้าประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

บริษัทประกัน ขายกรมธรรม์ “เจอจ่ายจบ” เลิกกิจการแล้วกี่ราย

ปัจจุบันบริษัทประกันภัยที่ร่วมจัดแพ็กเกจประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 แต่มีคำสั่งให้ยกเลิกประกอบกิจการไปแล้วด้วยกัน 2 แห่ง ประกอบด้วย

เอเชียประกันภัย : กระทรวงการคลัง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564

เดอะ วัน ประกันภัย : กระทรวงการคลัง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564

ล่าสุด อาคเนย์ประกันภัย โดยบริษัท เครือไทย โฮลดิ้ลส์ จำกัด (TGH) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและการจัดการเกี่ยวกับภาระและกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดของอาคเนย์ประกันภัย ตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565