บิ๊กเอไอเอสเปิดแผนน่านน้ำใหม่ ผนึกกรุงไทยลุย Virtual Bank

สมชัย เลิศสุทธิวงค์
สมชัย เลิศสุทธิวงค์

ซีอีโอ AIS “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประกาศเปิดเกมธุรกิจใหม่ ผนึก “ธนาคารกรุงไทย” จุดพลุ “เวอร์ชวลแบงก์” โชว์จุดยืน “โตไปด้วยกัน” เปิดกว้างร่วมมือพันธมิตรหลายอุตสาหกรรมเกาะเทรนด์ธุรกิจโลกใหม่ พร้อมเดินหน้าอัพสปีดองค์กร ปรับรูปแบบเพิ่มดีกรีบริหารจัดการ “ต้นทุน” ยกระดับบริการบนแอป “MY AIS” เพิ่มประสบการณ์ลูกค้า ไม่หวั่นคู่แข่งติดปีกควบรวมชิงผู้นำตลาดมือถือ มั่นใจยืนหนึ่ง “กำไร-มาร์เก็ตแคป” พร้อมดึง 3BB เสริมแกร่ง “เอไอเอสไฟเบอร์” ชี้ “กัลฟ์” เสริมจุดแข็ง เพิ่มสปีดการทำงาน

จากที่ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2565 “ประชาชาติธุรกิจ” ได้นำเสนอข่าว “กัลฟ์-AIS ดอดดีลกรุงไทย 3 ยักษ์ผนึกลุยธนาคารไร้สาขา” ล่าสุด นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เอไอเอสได้เซ็นข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจ (เอ็มโอยู) กับธนาคารกรุงไทย (KTB) เพื่อศึกษาแผนการร่วมลงทุนในการเป็นผู้ให้บริการ “virtual bank” หรือ “ธนาคารไร้สาขา” เรียบร้อยแล้ว

เตรียมพร้อมยื่นขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในทันทีที่ ธปท.เปิดโอกาสให้ขอใบอนุญาตได้ และต่อไปจะเห็นความร่วมมือลักษณะนี้ของเอไอเอสกับอีกหลายอุตสาหกรรม สอดคล้องกับจุดยืนของบริษัทที่ต้องการสร้างการเติบโตไปพร้อมกันกับพันธมิตรในธุรกิจต่าง ๆ โดยต่อยอดจากจุดแข็งที่มีฐานลูกค้ามากกว่า 40 ล้านราย

และจากการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นผู้ให้บริการเวอร์ชวลแบงก์ ซึ่งขอบเขตของการให้บริการจะมากกว่าการปล่อย “สินเชื่อ” บริษัทจึงได้ถอนการลงทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์จัดตั้งบริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด เพื่อเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อบนแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยได้มีการขายคืนหุ้นให้กับ “เอสซีบีเอกซ์” บริษัทแม่ธนาคารไทยพาณิชย์ อย่างไรก็ดีบริษัทยังเปิดโอกาสในการทำงานร่วมกับ SCBX ในรูปแบบอื่น ๆ ในอนาคต

ย้ำจุดยืนกินแบ่ง ไม่กินรวบ

“ต่อไปจะได้เห็นความร่วมมือของเอไอเอสกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับกรณีธนาคารกรุงไทย อาจจะเป็นบริษัทประกันรายใหญ่ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพราะจุดยืนเราชัดเจน เน้นกินแบ่ง ไม่กินรวบ ทำให้พันธมิตรสบายใจที่จะมาร่วมด้วย

ตอนขยับจากการเป็นโมบาย โอเปอเรเตอร์ สู่ Digitallife Service Provider เราก็ร่วมกับพันธมิตรหลากหลายรูปแบบในหลายอุตสาหกรรม ในการก้าวไปสู่ Cognitive Telco หรือองค์กรอัจฉริยะ ก็จะไปอีกขั้น ที่ต้องคิดว่าจะดูแลลูกค้ายังไง และทำงานยังไงให้ดีขึ้น”

นายสมชัยกล่าวว่า การขยับไปสู่ Cognitive Telco มี 2 ส่วนคือในส่วนของสินค้าและบริการ ที่จะต้องเน้นความเป็น Autonomous มากขึ้น อีกส่วนคือเรื่องภายในองค์กร ทั้งการเพิ่มทักษะใหม่ (รีสกิล) บุคลากร ปรับรูปแบบ และวิธีการทำงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน และยกระดับประสบการณ์ลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นไป

“ที่ผ่านมาเราบริหารต้นทุนได้ดีมากอยู่แล้ว ถ้ายังทำแบบเดิมคงไม่มีทางลดต้นทุนได้เยอะกว่านี้ จึงต้องเปลี่ยนแปลงวิธีทำงาน อย่างการดูแลเครือข่าย เดิมต้องส่งคนลงไปดู แต่ถ้าเป็น Autonomous Network มีกล้องจับที่สถานีฐานแล้วส่งข้อมูลมา มีปัญหาเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ลูกค้าจะโทร.เข้าคอลเซ็นเตอร์น้อยลง เพราะระบบแจ้งตรงไปที่ลูกค้าได้เลย”

แนวทางการทำงานที่มุ่งเน้น “ลูกค้า” เป็นศูนย์กลาง ยกระดับประสบการณ์ลูกค้าให้ดีขึ้นไปอีกขั้น และรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง นอกจากรู้ว่าเน็ตเวิร์กเป็นยังไงแล้ว ในแง่ของการใช้บริการ เช่น ถ้าอยากเพิ่มความเร็วในการใช้งานก็สามารถทำได้ทันที ผ่านแอปพลิเคชั่น ภายใต้คอนเซ็ปต์ ยูนิเวิร์ส หรือ “โลกของคุณ”

ความท้าทายปี 2566

นายสมชัยกล่าวด้วยว่า ในปี 2566 ทุกองค์กรต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่แน่นอน ปัญหาสงคราม และภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น รวมไปถึงทัศนคติต่อการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เอไอเอสในฐานะบริษัทไทยขนาดใหญ่ ถือเป็นหน้าที่จะต้องเดินหน้าลงทุนเพื่อขับเคลื่อนประเทศและเศรษฐกิจไทยให้ไปข้างหน้าและเป็นบวกให้ได้

นอกจากนี้ยังมองว่าหลังวิกฤตโควิด “ถือเป็นโอกาส” เพราะโควิดทำให้ทุกประเทศต้องใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ไปสู้กับโควิด ทำให้ต้องเริ่มต้นใหม่พร้อมกัน และด้วยเทคโนโลยี “ดิจิทัล” ทำให้ประเทศเล็กสู้กับประเทศใหญ่ได้ ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยและคนไทย ถ้าทำเป็นก็จะไปได้ สู้ได้

เพราะประเทศไทยใช้ “ดิจิทัล” เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เรียกว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก ที่สำคัญเมืองไทยยังมีเทคโนโลยี 5G เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกด้วย เป็นรองแค่เกาหลี ญี่ปุ่น และจีนเท่านั้น

“ดังนั้นในแง่อินฟราสตรักเจอร์ต่าง ๆที่ได้ลงทุนไปแล้ว ทำให้เรามีความพร้อมมาก ๆ ขณะที่ภูมิศาสตร์ของประเทศไทยยังดีมาก ถือว่าได้เปรียบ ดังนั้นถ้าไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจโตไปได้ ก็คงเป็นที่ คน ผมยังเชื่อว่าทุกวิกฤตเป็นโอกาสได้ และนี่คือโอกาสของเรา อย่างไรก็ดีนอกจากเรื่องคนแล้ว การเมืองต้องนิ่ง และกฎหมายต้องเป็นธรรม”

เดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง

ซีอีโอเอไอเอสกล่าวว่า ปีนี้เอไอเอสยังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบบนเทคโนโลยี 5G แต่ในแง่เม็ดเงินคงไม่มากเท่ากับในช่วง 2 ปีที่่ผ่านมา ซึ่งลงทุนปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้องการเร่งขยายเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุมมากที่สุด

ถือเป็นการลงทุนล่วงหน้า เพราะเชื่อว่าถ้าโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารดีจะช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ได้ ทั้งในแง่การลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจได้

“สองปีที่แล้ว เราประมูลคลื่นมา และลงทุนอย่างมาก ทำให้วันนี้ค่าโทรศัพท์ของเราถูกมาก ๆ เราลงทุนต่อเนื่องมาตลอด ปีนี้ก็ยังลงทุนต่อ แม้ไม่เยอะเท่าสองปีที่แล้ว ถามว่า จะเป็นเท่าไร คงบอกตัวเลขชัด ๆ ยังไม่ได้ ซึ่งปกติก็อยู่ที่ประมาณ 2-3 หมื่นล้าน ขึ้นอยู่กับดีมานด์ของลูกค้าด้วย”

เกมการแข่งขันเปลี่ยน

นายสมชัยยังกล่าวถึงบริบทธุรกิจที่เปลี่ยนไป หลังการควบรวมกิจการของคู่แข่ง (ทรู+ดีแทค) ว่า ถ้านำฐานลูกค้าของทั้งคู่มารวมกันอาจทำให้ส่วนแบ่งตลาดในแง่จำนวนฐานลูกค้าของเอไอเอสตกเป็น “รอง” แต่ถ้าพิจารณาในแง่ “รายได้” มั่นใจว่าเอไอเอสยังคงเป็นที่หนึ่ง และเชื่อว่าการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์มือถือจะยังรุนแรงเช่นเดิม เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการลูกค้าเพิ่ม และรักษาลูกค้าเดิมเอาไว้จึงไม่มีใครยอมใคร

“ในแง่จำนวนเลขหมาย เขารวมกันแล้วเป็นที่หนึ่งได้เลย แต่ถ้าวัดเรื่องกำไร และมาร์เก็ตแคป เอไอเอสยังเป็นที่หนึ่ง แต่สำหรับเราสิ่งที่สำคัญกว่าคือ ความพึงพอใจของผู้ใช้เอไอเอส คุณภาพเครือข่าย และประสบการณ์ในการบริการ และเราจะไม่หยุดพัฒนาตนเองต่อเนื่อง เพื่อทำให้ลูกค้ายังคงเชื่อมั่นในคุณภาพและบริการของเรา

ซึ่งการเดินหน้าไปสู่ Cognitive Telco ก็ชัดเจนว่าในแง่ผู้บริโภคจะได้รับบริการที่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น โดยเราจะทำให้แอป MY AIS เป็น Mobile First App First ต่อไปลูกค้าจะไม่ต้องวิ่งมาที่ช็อป แค่เปิด My AIS ก็ทำได้หมด เหมือนที่ตื่นขึ้นมาแล้วเปิดไลน์ ดิจิทัลเซอร์วิสต่าง ๆ จะพยายามทำผ่านแอปพลิเคชั่นให้ได้ทั้งหมด”

ซีอีโอเอไอเอสกล่าวถึงการตัดสินใจเข้าซื้อกิจการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ภายใต้แบรนด์ 3BB ด้วยว่า ก็เพื่อย่นระยะเวลาในการขยายเครือข่าย และเข้าถึงลูกค้าทำให้เป้าหมายในการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของบริษัทเร็วขึ้น

“ถ้าเราไม่ซื้อ 3BB ก็จะโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 5 ปี ในการทำให้ขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด แต่พอมีผู้ถือหุ้นใหม่ (กัลฟ์) เขาก็มองว่าถ้าประหยัดเวลาได้ 5 ปี ก็น่าจะดี ทำให้การตัดสินใจเร็วขึ้น สำหรับ 3BB ในแง่แบรนด์เปรียบเหมือนช่อง 7 สี มีความแข็งแรงในตลาดต่างจังหวัด ส่วนความคืบหน้าของดีลนี้จะจบเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กสทช.”

“กัลฟ์” เพิ่มสปีดแข่งขัน

นายสมชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า การที่กัลฟ์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้โครงสร้างของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีความแข็งแรงมาก เพราะสิงเทล ผู้ถือหุ้นเดิมมีจุดเด่นเรื่องการทำงานแบบมืออาชีพ เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และประสบการณ์ระดับโลก

ขณะที่กัลฟ์ บริษัทที่มีเจ้าของเป็นคนไทย คุ้นเคยการทำงานร่วมกับภาครัฐ ทำให้การประสานงานด้าน Regulatory และการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ รวดเร็วขึ้น ดังเช่นการตัดสินใจซื้อกิจการ 3BB เมื่อพิจารณาในมุมของเจ้าของก็จะเร็ว ทำให้สปีดการทำงานเร็วขึ้นด้วย

รวมถึงบริษัทยังซินเนอร์ยีบางอย่างกับกัลฟ์ได้ด้วย ทั้งเรื่องธุรกิจพลังงานและการทำดาต้าเซ็นเตอร์ อีกอย่างกัลฟ์อยู่ในธุรกิจพลังงานซึ่งมีฐานลูกค้าเป็นบีทูบี ซึ่งก็มีความสนใจขยายไปถึงกลุ่มผู้บริโภคปลายทางแบบบีทูซี ซึ่งการที่จะทำตลาดถึงลูกค้ารายย่อยจะต้องมีการติดตั้งระบบมิเตอร์เป็นไอโอที ซึ่งเอไอเอสช่วยได้ คือจะมีการซินเนอร์ยีในเชิงธุรกิจ ซึ่งกัฟล์เก่งบีทูบี แต่เอไอเอสเก่งบีทูซี เป็นต้น

อนุมัติไลเซนส์ปลายปี’66

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับ virtual banking ว่า ธปท.อยู่ระหว่างการทำกรอบกติกา และเกณฑ์ขั้นต่ำของผู้สนใจยื่นขอใบอนุญาต เช่น กฎเกณฑ์เงินทุนขั้นต่ำ และที่สำคัญคือบิสซิเนสโมเดล รวมถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และขั้นตอนกระบวนการรับฝากเงิน เป็นต้น

ทั้งหมดจะต้องตอบโจทย์สิ่งที่ ธปท.คาดหวัง โดยหลักเกณฑ์การอนุมัติจะออกภายในต้นปี 2566 และการอนุมัติการให้ใบอนุญาต virtual banking คาดว่าจะอยู่ภายในปลายปี 2566

พร้อมอธิบายถึงความแตกต่างของโมบายแบงกิ้ง และ virtual banking ว่า โมบายแบงกิ้งจะเป็นเรื่องของการโอนเงิน ชำระเงินเป็นหลัก แต่ virtual bank จะเป็นเรื่องของการให้บริการอย่างอื่น ๆ ด้วย เช่น การให้สินเชื่อ และอื่น ๆ และเป็นการใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data)

นอกจากนี้บริการโมบายแบงกิ้งยังอยู่บนพื้นฐาน core banking ของธนาคารปัจจุบัน แต่ virtual bank จะใช้ระบบที่แตกต่างและแยกออกมา ไม่มีสาขาที่เป็น physical

สำหรับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลก็คงต้องขึ้นกับความเสี่ยง หากมีความเสี่ยงมากก็ต้องเข้มมาก โดยกฎเกณฑ์ทางด้านสภาพคล่องก็คงต้องมีเหมือนธนาคารพาณิชย์

นายรณดลกล่าวว่า ธปท.คาดหวังว่า virtual bank จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการการเงินที่ง่ายขึ้น ด้วยต้นทุนที่ถูกลง และช่วยให้คนเข้าไม่ถึงบริการธนาคาร สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วยข้อมูลอื่น ๆ เช่น ในประเทศจีนจะใช้ข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อดูวินัยการชำระเงิน

ซึ่งอีกส่วนอาจไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการหรือสินเชื่อของธนาคาร แต่เป็นการต้องตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป เพราะกลุ่มนี้ไม่ไปสาขาธนาคารแล้ว และสะดวกในการใช้บริการ virtual bank