นับถอยหลัง คลัสเตอร์โควิดสงกรานต์ ศบค.ลุ้นระทึก แตะเส้นแดงแสนราย

จับตาคลัสเตอร์โควิดสงกรานต์
รายงาน : เกษตร น้อยทิพย์

จับตาคลัสเตอร์โควิดหลังสงกรานต์ หลังประชาชนเดินทางท่องเที่ยว-กลับต่างจังหวัด “ศบค.-สธ.” ลุ้นระทึกจากฉากทัศน์ที่คาดการณ์ก่อนหน้า คาดผู้ติดเชื้อใหม่ไต่ระดับสูงสุดแตะแสนราย ป่วยหนัก 6,000 ราย และเสียชีวิตมากสุด 250 ราย ขณะที่สปสช.เปิดสายด่วน-แจงทุกช่องทางรับมือ

วันที่ 13 เมษายน 2565 นับจากวันนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ หรืออาจต่อเนื่องไปจนถึงสัปดาห์หน้า จะเป็นช่วงวันหยุดยาวที่เข้าสู่ “เทศกาลสงกรานต์” อย่างเต็มตัว มีการประเมินกันว่าจะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา และท่องเที่ยวนับล้านคน

เนื่องจากเป็นปีแรกที่รัฐบาลปลอดล็อกให้จัดเทศกาลสงกรานต์ได้ แต่จะต้องมีการจัดการ จัดทำมาตรการป้องกันตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)กำหนด โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรการครอบจักรวาล Universal Prevention ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ลงได้

แต่นั่นเป็นเพียงหลักการ มาตรการ ข้อแนะนำ หรือข้อควรปฏิบัติที่สธ.คาดหวัง แต่ “หลักกู” หลังมีการดื่มเฉลิมฉลองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สงกรานต์ 2565

ย้อนดู 3 ฉากทัศน์สาธารณสุข

กระนั้นก็ตามบรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งบุคคลในแวดวงสาธารณสุขก็อดที่จะออกมาเตือนไม่ได้

เพราะขนาดไม่ได้มีเทศกาลที่จะมีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก ตัวเลขผู้ป่วยใหม่รายวันรวมกับผลตรวจ ATK ก็ยังอยูในระดับ 4-5 หมื่นรายต่อวัน ตัวเลขผู้ป่วยหนักก็เกิน 2,000 ราย/วัน แล้วรวมถึงผู้เสียชีวิตก็ทะลุเกินร้อยราย/วัน ติดต่อกันมา 3 วันติดแล้ว

ฉากทัศน์ : คาดการณ์ผู้ป่วยโควิดใหม่หลังสงกรานต์ 2565
ฉากทัศน์ : คาดการณ์ผู้ป่วยโควิดใหม่หลังสงกรานต์ 2565

ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขออกมาคาดการณ์จากการทำฉากทัศน์ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า หากประชาชนย่อหย่อนต่อมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ เช่น มาตรการ Universal Prevention ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1 แสนราย/วัน ตัวเลขผู้ป่วยหนักจะอยู่ที่ 6,000 รายต่อวัน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะพุ่งขึ้นไปสุงสุดประมาณ 250 คน/วัน ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม

ฉากทัศน์ : คาดการณ์ผู้ป่วยปอดอักเสบจากโควิดหลังสงกรานต์
ฉากทัศน์ : คาดการณ์ผู้ป่วยปอดอักเสบจากโควิดหลังสงกรานต์

สธ.เตรียมบุคลากร ยา เตียง รองรับ

นั่นหมายความว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ จาการมีผู้ป่วยรายใหม่หรือผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่มีการเดินทาง ทำกิจกรรมรวมกลุ่มร่วมกันมากๆ ทั้งจัดงานสงกรานต์ รับประทานอาหารร่วมกัน ตั้งวงดื่มสังสรรค์ ฯลฯ

กระนั้นก็ตามกระทรวงสาธารณสุขและศบค.ก็ยังประเมินในเชิงบวกว่าได้มีเตรียมการรับมือไว้แล้ว ทั้งเรื่องบุคลากร เรื่องเตียง เรื่องยา การณรงค์ระดมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนช่วงสงกรานต์ และคาดว่าตัวเลขจริงน่าจะคุมอยู่ได้ประมาณ 50,000 ราย

ซึ่งก็ยากที่จะควบคุมประชาชนเรือนล้านคนที่จะปฎิบัติตามมาตรการอย่างรัดกุมได้ เพราะจะมีปัจจัยอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ฉากทัศน์ : คาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดหลังสงกรานต์
ฉากทัศน์ : คาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดหลังสงกรานต์

ก่อนหน้านี้นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมายอมรับกลายๆว่า จากการประเมินสถานการณ์การระบาดโควิดก่อนสงกรานต์ จากฉากทัศน์ที่สธ.มีการนำเสนอในช่วงที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ขณะนี้น่าเป็นห่วง

อย่างเส้นกราฟผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ กำลังขยับเพิ่มขึ้น จากฉากทัศน์ทั้ง 3 ฉากทัศน์ มีโอกาสขึ้นเป็นฉากทัศน์สูงสุดได้

ทั้งนี้จึงต้องเข้มมาตรการทั้งหมด รวมทั้งการฉีดวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ และจะทำให้อัตราการเพิ่มของผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจไม่มากเกินศักยภาพของระบบรักษาพยาบาล ซึ่งคาดว่าจุดสูงสุดการระบาดที่ทำให้ผู้ป่วยอาการรุนแรงน่าจะอยู่ในช่วงต้นเดือน พ.ค. และฉากทัศน์เส้นล่างสุดที่เป็นเส้นสีเขียวจะไม่เป็นจริงแล้ว ถ้าดูจากอัตราการติดเชื้อเพิ่มของไทย มีโอกาสจะเป็นเส้นสีเหลือง และสีแดง

โดยหากสีเหลืองจะมีผู้ติดเชื้อสูงสุดประมาณ 5 หมื่นกว่ารายต่อวันในช่วงประมาณวันที่ 19 เมษายน แต่หากเราไม่สามารถคงมาตรการเข้มงวด ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การป้องกันตัวเองแบบเข้มงวด และหากไม่ลดพฤติกรรมเสี่ยง ก็อาจมีโอกาสพบติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 5 หมื่นรายต่อวัน หรือเพิ่มอีก 2 เท่า

นายแพทย์อุดม คชินทร
นายแพทย์อุดม คชินทร

จับตาป่วยใหม่ทะลุแสนราย สธ.ยกสถิติเทียบเคียง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ในการประชุมของศบค.ชุดใหญ่ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้สัมภาษณ์ว่า จากจำนวนผู้ป่วยที่ยังมีจำนวนมากวันละ 5-6 หมื่นราย ซึ่งยังมีที่ยังไม่ได้ตรวจอีกประมาณ 2-3 เท่า

ทำให้มีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการติดเชื้อวันละกว่าแสนราย ที่กลัวคือจะกระจายในช่วงสงกรานต์ เพราะจะมีการรวมตัวของคนจำนวนมาก

นายแพทย์อุดมกล่าวต่อว่า สงกรานต์ครั้งนี้ เราไม่ได้ห้ามที่จะเดินทางไปไหน แต่ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง หากเว้นไม่ได้ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา เทศกาลสงกรานต์นี้กลับบ้านได้ แต่ต้องจริงจังกับการรักษามาตรการ

ที่สำคัญตอนนี้ต้องฉีดวัคซีน เพราะสามารถป้องกันได้จริง ๆ และเหตุที่ต้องฉีดเข็มกระตุ้น เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์ ซึ่งขณะนี้ไทยเพิ่งฉีดเข็ม 3 ประมาณ 35% ถือว่าต่ำมาก ขณะที่กลุ่ม 608 ฉีดเข็มกระตุ้นได้ไม่ถึง 40% ด้วยซ้ำ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ออกมายอมรับอีกครั้งว่า จากการประเมินจากข้อมูลช่วงสงกรานต์ปี 2563 และ 2564 แล้วมีความเป็นได้สูงที่หลังสงกรานต์ปี 2565 นี้ จำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะพุ่งสูงถึงระดับ 5 หมื่น – 1 แสนราย/วัน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

อธิบดีกรมอนามัยอธิบายว่า การคาดการณ์นี้เป็นผลจากการเทียบข้อมูลสถิติผู้ติดเชื้อหลังสงกรานต์ของปี 2563 และ ปี 2564 โดยจากข้อมูลสถิติช่วงสงกรานต์ปี 2563 นั้น มีการใช้มาตรการเข้มงวดมากเป็นพิเศษทั้งเลื่อนและยกเลิกกิจกรรมต่างๆ รวมถึงงดเดินทางช่วงสงกรานต์ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อช่วงหลังสงกรานต์ 18 เมษายน – 1 พฤษภาคม ลดลง 15.2% เมื่อเทียบกับวันที่ 13-17 เมษายน

แต่ในปี 2564 ซึ่งมีการผ่อนคลายมาตรการให้สามารถเดินทาง และมีการรวมกลุ่มได้ แม้จะฉีดวัคซีนไปเพียง 7 แสนโดส ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อช่วงหลังสงกรานต์พุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดจากระดับ 900-1500 คน/วัน ไปเป็นมากกว่า 2,000 คน/วัน

ดังนั้นในปี 2565 นี้ ซึ่งมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทั้งด้านบุคคล กิจกรรม สถานที่และระยะเวลาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้น และแม้จะมีการตรวจ ATK อย่างแพร่หลาย แต่เสี่ยงเกิดผลลบลวงได้

จึงคาดว่าหลังสงกรานต์ปีนี้จำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะสูงถึง 5 หมื่น – 1 แสนคน/วัน

ผลตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ติดเชื้อโควิด

อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายจะพยายามคุมจำนวนผู้เสียชีวิตให้ไม่เกิน 200-250 คน/วัน และคุมจำนวนผู้ป่วยอาการหนักให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการปรับให้โควิด-19 เปลี่ยนจากโรคติดต่ออันตราย เป็น โรคติดต่อเฝ้าระวัง

ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน ดำเนินมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน

อีกทั้ง หากพิจารณาสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ คาดว่ายังคงมีการระบาดต่อเนื่อง และจะอยู่ในระดับสูงคงตัวช่วงเทศกาล เนื่องจากมีการเคลื่อนของผู้คนจำนวนมาก มีกิจกรรมทั้งในครอบครัวและนอกบ้าน และมีกิจกรรมเสี่ยง จะพบผู้ติดเชื้อทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่มก้อนจากผลพวงสงกรานต์

“ต้องฝากเน้นย้ำการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด หลีกเลี่ยงไปสถานที่เสี่ยงหรือทำกิจกรรมเสี่ยง และตรวจ ATK เมื่อสงสัย โดยเฉพาะกลุ่มที่น่าเป็นห่วงสุดคือ ผู้สูงอายุที่มีลูกหลานกลับไปเยี่ยม และกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง ขอให้รับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ศ.นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา
ศาสตราจารย์นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา

แพทย์ศิริราชชี้ “4 เสี่ยง” เดินทางมาเจอกัน

การคาดการณ์นี้สอดคล้องกับความเห็นของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ออกมาเตือนก่อนหน้านี้ว่า หลังเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าจะเห็นตัวเลขติดเชื้ออยู่ที่ 50,000 – 100,000 ราย/วัน

โดยขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะช่วยกันป้องกัน ให้ตัวเลขอยู่ในระดับใด แต่ที่สำคัญคือต้องดูแลเรื่องการเสียชีวิต ไม่ควรให้เกินวันละ 200 ราย เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพตั้งรับได้

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเองมักจะเตือนเรื่อง “4 เสี่ยง” ที่เจอพร้อมกันเมื่อไรจะต้องระวังให้มาก คือ บุคคล กิจกรรม สถานที่ และช่วงเวลาเสี่ยง ซึ่งจะมาพร้อมกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้

ขณะที่นายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีการประเมินตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงหลังเทศกาลสงกรานต์ว่า จะต้องเตรียมพร้อมอะไรหรือไม่ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เราต้องควบคุมสิ่งที่ควรจะควบคุม เช่น การไม่ให้เจ็บป่วยหนักและเสียชีวิต การติดเชื้อ ถ้ามีการป้องกันหรือยารักษาโรค มีสถานพยาบาลรองรับ ก็ถือว่าเป็นโรคๆหนี่ง

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข

“เราต้องกล้าที่จะก้าวข้ามตรงนี้ไป ถ้าจะไปดูว่าติดเชื้อเท่าไหร่ สงกรานต์กลับบ้านแบบนี้ ติดเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ว่ากระทรวงสาธารณสุขก็เชื่อว่า 120 กว่าล้านเข็มที่ฉีดไปแล้วจะช่วยป้องกันความรุนแรงของโรค เพราะฉะนั้นมีการติดเชื้อต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ เพราะว่าคนส่วนใหญ่จะติดเชื้อไม่แสดงอาการใดๆ บางคนทานยาฟ้าทะลายโจร หรือยาลดน้ำมูก เขาก็หายได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว”นายอนุทินกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขมีการคาดการณ์ (ฉากทัศน์) ว่า ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1 แสนราย หากประชาชนย่อหย่อนต่อมาตรการที่รัฐบาลกำหนดไว้ และจำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นสูงสุด 250 คน/วัน ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม หรือช่วงหลังสงกรานต์ที่ประชาชนเดินทางกลับจากภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์

นอกจากนี้จากการแถลงสถานการณ์รายวันของศบค.พบว่า ประเทศไทยติดอันดับท็อป 10 ของโลกไปแล้วในเรื่องของผู้ติดเชื้อรายใหม่ บางวันไต่ขึ้นไปอยู่อันดับ 9 ของโลกด้วยซ้ำ นอกจากนี้ทิศทางผู้ติดเชื้อรายใหม่ ป่วยหนักและเสียชีวิต มีแต่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ซึ่งยากที่จะควบคุมประชาชนเรือนล้านคนที่จะปฎิบัติตามมาตรการอย่างรัดกุมได้ เพราะมี” 4 เสี่ยง” บุคคล กิจกรรม สถานที่ และช่วงเวลาเสี่ยง เดินทางมาเจอกันพอดิบพอดี

ยังไม่นับรวมอุบัติเหตุจากการเดินทางในช่วง 7 วันอันตราย ว่าจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน

นี่อาจเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่กับระบบสาธารณสุขของไทยที่จะรับมือกับวิกฤตการระบาดระลอกใหม่สำหรับ “คลัสเตอร์โควิดสงกรานต์ 2565” นี้


สปสช.เปิดสายด่วนรับมือผู้ป่วยโควิด

ทางด้านนนายแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า สปสช. ได้ปรับปรุงระบบสายด่วน เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ covid ในช่วงระหว่างและหลังสงกรานต์ โดยแนะนำว่า

ประชาชนที่ตรวจ ATKแล้วขึ้น 2 ขีด ได้ผลบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 แนะนำดังนี้

1. เพื่อความรวดเร็ว ให้ติดต่อพื้นที่ ถ้าอยู่ กทม.ให้โทรสายด่วนประจำแต่ละเขต (https://bit.ly/3FBOgvw) และเฟซบุ๊กกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ (https://bit.ly/3x4yGYD) รวมถึงเพิ่มเพื่อนทาง Line @BKKCOVID19CONNECT หรือคลิก https://bit.ly/3Iuw7Si ได้เช่นกัน หรือ 1669 กด 2

ถ้าอยู่ต่างจังหวัด โทร.สายด่วนประจำจังหวัดหรืออำเภอ

2. หากติดขัดประการใด ให้โทรสายด่วน สปสช. 1330 โดย สปสช.จัดเตรียมระบบสายด่วน สปสช. 1330 รองรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดที่อาจจะเพิ่มขึ้นหลังสงกรานต์ ดังนี้

  • เปิด “สายด่วน 1330 กด 18” ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษาโดยเฉพาะ ทั้งกลุ่ม 608, เด็ก 0-5 ปี, คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง สปสช.จะลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ให้ก่อน พร้อมประสานหาเตียงเพื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาล
  • สายด่วน 1330 กด 14 สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกสิทธิการรักษาที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงนั้น เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำการรักษาตามอาการ กรณีเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว รักษาตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านหรือเจอ แจก จบ หรือจะเข้าระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่ง สปสช. จะลงทะเบียนให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มนี้ หรือเลือกเข้าระบบการรักษาอื่นๆ

กรณี โทร.สายด่วนไม่ติดเนื่องจากอาจมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ให้ลงทะเบียนด้วยตนเองที่เว็บไซต์ สปสช. https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI หรือทางไลน์ สปสช. @nhso https://lin.ee/zzn3pU6 ได้เช่นกัน