ดอกเตอร์ รักษา เมื่อโควิดเป็นตัวเร่ง ‘เทเลเมดิซีน’

“จาเรน ซีว” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดอกเตอร์ รักษา จำกัด

“เทเลเมดิซีน” หรือการนําเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ติดต่อสื่อสารกันแบบเรียลไทม์ และไร้ข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ เป็นแนวทางที่กำลังเติบโต ผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่บีบบังคับให้ผู้คนต่างต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ยิ่งทำให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ ที่มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เติบโตอย่างรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม

“จาเรน ซีว” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดอกเตอร์ รักษา จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน มีจำนวนแพทย์เพียง 0.1% ของแพทย์ทั้งหมดในประเทศไทย ที่เลือกใช้ระบบ “เทเลเมดิซีน”

“ดอกเตอร์ รักษา” หนึ่งในสตาร์ตอัพที่เป็นแพลตฟอร์มการแพทย์ทางไกล บนคลาวด์ ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน และกำลังเติบโตในประเทศไทย ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 4 แสนคน แบ่งเป็นเพศหญิง 70% เพศชาย 30% และส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20 – 40 ปี

ขณะที่จำนวนแพทย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯกว่า 70% ขณะที่ประชากรของประเทศกว่า 70% อยู่ในต่างจังหวัด จึงเป็นช่องโหว่ในทางการแพทย์ และ “ดอกเตอร์ รักษา” เป็นแพลตฟอร์มที่เข้ามาอุดช่องโหว่นี้ได้

โดยปัจจุบันมีบริการหลักอยู่ 2 บริการ ได้แก่ 1) การให้คำปรึกษาทางการแพทย์ ซึ่งเปิดให้บริการมาแล้วประมาณ 2 ปี  มีจำนวนแพทย์ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง ประมาณ 70-90 คน และมีแพทย์ในระบบกว่า 700 คน อายุระหว่าง 35 – 40 ปี และมีแพทย์เฉพาะทางทุกสาขา อาทิ แพทย์ผิวหนัง จิตเวช สูตินารีแพทย์ กุมารแพทย์ ซึ่งได้รับความนิยม และเป็นแพทย์จากหลากหลายโรงพยาบาล เช่น  ศิริราช รามาธิบดี และสมิติเวช เป็นต้น

ทั้งยังมีจำนวนการปรึกษาแพทย์และจำนวนผู้ใช้งานผ่าน “ดอกเตอร์ รักษา” ที่เพิ่มขึ้นกว่า 200% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนการปรึกษาแล้วกว่า 1 แสนเคส

ผู้ใช้บริการสามารถเลือกใช้บริการได้ 3 รูปแบบ คือ ผ่านการแชต โทร. และ video call และโดยเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 200 บาทต่อครั้ง

2) บริการการขายยา และสินค้าด้านเวชภัณฑ์ ที่ได้เปิดให้บริการไปเมื่อไม่นานมานี้ เป็นบริการที่อำนวยความสะดวกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสามารถจัดส่งยา และสินค้าด้านเวชภัณฑ์อย่างรวดเร็ว ที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยใช้เวลาจัดส่งภายใน 1 ชั่วโมง

ปัจจุบัน “ดอกเตอร์ รักษา” ยังมีส่วนแบ่งของตลาดอยู่ที่ 95% จากจุดเด่นเรื่องจำนวนแพทย์และความหลากหลายของแพทย์เฉพาะทาง

“จาเรน ซีว” คาดว่า การใช้ระบบเทเลเมดิซีนจะเติบโตมากยิ่งขึ้น เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส
โควิด-19 ทำให้แพทย์หันมาใช้งานระบบเทเลเมดิซีนมากขึ้น ทั้งยังเป็นระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เวลารอแพทย์ที่โรงพยาบาล

“ไปโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะต้องรอพบแพทย์เพื่อทำการตรวจโรคและรับฟังคำวินิจฉัยจากแพทย์ แต่ระบบเทเลเมดิซีน ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เพราะแพทย์จะต้องเข้าสู่ระบบออนไลน์เพื่อรอพบผู้ป่วย มากไปกว่านั้นผู้ป่วยยังสามารถส่งเอกสารต่าง ๆ หรือใบรับรองแพทย์เพื่อประกอบการขอรับฟังคำปรึกษาจากแพทย์ได้ด้วย”