“สุริชัย” ชี้แผงลอยคือฐานรากเศรษฐกิจ กระตุ้นรัฐฯฉุกคิด “ยิ่งเจริญ…ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำ”

เมื่อวันที่ 5 ก.ย.61 เวลา 13.00 น. ศาตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “พัฒนาอย่างไรที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ณ ห้องประชุม จุมภฏ พันทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความเข้าใจบริบทความเป็นจริงในสังคมไทยที่มีหาบเร่แผงลอยเข้ามาหาที่ทำกินบนทางเท้าทั่วประเทศ พร้อมตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนตามธงนำของรัฐบาลที่ระบุว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ศาตราจารย์ สุริชัย กล่าวว่า แผงลอยที่เป็นสิทธินอกระบบประการหนึ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมองว่าแผงลอยเป็นแหล่งรวมของกินที่มีอาหารอร่อยและหลากหลาย สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นเสน่ห์ของประเทศไทยที่ช่วยฟื้นฟูเศรษกิจให้มีความก้าวหน้าเเละยั่งยืน

“ตามหลักดีมานด์หลักซัพพลาย ผู้บริโภคและผู้ผลิตถือเป็นสิ่งสำคัญของการดำรงอยู่ของเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสังคมในอดีตก็ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องสิทธินอกระบบสักเท่าไรนัก แต่ภายหลังสิทธินอกระบบ ได้รับการยอมรับว่าจะต้องเป็นเศรษฐกิจหัวใจหลัก เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีทั้งคนชั้นล่างและคนอีกหลายส่วน”

“ทำไมประเทศไทยถึงเกิดความเหลื่อมล้ำ ยิ่งเจริญก็ยิ่งมีช่องว่างระหว่างกฎหมายกับประชาชน” ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง ได้ตั้งคำถามถึงช่องว่างความเหลื่อมล้ำในไทย และกล่าวต่ออีกว่า ช่องว่างระหว่างความรู้สึกที่มีการวาดภาพไว้อย่างสวยหรูเพื่อเป็นเครื่องมือในการหาเสียง แต่กลับไม่ได้ทำตามที่เคยกล่าวไว้ “อนาคตที่กำหนดไว้เป็นของใครกันแน่”

“วันนี้จึงเป็นที่มาว่าจะพัฒนาอย่างไร ไม่ให้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะไม่ชี้นิ้วว่าใครผิดใครถูกอย่างเดียว แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับเราก็คือ พัฒนาหรือไม่ทอดทิ้งใครไว้ตรงไหน เรื่องอนาคตเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความรับผิดชอบทางวิชาการ หรือความรับผิดชอบในการตัดสิน นโยบาย มันเป็นเรื่องที่เราต้องสร้าง นโยบายให้เขารับพิจารณา ซึ่งถ้าพูดตามความจริง 2 ประชาคมนี้มักไม่ได้แลกเปลี่ยนหรือเรียนรู้ร่วมกัน“ ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง กล่าว

พร้อมกันนี้ ภายในงานเสวนาสาธารณะยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งบุคคลและตัวแทนจากองค์กรต่างๆ อาทิ “เครือข่ายแผงลอยไทย” ได้ทำการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกับนักวิชาการเพื่อสร้างความเข้าใจรอบด้านเกี่ยวกับปัญหาไล่รื้อ และทางออกในอนาคตของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแง่มุมต่างๆ อย่างครบถ้วน