เปิดเหตุผล แอป K PLUS บุกเวียดนาม

เปิดเหตุผล กสิกรไทย ส่ง KBTG ตั้งออฟฟิศเวียดนาม ฐานเทคโนโลยีแห่งที่ 3 ในเอเชีย เดินหน้าธนาคารดิจิทัล ตั้งเป้า กวาดผู้ใช้แอป K PLUS 8.4 ล้านคนในปี 2571 

“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้เปิดเผยว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจะโดดเด่นอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกอบไปด้วยคนวัยแรงงานจำนวนมาก ซึ่งธนาคารกสิกร มีเป้าหมายที่จะขยายสาขาทั่วภูมิภาค โดยใช้ความเป็น “ดิจิทัล” และเทคโนโลยีการเงินในการเข้าถึงประชากรในประเทศต่าง ๆ 

ธนาคารกสิกรไทย ได้เปิดสาขาที่ประเทศเวียดนามมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว ล่าสุดเพิ่งมีการเปิดสำนักงานบริษัท กสิกร บิสิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ที่นครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางเศรษฐกิจของเวียดนาม ถือว่าเป็นออฟฟิศทางเทคโนโลยีแห่งที่ 3 ในเอเชีย (KBTG ไทย, KBTG เวียดนาม, KLabs ในจีน) 

KBTG เป็นบริษัทลูกของธนาคารกสิกร ถูกเรียกว่า “ฐานทัพทางเทคโนโนโลยี” ของธนาคาร รับผิดชอบโดยตรงในการพัฒนาและบริหารจัดการแอปพลิเคชั่น K PLUS หรือ K+ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “Arm of Kbank” เป็นทั้งแขนขาและอาวุธของธนาคาร เติบโตอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึงปีมีผู้ใช้งานชาวเวียดนามแล้วเฉียดล้านบัญชี ตั้งเป้า 1.3 ล้านบัญชีในสิ้นปีนี้ 

ในการเปิดตัวสำนักงานใหม่ ผู้บริหารธนาคารกสิกรหลายคน ได้ตบเท้าขึ้นโชว์วิสัยทัศน์และเปิดเผยมุมมองต่อการขยายสาขา ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมเหตุผลว่าทำไม KBTG ต้องมาเริ่มต้นที่เวียดนาม ดังนี้ 

1.อัตราการใช้งานดิจิทัลเติบโตเร็ว

ด้วยกสิกร ต้องการขยายสาขาให้เป็นธนาคารดิจิทัลทั่วภูมิภาค ซึ่งประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานและมีกำลังซื้อสูงขณะนี้มี 2 ประเทศ คืออินโดนีเซียและเวียดนาม ประกอบกับการปรับใช้เทคโนโลยีด้านการเงินของกลุ่มประชากรเหล่านี้ก้าวข้ามจากเน็ตแบงก์ที่ใช้เว็บไซต์เป็นหลัก มาเป็นดิจิทัลแบงกิ้งที่ใช้แอปพลิเคชั่นมือถือเลย เพราะพวกเขาเติบโตในยุคสมาร์ทโฟนและมีอัตราการใช้งานดิจิทัลที่คล้ายกับไทย คือ นิยมการในช็อปผ่านอีคอมเมิร์ซ เล่นเกมเกือบทั้งประเทศ และมีทักษะในการใช้ดิจิทัลที่ดี

2.คนเวียดนามนิยมเปิดบัญชี ดิจิทัลแบงกิ้ง โอกาสของ K PLUS 

เวียดนามมีธนาคารท้องถิ่นอยู่จำนวนมาก แต่เป็นธนาคารที่อยู่มายาวนาน มีสาขาอยู่มาก ทำให้การขยับตัวสู่ดิจิทัลทำได้ช้า แม้มีการอนุญาตให้เปิดบัญชีออนไลน์และทำการ e-KYC ได้อย่างรวดเร็ว แต่ต้องลงทุนและปรับ Core Banking อีกมาก ขณะที่ KBTG มีองค์ความรู้และทรัพยากรที่พร้อมจะสเกลออกไปให้ผู้ใช้งานในเวียดนามได้ทันที และกสิกรจะไปเริ่มดเวยการเป็นธนาคารดิจิทัล ทำให้ “ตัวเบา” ขยับและสเกลได้ง่ายกว่า

3.ประชากรวัยแรงงานกำลังเติบโต 

ประชากรวัยแรงงานเป็นตัวชี้วัดแรงซื้อที่จะหมุนเวียนในระบบอีกนาน โดยประชากรช่วงอายุ 15-64 ปี ของเวียดนามมีจำนวน 67.8 ล้านคนในปี 2020 ประมานการว่าจะเพิ่มเป็น 71 ล้านคนในปี 2030 ขณะที่ประเทศไทยมี 48.5 ล้านคนในปี 2020 และจะลดลงเหลือ 45.4 ล้านคนในปี 2030 

4.เวียดนามมีอัตราวิศกรสูงที่สุดในอาเซียน มีทักษะซอฟต์แวร์อันดับสอง 

นอกจากประชากรวัยแรงงานจะเติบโตแล้ว จำนวนผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสายวิทยาศาสตร์-วิศวกรรม มีมากถึง 22.6 ล้านคนในปี 2020 ขณะที่ไทยมี 19.6 ล้านคน 

และเมื่อเทียบอัตราส่วน “วิศวกร” 1.35 คนต่อพันประชากรวัยแรงงาน ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน ขณะที่สิงคโปร์มี 1.25 คนต่อพันประชากรมากเป็นอันดับสอง ขณะที่ไทยอยู่อันดับ 5 มี 0.85 คนต่อพันประชากรวัยแรงงาน 

นอกจากนี้ในบรรดาผู้สำเร็จการศึกษาสายวิทยาศาสตร์-วิศวกรในเวียดนาม ประกอบด้วยผู้ที่มีทักษะซอฟต์แวร์-โค้ดดิ้ง เป็นอันสองในอาเซียน มีมีทักษะด้านเอไอมากติดอันดับ 3 ของโลก

5.แรงงานด้านเทคโนโลยีของเวียดนามเป็นกุญแจสู่อาเซียนของธนาคารกสิกรไทย

เวียดนามมีประชากรกว่าร้อยล้านคน การสเกลแอปพลิเคชั่นธนาคารให้ดูแลครอบคลุมประชากรจำนวนมากในประเทศนี้ จำเป็นต้องมีวิศวกรซอฟต์แวร์และนักพัฒนาจำนวนที่มากพอจะช่วยบำรุงระบบและพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ

และยังต้องพัฒนาโปรดักส์ทางการเงินเพื่อให้แอป K PLUS Vietnam ตอบโจทย์คนเวียดนาม ด้วยทรัพยากรบุคคลด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่มากในเวียดนาม จะทำให้ KBTG ขยายทีมพัฒนาจาก 200 คนในเวียดนาม (ในปัจจุบัน KBTG มีพนักงานไทยเพียง 3 คนใน 200 คน) เป็น 500 คน เมื่อรวมกับทีมพัฒนา KBTG ที่ไทยจะทำให้มีทีมพัฒนาระบบ K PLUS จำนวน 3,000 คนในระยะเวลา 3 ปี 

ทีมพัฒนาและประสบการณ์ที่ได้จากเวียดนามรวมทั้งทีมสนับสนุนในไทย และทีมพัฒนา Deep Tech ที่ KLabs ในจีน จะทำให้ KBTG เชื่อมโยงองค์ความรู้และทรัพยากรเพื่อขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนได้เร็วขึ้น ซึ่งประเทศต่อไปอาจเป็น “อินโดนีเซีย” เพื่อสานฝัน “ธนาคารดิจิทัลแห่งภูมิภาค”