คำถามจากการชมกอล์ฟ บริทิช โอเพ่น

Photo by Ryan LIM / AFP
คอลัมน์ : ขึ้นแท่นปักที
ผู้เขียน : พิศณุ นิลกลัด
FB:@Pitsanuofficial

มีแฟนกอล์ฟที่ชมถ่ายทอดสดการแข่งขันกอล์ฟ บริทิช โอเพ่น เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถามว่าทำไมเดี๋ยวนี้สนามกอล์ฟที่ใช้แข่งจึงยากนัก

อยากทราบข้อดี-ข้อเสียของการแข่งสนามยาก

ขอตอบดังนี้ครับ

สนามกอล์ฟที่ใช้แข่งบริทิช โอเพ่นทุกสนามทุกปี ยากกว่าสนามกอล์ฟที่เราเล่นเป็นประจำ เพราะเขากำหนดว่าต้องเป็นสนามสไตล์ทุ่งหญ้าที่เรียกลิงส์ (links) หรือกอล์ฟ ลิงส์ (golf links) รัฟยาวถึงหน้าแข้ง จนถึงหัวเข่า หลุมทรายลึกขอบสูงชัน กรีนแข็งคลื่นลอนเยอะ แฟร์เวย์ก็เหมือนกัน

ที่โหดสุดก็คือเป็นสนามกอล์ฟริมทะเล ลมแรงมาก ต้องกะระยะตีเผื่อลมทั้งทวนลมตามลม ขวางลมให้แม่นยำ จึงจะเอาชนะสนามได้

ผมเคยมีประสบการณ์เล่นสนามลิงส์ทั้งเพ็บเบิล บีช และเซ็นต์ แอนดรูว์ส โอลด์ คอร์ส ตีชอตแอปโพรชระยะ 140 หลาขวางลมแรงพัดจากซ้ายไปขวา แคดดี้สั่งให้ตี 180 หลาเล็งเผื่อซ้ายของกลางกรีน 30 หลา

ฟังแล้วไม่อยากเชื่อ แต่ต้องเชื่อเพราะเขาให้ระยะถูกต้องมาตลอด

ปรากฏว่าผมตีเหล็ก 4 เพอร์เฟ็กต์ ชอต ลมทั้งทวนและขวาง หอบลูกตกกลางกรีนจริง ๆ ด้วย

เล่นสนามลิงส์แบบที่ใช้แข่งบริทิช โอเพ่น ถ้าไม่รู้จักธรรมชาติของลิงส์ ไม่มีทางเอาชนะสนามได้ สนามลิงส์จึงเป็นสนามยากโดยธรรมชาติสำหรับคนไม่คุ้นเคย อยู่ที่ยากมากหรือยากน้อย

ข้อดีของสนามลิงส์ อยู่ตรงที่เป็นสนามที่ให้อิสระทางความคิดในการเลือกชอตเล่นที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น ลูกอยู่ห่างกรีน 30 หลา คุณพัตต์ จะพิทช์ จะชิพ หรือเล่นแบบไหนก็ได้ เป็นสนามกอล์ฟที่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

ความยากอีกอย่างหนึ่งของลิงส์เวลาแข่งบริทิช โอเพ่นก็คือแม้จะแข่งเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นหน้าร้อน แต่ที่อังกฤษและสกอตแลนด์ช่วงเดือนนี้วันหนึ่งมี 3 ฤดู ทั้งร้อน ฝน หนาว ต้องสวมเสื้อผ้าหนาสามสี่ชั้น ฝนตกก็ต้องสวมชุดกันฝนทับอีกชั้นหนึ่ง ทำให้หมุนตัวแบ็กสวิงดาวน์สวิงไม่คล่องตัว

นอกจากนั้น เวลาฝนตก หญ้า รัฟ ผิวลูกกอล์ฟเปียกฝน น้ำขังอยู่ในร่องหน้าเหล็ก (grooves) ทำให้การกะระยะ ปริมาณแบ็กสปิน ไม่แม่นยำ

นี่คือเหตุแห่งความยากของลิงส์ ที่บางเสียงบอกว่าทำให้นักกอล์ฟดูไม่เก่ง กลายเป็นตัวตลก ผู้ชมไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นเบอร์ดี้ อีเกิลซึ่งเป็นโมเมนต์น่าชมของเกมกอล์ฟ

ส่วนสนามกอล์ฟแบบ golf course อย่างสนามเกือบทั้งหมดในเมืองไทยและส่วนใหญ่ในอเมริกา รวมทั้งทั่วโลก ความยากง่ายขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเจ้าของ และคนออกแบบสนาม รวมทั้งผืนดินที่เอามาทำสนามกอล์ฟ

เช่น ถ้าเป็นสนามที่สร้างบนภูเขาก็จะยากกว่าสนามพื้นราบเมื่อเทียบชอตต่อชอต

นอกจากนั้น การจัดเตรียมสนาม (set up) ก็มีส่วนทำให้สนามเดียวกันมีความยากง่ายต่างกัน

เช่นสนามเดิมสนามเดียวกัน วันที่เซตสนามให้แฟร์เวย์กว้าง รัฟไม่หนา แต่ละหลุมระยะไม่ยาว แบบนี้สนามง่าย ทุกคนมีโอกาสทำเบอร์ดี้วันละหลายหลุม

แต่ที่สนามเดียวกันนี่แหละ ถ้าเซตสนามบีบแฟร์เวย์ให้แคบ ปล่อยรัฟยาว ทุกหลุมยาว ตำแหน่งธงโหด แบบนี้จะกลายเป็นสนามยากทันที

อย่างสนามกอล์ฟ สยามคันทรีคลับ โอลด์ คอร์ส พัทยา ที่ยุคหลัง ๆ แชมป์ฮอนด้า แอลพีจีเอ ทำสกอร์กันคนละ 20-22 อันเดอร์พาร์

ถ้าทำแฟร์เวย์ให้แคบ ปล่อยรัฟยาว วางธงแบบไม่มีความเมตตา ยืดระยะแต่ละหลุมให้ยาวขึ้น

แค่นี้ละครับ แชมป์เหลือไม่เกิน 15 อันเดอร์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการชมทั้งในสนามและทางทีวี

แต่สำหรับบริทิช โอเพ่น แม้สนามจะยาก นักกอล์ฟทำอันเดอร์พาร์กันได้น้อยก็ไม่มีผลเสียต่อยอดผู้ชม เพราะแฟนกอล์ฟทราบดีว่านี่คือการแข่งขันกอล์ฟที่อายุยืนยาวที่สุดในโลก มีความไม่เหมือนใครไม่มีใครเหมือน (unique) มีความขลัง แล้วก็ดูการแข่งขันแบบทำใจให้เป็นคนสกอตและคนอังกฤษ คือดูจินตนาการและการเลือกชอตของแต่ละคน

ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้ชมที่เป็นนักกอล์ฟมาก