ธุรกิจขยับรับโลกเปลี่ยน เจาะอินไซต์ผู้บริโภคกับเทคโนโลยี

Thailand Marketing Day

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดงาน Thailand Marketing Day 2022 พร้อมกับจัดสัมมนาในหลายหัวข้อ เชิญนักการตลาด และผู้บริหารแวดวงต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนมุมมอง ไม่ว่าจะเป็น “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทวี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด, “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด และ “ชุมพล ศิวเวทกุล” Director, Business Development บริษัท Toluna ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการทำแบบสำรวจความคิดเห็น มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์

ปรับตัวสู่วิถีใหม่-ผลลัพธ์ใหม่

“อภิรักษ์” แห่งวีฟู้ดส์ พูดถึงธุรกิจของตนเองว่าเป็นธุรกิจดั้งเดิมที่ต้องเริ่มจากคิดใหญ่ คือการวางแผนสายพานการผลิต เนื่องจากผลิต และจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มทำให้มีต้นแบบด้านการบริหารจัดการมากมาย กระทั่งวิกฤตโควิดที่ผ่านมาพบว่าเทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการอย่างมาก ตั้งแต่ช่องทางการขายที่ฝั่ง “ออนไลน์” เติบโตมาก รวมไปถึงเทรนด์สุขภาพที่เกิดขึ้นส่งผลให้บริษัทแบบเก่าไม่มีทางเลือกอื่น

นอกจากนำเทคโนโลยีมาปรับใช้และนำไปสู่การก่อให้เกิดมุมมองใหม่ที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมตั้งแต่การปรับตัวด้วยการขยายช่องทางขาย และการตลาดบนออนไลน์ หรือการลงไปจับกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มคนรักสุขภาพ หรือกลุ่มวีแกน ซึ่งบนโลกดิจิทัลทำให้บริษัทมองเห็นกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่นเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นด้วย

“เรายังได้เข้าไปลงทุนในเทคสตาร์ตอัพด้านอาหารที่ผลิตโปรตีนจากพืชได้ด้วย ซึ่งท้ายที่สุดการลงทุนในเทคโนโลยีชีวภาพเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตในระยะยาว”

ฝั่งเจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซ “ภาวุธ” บอกว่า เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เริ่มต้นธุรกิจจากสิ่งเล็กได้ทั้งด้านอีคอมเมิร์ซหรือการพัฒนาโซลูชั่นต่าง ๆ แต่เมื่อทำสำเร็จแล้วจะขยายขนาดไปเท่าใดก็ได้ ข้อดีของ “ดิจิทัล” คือทำให้มีข้อมูลแต่แรกจึงบริหารจัดการได้ ตั้งแต่การวางแผนบุคลากร การจัดทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องอีคอมเมิร์ซ การตลาด และการสื่อสารกับลูกค้า ผ่านมาร์เก็ตติ้ง เทคโนโลยี

Thailand Marketing Day

“มาร์เอิร์ซ” การตลาดแบบใหม่

และจากนี้ไปรูปแบบการทำธุรกิจดิจิทัลที่อีคอมเมิร์ซผสานเข้ากับมาร์เทค (MarTech) เรียกว่า “มาร์เอิร์ซ” (Mar-Erce) จะกลายเป็นเทรนด์ใหม่

“เมื่อก่อนคนทำการตลาด จะเน้นการตลาด และคนค้าขายออนไลน์ ก็เน้นเรื่องการขาย แต่ต่อไปจะรวมเข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ ทำให้ผู้ให้บริการด้านมาร์เทค เริ่มมีแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่การทำการตลาดเท่านั้น แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้เกิดการซื้อขาย เมื่อมีการขายฝั่งมาร์เทคจะเริ่มนำเทคโนโลยีย้อนกลับไปทำซีอาร์เอ็มเพื่อให้ลูกค้าซื้อซ้ำต่ออีก”

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีคำถามต่อมาว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ “เมตาเวิร์ส” เว็บ 3.0 หรือเอ็นเอฟที มีความสำคัญอย่างไรในมุมมองของผู้บริโภค

“ชุมพล” แห่ง Toluna ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการทำแบบสำรวจความคิดเห็น กล่าวถึงนิยามของเว็บ 3 ว่า ปัจจุบันที่คนเราโต้ตอบกันในโลกออนไลน์ได้ คือเว็บ 2 ขณะที่เว็บ 3 เน้นแอปพลิเคชั่นแบบกระจายศูนย์ โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนอย่างกว้างขวาง และใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยให้แอปมีความชาญฉลาดและปรับเปลี่ยนได้มากขึ้น

ส่องโลกใหม่ “เว็บ 3-เมตาเวิร์ส”

อย่างไรก็ตาม “เมตาเวิร์ส” ยังเป็นสิ่งที่ถกเถียงและไม่มีนิยามที่แน่ชัด แต่คนจำนวนมากคิดว่า เป็นโลกเสมือนจริงแบบ VR ตามที่ “เฟซบุ๊ก” จุดกระแส และเปลี่ยนตนเองเป็น Meta เพื่อมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีนี้

โดยผลจากการสำรวจผู้บริโภค 10,500 คนทั่วโลก ในหัวข้อ “Web 3.0, NFT, and the Future of Marketing” ทำให้เห็นประเด็นที่นำไปต่อยอดได้ 4 ประการ คือ 1.เว็บ 3 ยังไม่พร้อมสำหรับการใช้งานในวงกว้างแต่มีศักยภาพ กล่าวคือมีเพียง 24% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่อ้างว่ารู้ว่า เว็บ 3 คืออะไร แต่ถึงอย่างนั้นความเข้าใจของพวกเขาก็ยังคงอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ (99%)

อีกกว่า 50% มองว่า เว็บ 3 จะเป็นกระแสหลักใน1 ปีข้างหน้า 18% เชื่อว่าอีก 2-3 ปี 6% อีก 4-5 ปี 2% อีก 6-10 ปี และ 1% กว่า 10 ปี ขณะที่ 5% ไม่ต้องการให้เว็บ 3 เป็น mainstream

2.การยอมรับเกี่ยวกับ “เมตาเวิร์ส” ช้าลง กล่าวคือ หลังเฟซบุ๊ก เปลี่ยนเป็น Meta ทำให้เกิดกระแสพูดถึงอย่างกว้างขวาง ผู้ใช้เมตาเวิร์ส ปัจจุบันเป็น Gen Z (20%), millennials (22%), และเป็นคนในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาค APAC 25% ขณะที่ความรู้สึกนึกคิดของผู้บริโภคค่อย ๆ เป็นไปในเชิงบวกมากขึ้น โดยกว่า 58% ยังกระตือรือร้นที่จะลองใช้เมตาเวิร์ส

อินไซต์ผู้บริโภคกับเทคโนโลยี

3.ท่องเที่ยว ช็อปปิ้ง และเกม คือโอกาสในเมตาเวิร์ส โดยอ้างถึงผลสำรวจที่ว่า เมตาเวิร์สยังเป็นพื้นที่ที่ควรค่าแก่การสำรวจจากแบรนด์สินค้าต่าง ๆ เนื่องจาก 76% ของผู้เข้าใช้เมตาเวิร์สอ้างว่าได้มีส่วนร่วมในประสบการณ์ของแบรนด์ดังที่เข้าไปอยู่ในเมตาเวิร์สแล้ว การช็อปปิ้ง (45%) ยังเป็นกิจกรรมยอดนิยม การเชื่อมตนเองกับเกมยังใช้เพื่อขยายการเข้าถึงแบรนด์ในเมตาเวิร์สได้ และการเล่นเกมได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นตั้งแต่มิ.ย. 2022 (+5%)

ส่วนธุรกิจที่มีโอกาสในเมตาเวิร์ส คือ การท่องเที่ยว 57% ช็อปปิ้ง 51% และเกม 51%

4.เตรียมนโยบายเกี่ยวกับ NFT ความเข้าใจเกี่ยวกับ NFTs ยังไม่ดีขึ้นในหมู่คนทั่วไป แต่ความสนใจโดยรวมยังแข็งแกร่ง มีผู้ซื้อ NFT ทั่วโลกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ มิ.ย. (+2%) ส่วนการรับรู้ต่อความเป็นเจ้าของ NFT เหนือสินทรัพย์ที่จับต้องได้ก็ดีขึ้น (+3.5%) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยอยู่ที่ 45-50% ใกล้เข้าสู่อัตราเดียวกับการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดั้งเดิม เช่น สำเนาที่ดินที่แสดงการเป็นเจ้าของที่จับต้องได้ หากผสมผสาน NFT เข้ากับสิ่งที่มีอยู่ในโลกจริงก็จะเกิดโอกาสใหม่ ๆ

สิ่งที่แบรนด์ควรรู้

“ชุมพล” กล่าวด้วยว่า ช่วงแรกกระแสเมตาเวิร์สรุนแรง เรียกว่า nice to have แต่ตอนนี้ต้องศึกษา ปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับตนเอง ขณะที่ เว็บ 3 คนยังรับรู้น้อย แต่กว่า 65% ต้องการเข้าไปลองในปีหน้าจึงเป็นโอกาสใหม่ที่แบรนด์จะเข้าไปศึกษา ดังนั้นสิ่งที่ควรทำ คือต้องให้ความรู้ว่า เว็บ 3.0, เมตาเวิร์ส คืออะไร สิ่งที่แบรนด์ควรพิจารณาเพิ่มเติม คือทำยังไงให้เชื่อมต่อกับลูกค้าได้ โดยปรับกลยุทธ์ ซึ่งการนำเมตาเวิร์สมาใช้งานได้ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่สูงมาก ๆ

จะเห็นว่าทุกธุรกิจไม่ว่าจะเกิดใหม่เป็นดิจิทัลแต่แรก หรือธุรกิจดั้งเดิมต่างเร่งทรานส์ฟอร์มตนเองเพื่อเชื่อมโยงไปยังลูกค้า และทำให้แบรนด์สินค้าและบริการต่าง ๆ ปิดการขายได้