เปิดกลยุทธ์ “Egg Digital” พลังดาต้า-AI พลิกเกมดิจิทัลเอเยนซี่

Dr.Teeradej
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

หลังแชตบอตอัจฉริยะ “ChatGPT” เปิดตัวอย่างเป็นทางการปลายปี 2565 การนำ AI มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจเริ่มสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงการตลาดที่มีการใช้ดาต้า และโซลูชั่นมาร์เทค (MarTech) ทำให้การแข่งขันในวงการเอเยนซี่โฆษณาขับเคี่ยวเข้มข้นขึ้นตามไปด้วย

“เอ้ก ดิจิทัล” ที่ปรึกษาด้านการวางแผนการตลาดดิจิทัล และพัฒนาโซลูชั่นต่าง ๆ ให้เข้ากับผู้ประกอบการไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ และเป้าหมายที่ต้องการตัวเร่งในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจด้วยดาต้าและเทคโนโลยี (To catalyse exponential growth with the power of collaboration, data and technology)

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.ธีรเดช ดำรงค์พลาสิทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ้ก ดิจิทัล จำกัด

มีประสบการณ์ในแวดวงเอเยนซี่ และการใช้ดาต้ามากว่า 25 ปี หนึ่งในผู้ปลุกปั้น ดันน์ฮัมบี้ ประเทศไทย และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ดังนี้

ดร.ธีรเดชเล่าว่า หลังออกจากดันน์ฮัมบี้ได้สักพัก คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ชวนให้เข้ามาดูแลธุรกิจในส่วนของธุรกิจค้าปลีกและทรูช็อป ด้วยความที่สนใจเกี่ยวกับรีเทล และแก็ดเจตอยู่แล้วจึงเข้าไปปรับเรื่องประสบการณ์ในการซื้อของลูกค้า และการขายเพิ่มเติม นำร้านค้าออฟไลน์ และออนไลน์มารวมกันเป็น Integrated Commerce

ก่อนขยับขึ้นเป็น Co-CEO ของทรู คอร์ปอเรชั่น ดูในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวกับดาต้า เช่น ทรูมูฟเอช ทรูออนไลน์ ทรูไอดี ทรูวิชั่นส์ รวมไปถึงโปรโมชั่นเวลาซื้อมือถือคู่กับแพ็กเกจต่าง ๆ จนเมื่อเข้าสู่ช่วงที่จะมีการควบรวมระหว่างดีแทค ทรู ได้มีส่วนช่วยเขียนแผนธุรกิจก่อนส่งต่อให้ คุณมนัสส์ มานะวุฒิเวช ซีอีโอ ทรู คอร์ป ปัจจุบัน

“โดยส่วนตัวมีแพชชั่นด้านดาต้า และการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น จึงได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลธุรกิจของ เอ้ก ดิจิทัล เมื่อปี 2565”

ภาพรวมของเอ้ก ดิจิทัล

เอ้ก ดิจิทัล ก่อตั้งปี 2556 เริ่มจากเป็นผู้ให้บริการออนไลน์โซลูชั่น และ Mobile Marketing Platform มีผลงานเด่นที่ทุกคนน่าจะรู้จัก คือการส่ง SMS ลุ้นโชคใต้ฝา ต่อมามีโซลูชั่นพัฒนาแอปพลิเคชั่น และระบบขายหน้าร้าน (POS) จนเมื่อตนเข้ามารับผิดชอบจึงวางพื้นฐาน ตั้งแต่การทำดาต้า การหาอินไซต์ผู้บริโภค และสื่อช่องทางต่าง ๆ ผสานดาต้าทุกส่วนเข้าด้วยกัน ยกระดับเป็นผู้ให้บริการ “มาร์เทค”

ซึ่งในปี 2566 สร้างรายได้เกิน 2,200 ล้านบาท โตจากปีก่อน 32% มีลูกค้ากว่า 400 แบรนด์ และกว่า 350 แบรนด์ อยู่นอกเครือ ซี.พี.

ธุรกิจปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ส่วน

1.ธุรกิจ Media Convergence ให้บริการสื่อโฆษณาแบบ Omnichannel ครอบคลุมสื่อในห้าง (In-store Media) สื่อออนไลน์ และสื่อโฆษณานอกบ้าน

2.ธุรกิจ Advanced Analytics and Consultation ให้บริการโซลูชั่นที่ปรึกษาด้านข้อมูลและวิเคราะห์บิ๊กดาต้าที่ขับเคลื่อนด้วย AI และ Machine Learning มีบริการทั้งด้านที่ปรึกษาทางธุรกิจ และด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ออกแบบบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมได้ด้วย Business Analytics as a Service-Powered by Al Engine

3.ธุรกิจ MarTech Solution ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และมีเดียโซลูชั่น ทั้ง 1.LINE Media & Solutions Partner (CRM/BI Platform) โซลูชั่น LINE และแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย สะสมและแลกคะแนน 2.Creative, Content & Media Solutions ให้คำปรึกษาและวางแผนการทำการตลาดผ่านมีเดียแพลตฟอร์มหลายรูปแบบ และ 3.Mobile Marketing & Analylics SMS วิเคราะห์ข้อมูลการสื่อสารผ่าน SMS

“เราทำงานด้วยความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ คนในองค์กร ต้องเข้าใจวิธีการใช้ข้อมูลในภาพรวม เป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับองค์กรในไทย”

ส่วนเป้าหมายรายได้ปีนี้ตั้งเป้าโต 25% และขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น 15%

ตัวอย่างโซลูชั่น AI

ดร.ธีรเดชกล่าวถึงโซลูชั่น AI พร้อมยกตัวอย่าง 1.AI Dashboard เป็นรายงานสรุปยอดขายตามช่วงเวลา และสาขา จำแนกข้อมูลยอดขายตามประเภทการขาย กลุ่มสินค้า และลูกค้า พร้อมแสดงผลคำอธิบายข้อมูล ซึ่งประมวลผลจากโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่รองรับภาษาไทย จะประหยัดต้นทุนการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลผลข้อมูล

2.Demand Forecast รายงานวางแผนการผลิตที่ช่วยธุรกิจคำนวณยอดการผลิตให้คุ้มกับต้นทุนและยอดขาย เช่น อุตสาหกรรมปศุสัตว์ ต้องคำนวณปริมาณเนื้อสัตว์ที่จำหน่ายหน้าร้าน ซึ่งมีผลต่อปริมาณการเพาะพันธุ์สัตว์ ต้นทุนค่าอาหาร และปัจจัยอื่น ๆ มีการดึงข้อมูลยอดขายย้อนหลัง พร้อมต่อ API เข้ากับหน้าร้าน เพื่อให้ระบบดึงข้อมูลยอดขายปัจจุบันโดยอัตโนมัติ

“แดชบอร์ดจะทำการแสดงผลข้อมูลการทำนายยอดขายล่วงหน้าในช่วงเวลาที่ต้องการจากการประมวลผลข้อมูลของโมเดลที่ทำงานอยู่เบื้องหลังกว่า 20,000 โมเดล ซึ่งโมเดลที่เราพัฒนามีการทดสอบความแม่นยำอยู่ที่ 85%”

ตัวอย่างที่ 3 AI For Shops and SMEs เป็นแชตบอตสนทนากับลูกค้าอัตโนมัติ ลดต้นทุนการจ้างแอดมินที่ต้องคอยตอบ 24 ชั่วโมง รวมระบบเข้ากับ LINE OA

ตัวอย่างที่ 4 AI Insights for Analysis แชตบอตสำหรับการบริหารจัดการงานภายใน เจ้าของธุรกิจสนทนากับแชตบอต เพื่อให้ระบบแสดงข้อมูลที่ต้องการ และตัวอย่างที่ 5 Marketing Activation ใช้ AI ประมวลผลว่าแบรนด์จะแบ่งงบประมาณในการลงโฆษณาไปทำกิจกรรมการตลาดในช่องทางใดบ้าง จึงจะคุ้มค่ากับการลงทุนมากที่สุด เช่น ต้องการทำให้ส่วนแบ่งการตลาดโตขึ้น 15% สร้างยอดขายจากลูกค้าหน้าใหม่ 38% อาจใช้งบฯกับการทำสื่อโฆษณานอกบ้าน มากกว่าสื่อออนไลน์ เป็นต้น

“โซลูชั่นที่เราพัฒนาขึ้นมาช่วยให้ภาคธุรกิจดึงคนไปทำงานที่มีประโยชน์กว่างานที่ต้องทำซ้ำได้ เพิ่มโอกาสต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ แต่ใช้คนเท่าเดิม เราตั้งใจพัฒนาโซลูชั่นในรูปแบบ as a service ที่ทุกธุรกิจนำไปใช้ได้ คาดว่าจะเห็นปีหน้า”

การแข่งขันบนความท้าทาย

ดร.ธีรเดชกล่าวว่า โซลูชั่นของเอ้ก ดิจิทัล ใช้ได้กับธุรกิจทุกขนาด มีทั้งแบบโปรเจ็กต์ และบริการแบบ Subscription ที่คิดค่าใช้จ่ายรายเดือนหลักพันบาทก็มี แต่เรื่องดาต้า หรือ AI ควรเป็นโปรเจ็กต์ระยะยาว เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ดาต้าแต่ละชุดจึงมีอายุสั้นมาก

สำหรับลูกค้าที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร จะให้เริ่มจากการทำดาต้าก่อน ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ควรลงทุนเพราะเป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจ และเป็นปัจจัยสำคัญในการสเกลไปในอนาคต พอเข้าใจมากขึ้นก็ต่อยอดเป็นโซลูชั่นมาร์เทคให้ได้ แต่ความยากคือทำให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการใช้โซลูชั่นต่าง ๆ จึงต้องมีการวัดผลด้วยตัวเลข เพื่อพิสูจน์ว่าการใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจได้จริง

“หลายคนมองว่าการอยู่ในเครือ ซี.พี. ซัพพอร์ตงานในเครือน่าจะทำให้เราสบายแล้ว แต่จริง ๆ ไม่ใช่แบบนั้น 70% ของงานที่ได้มาจากนอกเครือ เวลาพิชงานในเครือก็ต้องสู้เต็มที่ แต่ไม่ว่าจะทำงานให้ใคร ต้องสร้างความเชื่อใจกับทุกฝ่าย เรื่องการรักษาข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก”

บริษัทไทยคนไทยไม่แพ้ใคร

ปัจจุบัน เอ้ก ดิจิทัล มีพนักงานราว 200 คน โดย 40% เป็นทีมเกี่ยวกับดาต้า ได้แก่ Data Engineer วางโครงสร้างการเก็บดาต้าทั้งหมด, Data Scientist บริหารจัดการดาต้า, Data Analysist วิเคราะห์ และประมวลผลดาต้า และ Data Visualizer คนที่นำดาต้ามาแสดงผลด้วยภาพให้เข้าใจง่ายขึ้น

“อัตราการลาออกของทีมต่ำมาก ไม่เกิน 2% นอกจากจะเข้ายากออกยากแล้ว เราพยายามสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ให้น้อง ๆ เป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ มีการ Reskill และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ต่อเนื่อง พยายามดูว่าน้อง ๆ แต่ละคนชอบทำงานสไตล์ไหน หรือเนื้องานประมาณไหน แล้วโค้ชเขาให้ถูกจุด”

ดร.ธีรเดชกล่าวว่า เอ้ก ดิจิทัล ต้องการเป็นบริษัทที่สร้างโอกาสให้คนเก่ง ๆ ในประเทศ บนความเชื่อที่ว่าคนเก่งมีอยู่ทุกที่ แต่ความสามารถในการเข้าถึงโอกาสไม่เท่ากันจึงต้องการกระจายโอกาสใน “กรุงเทพฯ” ไปหัวเมืองต่าง ๆ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ และพิษณุโลก ร่วมกับมหาวิทยาลัย พัฒนาโปรแกรมฝึกงาน 6 เดือน-1 ปี ให้มีโอกาสได้ลงมือทำจริง และได้ค่าตอบแทนในอัตราที่เหมาะสม

“ความสามารถของคนไทยไม่ได้ด้อยกว่าคนต่างชาติ เวลาคนพูดชื่อบริษัทหนึ่งขึ้นมาแล้วบอกว่าบริษัทนี้มีแต่คนเก่ง ๆ เป้าหมายส่วนตัวก็อยากผลักดันให้ เอ้ก ดิจิทัล ไปถึงจุดนั้นบ้างเช่นกัน”