เปิดสถิติ ปี’66 คนไทยรับสาย-ข้อความมิจฉาชีพ 79 ล้านครั้ง

มิจฉาชีพ
ภาพจาก Canva ใช้เพื่อประกอบข่าวเท่านั้น

“Whoscall” แอประบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก จัดทำรายงานประจำปี 2566 พบคนไทยรับสาย-ข้อความหลอกลวงรวม 79 ล้านครั้ง เพิ่มจากปีก่อน 18% เฉลี่ยต่อคนรับ SMS มิจฉาชีพ 20.3 ข้อความ มากที่สุดในเอเชีย

วันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “Whoscall” แอปพลิเคชั่นระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก ได้จัดทำรายงานประจำปี 2566 เพื่อศึกษาพฤติการณ์มิจฉาชีพหลอกลวงผ่านสายโทร.เข้า ข้อความ และลิงก์จากข้อความ โดยพบว่ามิจฉาชีพทำงานหนักก่อกวนคนไทยเพิ่มขึ้น 12.2 ล้านครั้ง

อีกทั้งคนไทยยังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับข้อความหลอกลวงมากถึง 58.3 ล้านข้อความ ด้วยกลโกงต่าง ๆ เกี่ยวกับเงินกู้และเว็บพนันมากที่สุด เตือนระวังมุกใหม่ แอบอ้างผู้ให้บริการส่งสินค้า หน่วยงานรัฐ เช่น การไฟฟ้า เพื่อหลอกเหยื่อ พร้อมแนบลิงก์ปลอม ลิงก์ขอล็อกอินปลอม การดาวน์โหลดมัลแวร์อันตราย และเพจปลอมหลอกขายของหลอกลวง

รายงานระบุด้วยว่า ในภูมิภาคเอเชียมีการหลอกลวงทั้งจากสายโทร.เข้าและข้อความ SMS รวม 347.3 ล้านครั้ง ลดลงจากปีก่อนหน้า 14% (405.3 ล้านครั้ง ในปี 2565) ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เนื่องจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยการหลอกลวงออนไลน์

ขณะที่แนวโน้มการหลอกลวงในเอเชียดูเหมือนจะคลี่คลายลง แต่ปี 2566 คนไทยกลับเสี่ยงโดนหลอกจากสายโทรเข้าและข้อความรวม 79 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 18% จากยอดรวมในปี 2565 ที่ 66.7 ล้านครั้ง จำนวนสายโทรเข้า 20.8 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 22% จาก 17 ล้านครั้ง และข้อความหลอกลวงเพิ่มขึ้น 17% จาก 49.7 ล้านข้อความ

นอกจากนี้ จำนวนข้อความหลอกลวงที่คนไทย 1 คน ต้องรับเฉลี่ย 20.3 ข้อความ ซึ่งมากที่สุดในเอเชีย โดยอันดับ 2 คือ ฟิลิปปินส์จำนวน 19.3 ข้อความ และฮ่องกงจำนวน 16.2 ข้อความ แนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการหลอกลวงทางออนไลน์กำลังเพิ่มขึ้นในภูมิภาค ทำให้เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์พยายามเตือนให้ประชาชนเพิ่มความ ระมัดระวังเพื่อป้องกันการหลอกลวงและความเสี่ยงที่อาจทำให้สูญเสียเงิน

อย่างไรก็ตาม มิจฉาชีพยังคงพุ่งเป้าส่ง SMS หลอกลวงคนไทย โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องพนันออนไลน์และหลอกปล่อยเงินกู้ คีย์เวิร์ดสำคัญ เช่น ยูสใหม่แจกฟรี ฝากครั้งแรกรับฟรี 500 และสร้างการหลอกลวงใหม่ ๆ โดยแอบอ้างบริษัทขนส่ง และหน่วยงานรัฐ เช่น พัสดุของท่านเสียหาย เคลมค่าเสียหายติดต่อ จดตัวเลขมิเตอร์ผิด ประกันมิเตอร์ เป็นต้น

นางสาวฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท Gogolook/Whoscall กล่าวว่า จากรายงานล่าสุดพบว่า คนไทยมีความเสี่ยงสูงสุดในเอเชียที่จะถูกหลอกลวงผ่านทางข้อความ และการโทรศัพท์ โดยมิจฉาชีพมีเทคนิคที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ นำข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้ในการปรับกลยุทธ์ ให้เหมาะสมกับเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยทางการเงินของคนไทย

“Whoscall ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหานี้ จึงขอแนะนำให้คนไทยใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ รับรู้ข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเป็นหัวใจสำคัญ”

ทั้งนี้ ในเดือน มิ.ย. 2566 Whoscall เปิดให้ใช้ฟีเจอร์ใหม่ เพื่อสแกนลิงก์ URLs ที่น่าสงสัย โดยผู้ใช้สามารถนำลิงก์ที่สงสัย มาวางในแอปเพื่อตรวจสอบความเสี่ยง หรือเปิดการตั้งค่าให้ตรวจสอบจาก SMS ที่มีลิงก์แนบมาด้วย พบว่า 4.5% ของข้อความที่ได้รับมีลิงก์ที่น่าสงสัย ซึ่งแนบลิงก์หลอกให้ล็อกอินเข้าเว็บไซด์ปลอม (27%), หลอกให้ดาวน์โหลดแอปอันตราย (20%) และเข้าหน้าช็อปปิ้งออนไลน์ปลอม (8%)