โซนี่ จ้างงานเพิ่ม 2,000 ตำแหน่งในไทย ขยายกำลังการผลิต

“Sony” เปิดอาคารผลิตแห่งใหม่ ขยายกำลังการผลิตด้าน Imaging & Sensing Solutions รับการมาของ AI และการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ คาดช่วยเพิ่มการจ้างงานในไทย 2,000 ตำแหน่ง ภายใน 3 ปี

วันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) หรือ SDT ศูนย์กลางการผลิตสำหรับธุรกิจ Imaging & Sensing Solutions ของ “โซนี่” (Sony) เปิดอาคารผลิตแห่งใหม่ที่มีชื่อว่า “อาคาร 4” ใช้เป็นโรงงานประกอบเซ็นเซอร์รับภาพ (Image Sensor) สำหรับการใช้งานในยานยนต์ และอุปกรณ์แสดงผลต่าง ๆ ตลอดจนการผลิตอุปกรณ์เลเซอร์ (Laser Diodes) สำหรับนำไปใช้งานภายในศูนย์ข้อมูล (Data Center)

ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตที่อาคารแห่งนี้ เช่น Laser Diode ที่เป็นส่วนประกอบของ HAMR (Heat-assisted Magnetic Recording) เทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์รูปแบบใหม่ที่ใช้เลเซอร์บันทึกและอ่านข้อมูลแทนหัวเข็มแบบเดิม รองรับการใช้งานเกี่ยวกับ AI เป็นต้น

อาคารผลิตแห่งใหม่ เป็นอาคารที่มีความสูง 3 ชั้น และมีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 66,370 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ห้องสะอาด (คลีนรูม) 8,800 ตารางเมตร/ชั้น รวมทั้ง 3 ชั้น เป็น 26,400 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในที่ตั้งของ SDT จ.ปทุมธานี ซึ่งมีพื้นที่รวม 137,252 ตารางเมตร

โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 SDT ดำเนินธุรกิจโดยใช้พลังงานหมุนเวียน 100% มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภายในพื้นที่ห้องสะอาด (คลีนรูม) ของอาคาร 4 แห่งใหม่ยังมีการติดตั้งระบบปรับอากาศที่สามารถควบคุมความสะอาด อุณหภูมิ และความชื้นแบบเฉพาะเจาะจงแยกตามพื้นที่ที่ต้องการ รวมไปถึงการนำความร้อน และน้ำร้อนที่ถูกใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่

ตลอดจนมีแผนดำเนินการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เหนือบริเวณอาคาร 4 โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2567 และเพื่อผลักดันการลดการใช้พลังงาน และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง SDT มีแผนที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% กับอาคาร 4 หลังจากเปิดใช้งานอาคารเต็มรูปแบบเช่นกัน

นายทาเคชิ มัตสึดะ (Takeshi Matsuda) กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในอนาคตมีแผนที่จะขยายโรงงานการผลิตที่อาคาร 4 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก ในขณะเดียวกันยังวางแผนที่จะเพิ่มอัตราการจ้างงานในท้องถิ่นอีกกว่า 2,000 ตำแหน่งภายใน 3 ปี ซึ่งปัจจุบัน ณ วันที่ 1 มี.ค. 2567 SDT มีพนักงานประมาณ 1,600 คน

“เราเชื่อว่าการขยายกำลังการผลิตครั้งนี้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไทยได้ และแม้ว่าในตอนนี้ไทยจะเป็นฐานการประกอบเซ็นเซอร์รับภาพ แต่เชื่อว่าด้วยศักยภาพที่มีในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของแรงงาน และการสนับสนุนของภาครัฐ สามารถทำให้ไทยเป็นต้นน้ำของการผลิตได้ เพียงแต่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเรื่องน้ำและไฟฟ้าที่พร้อมต่อการผลิตมากกว่าเดิม”

ด้านนายสมโชค วุกถ้อง ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันอาคารแห่งนี้กำลังอยู่ในช่วงของการติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งเป็นไลน์การผลิตของ Laser Diode 13 ไลน์ อยู่ในช่วงการตรวจสอบคุณภาพ (Audit) กับลูกค้า และจะเริ่มดำเนินการผลิตในช่วงกลางปี 2567

“ในปีนี้อาคาร 4 จะรองรับงานเกี่ยวกับ Laser Diode เป็นหลัก และในปี 2568 คาดว่าจะเดินเครื่องจักรได้เต็มกำลังการผลิต และเริ่มผลิตเซ็นเซอร์รับภาพของกล้องที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย“

ทั้งนี้ นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยด้วยว่า โซนี่เป็นพันธมิตรการลงทุนที่แข็งแกร่งของไทย โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา BOI สนับสนุนการลงทุนของโซนี่ 17 โครงการ มูลค่า 22,000 ล้านบาท คิดเป็นการจ้างงานมากกว่า 8,000 ตำแหน่ง

“โดยในช่วงเดือน ก.พ. 2567 โซนี่ขยายการลงทุนเพิ่มอีก 1 โครงการ พร้อมยื่นขอสนับสนุนการลงทุนจาก BOI ราว 5,000 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม อาคารผลิตแห่งใหม่นี้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือน พ.ย. 2565 ด้วยเงินลงทุน 2,380 ล้านบาท แล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา