สะพานกลับรถล่ม กรมทางหลวงสั่งเช็ก 200 โครงการ ทั่วประเทศ

สะพาน-พระราม 2

อธิบดีกรมทางหลวงสั่งเช็ก 200 โครงการใหญ่-สะพานเกือกม้าทั่วประเทศ ถกด่วนสะพานต้นเหตุพระราม 2 ซ่อมต่อ หรือสร้างใหม่ เรียกความเชื่อมั่นผู้ใช้ทาง 

วันที่ 2 สิงหาคม 2565 นายสราวุธ ทรงวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ถึงการทบทวน 200 โครงการขนาดใหญ่ของ ทล.ว่า จำนวน 200 โครงการเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ ทล.กำลังดำเนินการ ทั้งงานการทาง งานสะพาน และงาน interchange โดยเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

ทั้งนี้ ในส่วนที่เป็นสะพานมีอยู่ประมาณ 60 โครงการ ส่วนที่เหลือเป็นทางพื้นราบ

ส่วนสะพานกลับรถเกือกม้าที่มีอายุใช้งานมานาน จะต้องไปตรวจสอบใหม่หรือไม่นั้น นายสราวุธกล่าวว่า มีหลายตัว ซึ่งสะพานกลับรถเกือกม้ามักอยู่ในเส้นทางหลัก เช่น ถนนมิตรภาพ ถนนเพชรเกษม หรือถนนพระราม 2 โดยเฉพาะถนนพระราม 2 ที่มีสะพานกลับรถเกือกม้าอยู่ 16 แห่ง โดยสะพานที่เกิดอุบัติเหตุเป็น 1 ใน 16 แห่ง มีทั้งเพิ่งสร้างใหม่ และอายุการใช้งานมาก อย่างตัวที่เกิดเหตุคานร่วงอายุการใช้งาน 29 ปี สร้างมาตั้งแต่ปี 2526

ผู้ดำเนินรายการถามว่า สะพานกลับรถเกือกม้าที่มีอายุใช้งานมานาน ทล.จะตรวจสอบอย่างไร นายสราวุธ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีหลายทีมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญลงไปดูสะพานกลับรถเกือกม้าที่เกิดเหตุ ดังนั้น ในวันนี้ (2 สิงหาคม) น่าจะได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะรถติด คนก็รู้สึกหลอนที่จะต้องผ่านใต้สะพานตัวนี้ ซึ่งคาดว่าก่อนเที่ยงวันนี้จะได้คำตอบ

“ตอนนี้โฟกัสไปที่เกิดเหตุ คนไม่มั่นใจว่าวิ่งผ่านจะปลอดภัยไหม ยังไม่นับว่าจะทำต่อ อีกทั้งการจราจรขาเข้าติดขัดมาก วิ่งได้เฉพาะทางขนาน และผมได้พูดคุยกับทีมงานว่า จะยกตัวคาน 4 ตัวที่คาอยู่ออกไปก่อน แล้วค่อยมาติดตั้ง และเริ่มดำเนินการใหม่ เพื่อเปิดการจราจร เพราะถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ คนก็อาจจะมีความแหยง ๆ ที่จะผ่านตรงนี้ จึงคิดว่าต้องเอาคานออกก่อน และเคลียร์พื้นที่ด้านบน เพื่อเปิดการจราจร และหาวิธีการที่จะเดินหน้าซ่อมต่อ หรืออาจมีการทุบตัวนี้ทิ้งและสร้างใหม่” นายสราวุธกล่าว

ส่วนเกือกม้าตัวอื่น ๆ เรามีการตรวจสอบโดยปกติ เกือกม้าทุกตัวอยู่ในการดูแลของแขวงทางหลวง ดูแลด้วยตาทั่ว ๆ ไป มีรอยแตกหรือไม่ จากนั้นจะมีการตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือปีละ 1 ครั้ง แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดบทเรียนว่าข้อแรก ประชาชนจะต้องมั่นใจ

เพราะมีข่าวขนาดที่ว่าสะพานเกือกม้าที่ขึ้นอยู่ทุกวัน คนก็เริ่มไม่แน่ใจว่าจะใช้ดีหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องยากในการสร้างความมั่นใจ เพราะให้ความมั่นใจโดยปากอย่างเดียวก็ไม่ใช่ จึงต้อง Action ทุกอย่าง

“สะพานเกือกม้าทุกตัวบนเส้นพระราม 2 ต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนทุกตัว และจะสแกนทุกตัวที่เป็นสะพานเกือกม้าทั่วประเทศ และจะได้สื่อสารกับประชาชนว่ามีสะพานเกือกม้ากี่ตัว สำรวจแล้วยืนยันในความปลอดภัย จะออกมาเป็นข้อมูล เป็นข่าวเร็ว ๆ นี้” นายสราวุธกล่าว

นายสราวุธกล่าวว่า รับประกันว่าตัวที่ใช้ได้อยู่ก็ยังใช้ได้อยู่ แต่ที่เกิดเหตุมาจากการซ่อม เทคนิคการซ่อมอาจผิดเพี้ยนไป สำหรับมาตรการด้านการปลอดภัย ทางกระทรวงคมนาคม มีการประชุมร่วมกันในหลาย ๆ มิติ 6 มิติ เรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องแรก

ดังนั้น ความปลอดภัยมีการติดตั้งกล้อง มีเช็กลิสต์ต่าง ๆ ตั้งแต่ปลายปี 2562 เมื่อไม่นานนี้เกิดเหตุเหล็กร่วงลงมา หลังจากมีขั้นตอนที่รัดกุม เข้มข้น โดยเราได้ยกระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ และหลังจากเกิดเหตุคานหล่นดังกล่าวก็จะขยับมาตรการให้เข้มข้นกว่านี้ ก่อนหน้านี้มีการเช็กแค่หน่วยเดียว แต่จากนี้มีการดับเบิลเช็ก เช็กก่อนทำงานทุกวัน เครื่องมือ เครื่องจักร เจ้าหน้าที่ กระทั่งเก็บเครื่องไม้เครื่องมือ

เคสนี้เป็นการซ่อมพื้นสะพาน 2 ช่วง ซึ่งช่วงที่คานหล่นเป็น 1 ใน 2 ช่วง จังหวะที่เกิดเหตุอยู่ในขั้นตอนการเก็บรายละเอียด ทำความเรียบร้อยของพื้นที่ที่มีการสกัดพื้นคอนกรีตออกไปแล้ว เพื่อเตรียมวางเหล็ก ตั้งไม้แบบเพื่อจะเทพื้นอันใหม่

ส่วนคุมงานไม่มี ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้เป็นดำเนินการโดยศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 ปทุมธานี เป็นหน่วยงานของ ทล. วิศวกร คนคุมงาน คนงาน ก็เป็นคนของ ทล.

เราตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว คิดว่ามีความประมาท หรือความผิดพลาดในบางขั้นตอน งานนี้เราต้องรับผิดชอบ 100% เมื่อเกิดเหตุทำให้คนบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย ถ้าทำโดยประมาท เลินเล่ออย่างแรง ถือว่ามีโทษ