NT เร่งสร้างรายได้ธุรกิจดิจิทัล หืดจับหนีขาดทุน

NT-ขาดทุน
พันเอกสรรพชัยย์ หุวะนันทน์

NT เผยผลประกอบการปี 2566 รายได้ 82,034.47 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 10% ขาดทุนสุทธิ 77.60 ล้านบาท หลังแผนลดคนยังไม่เข้าเป้า พร้อมเร่งสปีดสร้างรายได้กลุ่มดิจิทัล-หาโอกาสจากอสังหาริมทรัพย์ รับแรงกระแทกคลื่นความถี่หมดอายุปี 2568 ลุ้นทำกำไร-หลุดกับดักขาดทุนหลังปี 2570

วันที่ 12 เมษายน 2567 พันเอกสรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เปิดเผยว่า รายได้รวมของ NT ปี 2566 อยู่ที่ 82,034.47 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 91,574.25 ล้านบาท หรือประมาณ 10% ขาดทุนสุทธิ 77.60 ล้านบาท

แต่เมื่อรวมค่าใช้จ่ายจากโครงการเกษียณก่อนกำหนด (Early Retirement) หรือการจากกันด้วยความสมัครใจ (Mutual Separation Plan-MSP) ประมาณ 1,000 คน จากแผนที่ตั้งไว้ 1,200 คน และค่าเสื่อมของอุปกรณ์ จะขาดทุนราว 2,200 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าขาดทุนที่ตั้งไว้ประมาณ 4,200 ล้านบาท

“ถ้าเทียบจากปี 2565 ถือว่าสถานการณ์ของปี 2566 ดีขึ้นมาก เนื่องจากปี 2565 ขาดทุนสุทธิประมาณ 9,000 ล้านบาท โดยในปี 2566 เราพยายามควบคุมและลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น”

โดยรายละเอียดผลการดำเนินงานจำแนกตามกลุ่มธุรกิจในปี 2566 ของ NT เป็นดังนี้

  • Hard Infrastructure 9,765.67 ล้านบาท
  • International 1,773.57 ล้านบาท
  • Mobile 43,039.15 ล้านบาท
  • Fixed Line & Broadband 18,242.59 ล้านบาท
  • Digital 4,112.63 ล้านบาท
  • อื่น ๆ 5,100.86 ล้านบาท

พันเอกสรรพชัยย์ กล่าวต่อว่า สำหรับปี 2567 คาดว่ารายได้รวมจะอยู่ที่ 87,983.93 ล้านบาท กำไรประมาณ 900 ล้านบาท แต่เมื่อรวมค่าใช้จ่ายในโครงการจากกันด้วยความสมัครใจ จะขาดทุนราว 2,400 ล้านบาท

ปัจจุบัน NT มีพนักงาน 12,600 คน คาดว่าหลังเดือน ก.ย. 2567 จะเหลือพนักงานประมาณ 11,000 คน ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรคิดเป็น 35% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยในปี 2570 ตั้งเป้าให้เหลือพนักงาน 7,000 คน คิดเป็นค่าใช้จ่าย 25% ซึ่งถือว่ายังสูงกว่าเอกชนในกลุ่มธุรกิจเดียวกันที่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นตัวเลขหลักเดียว

“ปีนี้งบการลงทุนเหลือประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท จากปกติจะอยู่ที่ปีละ 8,000-9,000 ล้านบาท โดยจะโฟกัสการลงทุนไปที่กลุ่มธุรกิจที่มีกำไรและการเติบโตเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มดิจิทัลหรือการให้บริการคลาวด์และ data center ในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งปี 2566 โตจากปีก่อนหน้าประมาณ 15%”

อย่างไรก็ตาม NT จะต้องเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ เมื่อสัมปทานคลื่น 850 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz จะหมดอายุในปี 2568 ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของรายได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท ทำให้ NT ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ต้องปรับแผนธุรกิจ และหาช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ ๆ

พันเอกสรรพชัยย์ กล่าวว่า สำหรับช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของกลุ่มธุรกิจดิจิทัลให้เป็น 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 รวมถึงใช้ประโยชน์จากที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ผ่านการปล่อยเช่าและรวมลงทุนกับเอกชน ซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุยกับเอกชนที่มีความสนใจ คาดว่าจะมีรายได้จากส่วนนี้ประมาณ 500 ล้านบาท

“ปัจจุบัน data center ของ NT ให้บริการ Virtual Machine 36,000 หน่วย ซึ่งสภาพัฒน์ประมาณการว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ความต้องการ Virtual Machine ในภาครัฐจะเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 หน่วย มองว่าเป็นโอกาสสร้างรายได้ที่สำคัญ

ส่วนการสร้างรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ มีแผนใช้พื้นที่ชั้น 1 ของตึกที่บางรักในการทำ Making Space ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการทำงานของกลุ่มสตาร์ตอัพ และชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย โดยมองวิธีการทำเงินจากการเก็บค่าบริการรายชั่วโมง หรือใช้บริการฟรีแต่เก็บค่าบริการจากการใช้งานสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แทน”

สำหรับธุรกิจโทรศัพท์มือถือจะเพิ่มโฟกัสในกลุ่ม B2B การใช้งานในภาครัฐ และ “machine-to-machine” หรือการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ เช่น Phuket Smart Mobility บริการยานพาหนะพลังงานสะอาด ที่ร่วมกับแอปพลิเคชั่น GCOO และทิพยประกันภัย ส่วนฝั่งบรอดแบนด์จะโฟกัสที่การรักษาฐานลูกค้า 1.8 ล้านราย และไม่มีการขยายการลงทุนเพิ่มเติม

ทั้งนี้ พันเอกสรรพชัยย์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่า NT จะมีแผนสร้างรายได้ใหม่ที่รองรับการหายไปของรายได้จากธุรกิจโทรศัพท์มือถือปีละหลายหมื่นล้านบาท แต่จากแผนการดำเนินงานที่วางไว้ NT น่าจะต้องขาดทุนไปอย่างน้อยอีก 3 ปี และจะมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจในปี 2571

“ปี 2570 จะเป็นปีที่สถานการณ์ของ NT เริ่มดีขึ้น และจะทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น โดยแผนปี 2568 จะขาดทุน 1,500-2,000 ล้านบาท ปี 2569 เจ็บหนักสุด ติดลบ 2,700 ล้านบาท และปี 2570 ขาดทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนปี 2571 จะทำกำไรที่หลักร้อยล้านบาท แต่เป้าหมายของเราตอนนี้ คือทำให้บริษัทขยับมามีกำไรเร็วขึ้นอย่างน้อย 1 ปี”