รู้หรือไม่ ? ประเทศไทยก็มีแผนพัฒนา AI แห่งชาติ

แผนพัฒนา AI แห่งชาติ

ทำความรู้จัก “AI Thailand” แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ เพื่อประยุกต์ใช้ AI ในการขับเคลื่อนประเทศอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2570

วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ AI และการนำ AI มาใช้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ สร้างความตื่นตัวให้กับภาครัฐและเอกชนอยู่ไม่น้อย จนต้องมีการพิจารณากรอบการใช้งานตามหลักธรรมาภิบาล (Governance) เพื่อสร้างมาตรฐานการใช้งาน AI อย่างปลอดภัย

ปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศเริ่มศึกษาขอบเขตการใช้งาน AI และออกมาตรการควบคุม เช่น สหภาพยุโรป (EU) เสนอร่างกฎหมาย AI ฉบับแรกของโลก ส่วนไทยก็มีการออกแผน AI Thailand เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเชื่อมโยงระบบนิเวศของ AI ที่เป็นรากฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ

 

แผน AI Thailand คืออะไร ?

AI Thailand คือโครงการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ของประเทศไทยให้บรรลุผลตามนโยบายของรัฐบาลที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน และพัฒนาทักษะของบุคลากรภายในประเทศ ตามกรอบการทำงานที่เรียกว่า แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2570) ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ 15 แผนงาน ดังนี้

1.จริยธรรมและกฎระเบียบ AI

แผนงาน : 1.พัฒนาข้อกำหนด กฎหมาย มาตรฐาน และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ AI ของประเทศ 2.สื่อสารและสร้างการรับรู้ด้านจริยธรรม AI

เป้าหมาย : ประชาชนไม่ต่ำกว่า 600,000 คน เกิดความตระหนักทางด้าน AI และมีกฏหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับ AI ถูกประกาศใช้งานไม่ต่ำกว่า 1 ฉบับ

2.โครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI

แผนงาน : 1.สร้างเครือข่ายเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

2.พัฒนาศูนย์เชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ 

3.พัฒนาแพลตฟอร์มกลางระดับประเทศเชิงบูรณาการ 

4.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลและคำนวณขั้นสูง

เป้าหมาย : ยกระดับดัชนีความพร้อมด้าน AI ของรัฐบาลไทยให้สูงขึ้นไม่ต่ำกว่าลำดับที่ 50 ของโลก และเกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลสำหรับสนุนงานด้าน AI ในภาครัฐและเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี

3.กำลังคนด้าน AI

แผนงาน : 1.พัฒนาทักษะและองค์ความรู้ทุกระดับการเรียนรู้ 2.สนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรภาคธุรกิจ 3.พัฒนากลไกความร่วมมือกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

เป้าหมาย : บุคลากรด้าน AI ของประเทศ เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30,000 คน

4.วิจัยและพัฒนานวัตกรรม AI

แผนงาน : 1.ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม แก่กลุ่มสาขาเป้าหมาย 2.พัฒนาเทคโนโลยีฐาน (core tech) และการวิจัยเพื่อสนุนแพลตฟอร์มด้าน AI

เป้าหมาย : เกิดต้นแบบจากผลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้าน AI ไม่ต่ำกว่า 100 ต้นแบบ และสร้างผลกระทบในภาคธุรกิจและภาคสังคมได้ไม่ต่ำกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท ในปี 2570

5.ส่งเสริมธุรกิจและการใช้ AI

แผนงาน : 1.ส่งเสริมการใช้ AI ในภาครัฐ 2.ส่งเสริมการใช้ AI ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเชื่อมโยง Al สู่การใช้งาน 4.พัฒนากลไกและพื้นที่ทดลอง (Sandbox) เพื่อนวัตกรรมทางธุรกิจและ Al Startup

เป้าหมาย : เกิดจํานวนหน่วยงานที่มีการใช้งานนวัตกรรม AI ในภาครัฐและเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี หรือไม่ต่ำกว่า 600 รายใน 6 ปี และขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน AI ของประเทศเพิ่มขึ้น ด้วยมูลค่าตลาด AI ที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาทในปี 2570

 

การผลักดันแผน AI Thailand

แผน AI Thailand จะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” และแก้ปัญหาความไม่พร้อมในการใช้งาน AI ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัล การสนับสนุนจากภาครัฐที่กระจัดกระจาย และการไม่มีศูนย์กลางที่ให้ความรู้และบริการที่ชัดเจน

ทั้งนี้ แผน AI Thailand จะเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี AI ใน 10 กลุ่มเป้าหมาย โดยระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2566) จะโฟกัสที่ 3 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

1.การใช้งานและบริการภาครัฐ : พัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

2.เกษตรและอาหาร : พัฒนาฟาร์มดิจิทัลและคุณภาพอาหาร

3.การแพทย์และสุขภาวะ : พัฒนาโซลูชั่นการดูแลตนเองและรักษาโรคเรื้อรัง

และระยะที่ 2 (พ.ศ. 2567-2570) จะโฟกัสที่ 7 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

1.พลังงานและสิ่งแวดล้อม : พัฒนาโซลูชั่นการบริหารจัดการพลังงานและจัดทำแผนที่สิ่งแวดล้อม

2.การเงินและการค้า : พัฒนาโซลูชั่นการให้คะแนนเครดิตและการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า

3.โลจิสติกส์และการขนส่ง : พัฒนาระบบขนส่งอัจฉริยะและแผนที่เส้นทางขนส่ง

4.ความมั่นคงและปลอดภัย : พัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยในที่สาธารณะและระบบตอบสนองต่ออาชญากรรม

5.ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : พัฒนาโซลูชั่นการวางแผนเส้นทางท่องเที่ยว

6.การศึกษา : พัฒนาการศึกษาแบบอัจฉริยะและแผนที่โอกาสทางการศึกษา

7.อุตสาหกรรมการผลิต : พัฒนาอุตสาหกรรม 4.0

 

ผลลัพธ์ที่คาดหวัง

เป้าหมายในการผลักดันแผน AI Thailand ที่เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ฯลฯ แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1.สร้างคนและเทคโนโลยี

– พัฒนาทักษะกำลังคนด้าน AI สําหรับครู อาจารย์ นักเรียน และนักศึกษา

– เสริมทักษะ AI กับสายงานอื่น (Cross Skills)

– นำไปสู่สร้างอาชีพใหม่ที่ใช้ความรู้และทักษะด้านดิจิทัล

2.สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ

– พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูง

– เพิ่มผลิตภาพขับเคลื่อนวาระสำคัญของรัฐบาล

– ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล

3.สร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

– สร้างความเข้าใจถึงผลกระทบและทำงานร่วมกับ AI

– สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ การศึกษา สุขภาพ และการแพทย์

– รักษาและลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

– ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

– ประเทศมีความมั่นคงและปลอดภัย