รู้จัก 9arm ว่าที่ รมต.ดีอีเอส ขวัญใจชาวเน็ต

ภาพจาก: 9arm, YouTube channel

ส่องผลงาน 9arm ดีกรีไม่ธรรมดาของยูทูบเบอร์หนุ่มที่พรรคก้าวไกลทาบทามมาช่วยงานด้านไอที

วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 สืบเนื่องจากนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล มีแนวคิดที่จะทาบทามบุคคลในแวดวงไอทีให้มาช่วยทำงานด้วย โดยได้มีการทาบทามอย่างไม่เป็นทางการแล้วบางส่วน และหนึ่งนั้น ปรากฏชื่อ 9arm หรือ ดร.ธนานนท์ ปฏิญญาศักดิกุล อินฟลูเอนเซอร์และยูทูบเบอร์ด้านไอที เจ้าของช่อง 9arm ที่ทำคอนเทนต์อธิบายความเคลื่อนไหวด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ไอที และเศรษฐกิจสังคม ในสไตล์การเล่าเรื่องยากให้ง่ายและเป็นกันเองผ่านไลฟ์สตรีมในช่อง 9arm จนได้รับสมญานามจากแฟนคลับชาวเน็ตว่า “ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงดีอีเอส”

อย่างไรก็ตาม เมื่อชื่อ 9arm ยูทูบเบอร์ชื่อดังปรากฏ บรรดาชาวเน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ก็มีการถกเถียงกันว่า พรรคก้าวไกลจะนำอินฟลูเอนเซอร์ด้านไอทีมาช่วยงานจริงหรือไม่ ? บ้างก็ตั้งคำถามว่าทำไมไม่นำคนเก่ง ๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศมาช่วยงาน และได้มีการหยิบยกประวัติและผลงานของ 9arm มาพูดถึงอย่างกว้างขวาง

ดร.ธนานนท์ หรือ 9arm ได้ออกมากล่าวในรายการไลฟ์สตรีมของตัวเองว่า การที่มีคนเรียกตนว่า “รัฐมนตรีกระทรวงดีอี” นั้นเป็น “มีม” ที่เล่นกับแฟนคลับเท่านั้น ส่วนการร่วมงานกับพรรคก้าวไกลนั้นมีการพูดคุยชักชวนกันคร่าว ๆ

“โดยส่วนตัวผมนับถือ ส.ส.ณัฐพงษ์ ที่เขาอยากจะชวนคนที่มีความสามารถเข้าไปทำงานให้ภาครัฐ หรือ Public Sector เขาว่าถ้าไปช่วยกันก็ดี ผมนับถือเขาตรงนี้ แต่ผมไม่ได้จะเข้าไปเอาตำแหน่งอะไรกับเขาหรอกนะ”

สำหรับโปรไฟล์ของ 9arm “ประชาชาติธุรกิจ” พบว่าไม่ธรรมดา มีดีกรี Ph.D. สาขา Computer Science จากมหาวิทยาลัยเทนเนสซี, น็อกซ์วิลล์ จากสหรัฐอเมริกา และเป็นหนึ่งในวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ร่วมพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่ในโลก ณ ปัจจุบัน นอกเหนือจากความสนุกสนานในการเล่าเรื่องไอทีที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจและสังคมให้กับผู้ฟังจนมีผู้ติดตามจำนวนมากจนถึงกับมีการจัดแฟนมีต

โดย 9arm ได้เริ่มทำช่องยูทูบเกี่ยวกับการรีวิวเกมตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ตามข้อมูลจาก LinkedIn ปัจจุบัน 9arm เป็น Software Engineer บริษัท Hewlett Packard Enterprise ที่เมืองมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ปี 2563

นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงบทบาทการทำงานของตนว่า มีส่วนร่วมในการสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์อันดับหนึ่งของโลก ในขณะที่ทำงานกับบริษัท Cray Inc. (บริษัทในเครือ Hewlett Packard)

โดยซูเปอร์คอมพิวเตอร์นั้น ชื่อว่า Fontier โดยกระทรวงพลังงานสหรัฐ ผลิตโดย Cray Inc. ร่วมมือกับ AMD มาใช้งานในห้องวิจัย Oak Ridge National Laboratory สมรรถนะของ Frontier อยู่ที่ระดับ 1.5 exaFLOP โดยนำมาใช้ในงานวิจัยด้าน AI ประเมินว่า Frontier มีสมรรถนะเท่ากับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ 160 อันดับแรกของโลกในปัจจุบันมารวมกัน


นอกจากนี้ยังได้ร่วมพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์อันดับหนึ่งของไทย ในชื่อโปรเจ็กต์ LANTA ให้กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถูกจัดให้เป็นเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ประสิทธิภาพสูงสุดอันดับ 70 ของโลก หรือนับเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ด้วยประสิทธิภาพในการคำนวณที่สูงถึง 8.1 พันล้านล้านคำสั่งต่อวินาที