BITE SIZE : “ปลากระเบน” ภัยการเงินใหม่ที่แบงก์ชาติเฝ้าระวัง

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

คำว่า “ปลากระเบน” หลายคนอาจคุ้นเคยว่ามีความหมายเดียวคือ ชื่อของสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง แต่ล่าสุด “ปลากระเบน” กลายเป็นคำเรียกภัยการเงินยุคใหม่ที่ถูกตั้งฉายาขึ้นมา ซึ่งแบงก์ชาติกำลังจับตามองเป็นพิเศษ

เพราะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา แนวโน้มความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยการเงิน กลับมาเพิ่มขึ้น แม้ก่อนหน้านี้ เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์ มีปฏิบัติการ Shut Down STINGRAY จับกุมผู้กระทำความผิดแล้ว 1 กลุ่มก็ตาม

ภัย “ปลากระเบน” คืออะไร ?

“ปลากระเบน” เป็นชื่อเรียกเล่น ๆ ของชุดอุปกรณ์ส่งสัญญาณมือถือปลอม (False Base Station) มักถูกใช้เพื่อประโยชน์บางอย่างในด้านลบ เช่น การโจมตีเพื่อให้ไม่สามารถใช้สัญญาณโทรศัพท์ได้ หรือโทรศัพท์ไม่สามารถรับสัญญาณได้ ใช้เพื่อส่งหรือแทรกบริการของตนเองเข้าไปที่มือถือที่อยู่ใกล้เคียง ใช้เพื่อการสอดแนมของหน่วยงานความมั่นคง เป็นต้น

แต่อุปกรณ์ดังกล่าว มีประโยชน์ด้านบวก คือ การใช้สำหรับส่งสัญญาณมือถือ กรณีเกิดเหตุภัยธรรมชาติที่รุนแรงจนทำให้ไม่สามารถให้บริการสัญญาณมือถือได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ชุดดังกล่าว ทุกวันนี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านลบเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการหลอกลวงผู้คน

ส่วนที่หลาย ๆ คนสงสัยว่า ทำไมถึงเรียก “ปลากระเบน” หรือ “Stingray” ซึ่งเป็นคำภาษาอังกฤษ จริง ๆ มาจากชื่อแบรนด์ Stingray ซึ่งเป็นอุปกรณ์ดักจับสัญญาณมือถือ หรือ IMSI-Catcher ผลิตโดยบริษัท Harris Corporation สหรัฐอเมริกา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “ปลากระเบน” ที่เป็นสัตว์น้ำแต่อย่างใด

“ปลากระเบน” หลอกผู้เสียหายยังไง ?

อุปกรณ์ส่งสัญญาณมือถือปลอม จะมีสิ่งที่ต้องใช้ 4 อย่าง คือ

  • แบตเตอรี่ (Battery) สำหรับชาร์จไฟอุปกรณ์ต่าง ๆ
  • เสาอากาศ (Antenna) สำหรับปล่อยสัญญาณ
  • เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (Laptop) สำหรับป้อนข้อความหรือจัดการหลังสอดแนมโทรศัพท์ได้
  • IMSI-Catcher หรือ Stingray ซึ่งทำหน้าที่ดักจับโทรศัพท์

แล้วทำงานยังไง ? ทำไมถึงกลายเป็นมิจฉาชีพหลอกดูดเงินได้ ?

วิธีการของคนร้ายที่ใช้ในการดูดเงินจากเหยื่อนั้น คนร้ายจะนำเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ใส่ไว้ในรถแล้วขับรถไปยังสถานที่ต่าง ๆ แล้วส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือที่อยู่บริเวณใกล้เคียง โดยใช้ความถี่หรือการส่งสัญญาณที่เข้มกว่าเสามือถือจริง และอุปกรณ์นี้ มีศักยภาพการส่งสัญญาณออกไปได้ 2-5 กม. แล้วแต่ปัจจัยรอบพื้นที่

เมื่อมีการจับสัญญาณปลอมเรียบร้อยแล้ว คนร้ายจะส่ง SMS ที่แนบลิงก์ปลอม อ้างเป็นหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปที่เบอร์มือถือซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น หากประชาชนหลงเชื่อและกดลิงก์ ก็จะถูกให้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นควบคุมเครื่องระยะไกล แล้วโอนเงินออกจากแอปธนาคารที่ติดตั้งบนโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้น

ย้อนกลับไปเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์ เปิดปฏิบัติการ Shut Down STINGRAY จับกุมผู้ต้องหาได้ 6 คน พร้อมอุปกรณ์ส่งสัญญาณมือถือปลอมในรถยนต์ 4 คัน คันละ 1 ชุด โดยในชั้นจับกุม ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนร้ายได้ค่าจ้างสําหรับการวิ่งส่งสัญญาณเดือนละ 80,000 บาท และชุดอุปกรณ์ดังกล่าว สามารถส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้วันละ 20,000 หมายเลขต่อเครื่อง

นอกจากนี้ ตัวเลขความเสียหายจากแอปดูดเงิน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 จนถึงมิถุนายน 2566 เป็นดังนี้

  • ธันวาคม 2565 จำนวน 182 ล้านบาท
  • มกราคม 2566 จำนวน 185 ล้านบาท
  • กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 161 ล้านบาท
  • มีนาคม 2566 จำนวน 135 ล้านบาท
  • เมษายน 2566 จำนวน 116 ล้านบาท
  • พฤษภาคม 2566 จำนวน 200 ล้านบาท
  • มิถุนายน 2566 จำนวน 173 ล้านบาท

อุปกรณ์ “ปลากระเบน” ผิดกฎหมาย ?

ด้วยรายได้จากการขับรถส่งสัญญาณปลอมที่มหาศาล เมื่อเทียบกับการขับรถรับส่งทั่วไป อาจทำให้มีผู้คนจำนวนมากต้องการเข้าสู่วงการ แต่หยุดความคิดนั้นไว้ก่อน เพราะคุณอาจติดคุกหรือถูกปรับ

สำนักงาน กสทช. ไม่อนุญาตให้นำเข้าอุปกรณ์ลักษณะนี้ รวมถึง อุปกรณ์กวนสัญญาณ-ตัดสัญญาณ (Jammer) โดยเด็ดขาด

และหากมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่ามีความผิดทันที ตั้งแต่ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ร.บ.ศุลกากร ไปจนถึง ความผิดฐานฉ้อโกง ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ส่วนเราในฐานะที่เป็นผู้ใช้งานมือถือ คำแนะนำที่ง่ายที่สุด คือ ลิงก์ไหนไม่ชัวร์ อย่าคลิก เอะใจสักนิดก่อนคลิก ยิ่งถ้าลิงก์ใน SMS ที่อ้างว่ามาจากธนาคาร ปักธงไว้เลยว่า ลิงก์ปลอมแน่นอน เพราะธนาคารไม่ส่งลิงก์ให้ลูกค้าแล้ว ถ้าลูกค้าไม่ได้ร้องขอ

รวมถึงบรรดา Line Official ปลอม หรือแอปปลอมต่าง ๆ อย่าคลิกลิงก์ อย่าติดตั้งแอปปลอมเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของเงินในบัญชี และอย่าลืมที่จะมีสติทุกครั้งที่เจอลิงก์หรือข้อความแปลก ๆ จะได้ไม่เกิดวลีที่ว่า “รู้อะไรไม่สู้…รู้งี้”

ชมรายการ Prachachat BITE SIZE EP.12 ได้ที่ https://youtu.be/KVos0_8R8hE