เช็กชื่อแอปอันตราย ดีอีเอสเตือนอย่าโหลด เสี่ยงสูญเงิน-ดูดข้อมูลส่วนตัว

smartphone warning

เปิดรายชื่อแอปพลิเคชั่นอันตราย กระทรวงดีอีเอสเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อ อย่าโหลด เสี่ยงสูญเงิน-ถูกดูดข้อมูลส่วนตัว

วันที่ 20 มกราคม 2566 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของมัลแวร์อันตราย ที่มาในรูปแบบของแอปพลิเคชั่น ซึ่งดีอีเอส และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้มีการตรวจสอบมาโดยตลอด

โดยพบปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้งานโทรศัพท์ที่ติดตั้งแอปพลิเคชั่นที่ถูกระบุว่าสามารถขโมยข้อมูล หรือควบคุมเครื่องโทรศัพท์ได้ โดยในปี 2565 มีการเผยแพร่รายชื่อแอปพลิเคชั่นอันตรายเหล่านี้ ซึ่งมีมากกว่า 200 รายการ ทั้งในระบบ iOS และ Android ตามที่ปรากฏใน Facebook ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ Facebook ของ สกมช. (NCSA THAILAND)

จึงขอให้ผู้ใช้งานตรวจสอบ หากพบแอปพลิเคชั่นดังกล่าวให้ถอนการติดตั้งโดยทันที และควรอัพเดตระบบของเครื่องโทรศัพท์ของตนเองให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ดีอีเอสขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังในการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ลงบนโทรศัพท์มือถือ เพราะอาจจะไปเจอมัลแวร์อันตรายได้ เพราะหากมีการโหลดเข้าไปในเครื่องก็จะมีโอกาสที่จะถูกดูดข้อมูลส่วนบุคคล หรือถูกรีโมตเข้ามาควบคุมมือถือของท่าน

ซึ่งถ้ามีเกี่ยวกับการเงินก็อาจจะถูกโอนเงินออกไป ที่เรียกว่าใช้แอปดูดเงิน และถ้าพบแอปเหล่านี้อยู่ในมือถือของท่านให้รีบลบออก ซึ่งขณะนี้กระทรวงได้ประสานกับทาง Play Store หรือ App Store ทั้งหมดแล้วไม่ให้มีแอปเหล่านี้ในระบบ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนหลงกลแล้วโหลดเข้าไป

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการสร้าง SMS โดยใช้ชื่อเดียวกับผู้ส่ง (Sender Name) ที่เป็นธนาคาร แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้รับ SMS เข้าใจผิดและหลงเชื่อว่ามาจากหน่วยงานจริง ซึ่งโดยทั่วไปหน่วยงานส่วนใหญ่ได้ออกประกาศว่าจะไม่มีการส่งลิงก์ผ่าน SMS ให้กับผู้รับบริการ

ดังนั้น จึงขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อคลิกลิงก์ที่มากับ SMS หรือเพิ่มเพื่อนจากไลน์ไอดี โดยให้สังเกตรูปแบบ เนื้อหาที่อาจเป็นสิ่งที่ดีเกินจริงหรือทำให้หวาดกลัว เช่น “คุณได้รับอนุมัติวงเงินกู้ 50,000 บาท คลิกลิงก์…” หรือ “โปรดยืนยันรหัสผ่าน มิฉะนั้นบัญชีของท่านจะถูกระงับการใช้งาน ติดต่อไลน์ไอดี…” โดยอาจจะตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่ถูกระบุว่าส่ง SMS มาอีกครั้ง

ทั้งนี้ สกมช.ได้มีการรวบรวมรายชื่อบริษัทที่ส่ง SMS ปลอมเหล่านี้ เพื่อหยุดการทําธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการประสานงานกับ กสทช. เพื่อขอให้ผู้ให้บริการมือถือทุกค่าย และธุรกิจที่ทำ SMS แล้วปล่อยให้มีการปลอมชื่อออกมา ซึ่งหากทําสําเร็จก็จะไม่มี SMS ปลอมอีก

นอกจากนี้ เรื่องการแอดไลน์ก็เช่นเดียวกัน บางทีส่งไลน์มาก็เป็นไลน์ปลอมให้เข้าไปแอด เห็นชื่อเห็นรูปอาจจะเป็นคนที่เรารู้จัก หรือเป็นบริษัท หน่วยงานที่เรารู้จัก เพราะฉะนั้นขอให้ระวังเช่นเดียวกัน

“อย่าไปแอดไลน์ อย่าไปคุยกับคนเหล่านี้ เพราะว่าถ้าเขาพูดคุยเข้ามา ส่งข้อความมาที่เป็นของที่ดีเกินจริงได้ประโยชน์มากเกินควร เช่น อาจจะให้กู้เงินห้าหมื่นบาท ให้ขายสินค้าในราคาพิเศษถูกมาก ๆ หรือหลอกว่าจะมีรายได้พิเศษให้เรา ถ้าเราไปทํางานกับเขา ไปลงทุนกับเขา พวกนี้มันดีเกินจริง คิดไว้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพ ผ่านช่องทางไลน์ปลอม หรือ SMS ปลอม ก็อย่าไปยุ่ง อย่าไปกดลิงก์ อย่าไปให้ข้อมูลเด็ดขาด” นายชัยวุฒิกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากจะติดต่อกับหน่วยงานใด ๆ ก็ตาม ผ่านช่องทางออนไลน์ ควรติดต่อผ่านแอปพลิเคชั่นที่ได้ตรวจสอบแล้วว่าเป็นแอปพลิเคชั่นจริง หรือไปที่เว็บไซต์ของเขา ซึ่งเว็บไซต์ก็ต้องเป็นเว็บจริง วิธีการสังเกตคือ เป็นเว็บที่ลงท้ายด้วยดอตทีเอช ทีเอชก็คือไทยแลนด์ เป็นเว็บไซต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย

ซึ่งอันนี้ได้มีการตรวจสอบยืนยันตัวตนอย่างถูกต้องและเชื่อถือได้ ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนดูที่แอปพลิเคชั่นที่ท่านคุ้นเคย และใช้งานอยู่เป็นประจำ มีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนแล้ว เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานและไม่ถูกหลอกให้สูญเงินด้วย

รายชื่อ 200 แอปอันตราย

สำหรับรายชื่อ 200 แอปพลิเคชั่นอันตรายที่กระทรวงดิจิทัลฯ และ สกมช. แนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการดาวน์โหลด มีดังนี้