เมื่อคนไฮเทคเมิน “ทรัมป์” หนุนพรรคคู่แข่งสู้เลือกตั้ง

คอลัมน์ Tech Time
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ยิ่งใกล้เลือกตั้งเข้าไปเท่าไหร่ ความอัดอั้นตันใจที่ประชากรชาวเทคสะสมมาตลอด 3 ปีครึ่งที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ครองอำนาจก็ดูจะยิ่งทะลักล้นจนต้องระบายออกเป็นตัวเลขเงินบริจาคที่หลั่งไหลไปสนับสนุนผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคคู่แข่งแบบไม่ขาดสาย

ความไม่พอใจที่คนในวงการมีต่อ “ทรัมป์” ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปีแรกที่ทรัมป์เหยียบย่างเข้ามาในทำเนียบขาว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกีดกันผู้อพยพโดยเฉพาะชาวมุสลิมไม่ให้เข้าประเทศโดยไม่คำนึงถึงเรื่องมนุษยธรรม หรือการทำหูทวนลมต่อเหตุปะทะในเมืองชาร์ลอตต์วิลล์ที่กลุ่มคนผิวขาวสุดโต่งก่อความรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย

สงครามการค้ากับจีนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนในวงการรับไม่ไหวกับอาการผีเข้าผีออกที่เดี๋ยวก็ขู่ฟ่อ ๆ เดี๋ยวก็บอกว่าการเจรจากำลังเป็นไปด้วยดี ทำเอานักลงทุนและเจ้าของธุรกิจที่มีจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดปวดขมับไปตาม ๆ กัน

นอกจากนี้ จุดยืนของ “ทรัมป์” ต่อประเด็นอ่อนไหวทางสังคมด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการถอนตัวจาก “ความตกลงปารีส” ที่ว่าด้วยเรื่องโลกร้อน ไปจนถึงการทวิตขู่จะใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามการจลาจลที่เกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตของหนุ่มผิวดำ “จอร์จ ฟลอยด์” และความล้มเหลวในการรับมือกับโควิดก็ล้วนเป็นเชื้อเพลิงที่กระพือโหมความไม่พอใจให้ลุกโชนขึ้นกว่าเดิม

ถึงคนในแวดวงส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่โน้มเอียงมาทางฝั่งเดโมแครตเป็นทุนเดิม แต่ปรากฏการณ์ “เลือกข้าง” ไม่เคยเด่นชัดเท่ากับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้มาก่อน

จากการสำรวจของ The Center for Responsive Politics ของ OpenSecrets พบว่าพนักงานของบริษัทเทคที่ใหญ่ที่สุด 5 แห่ง ได้แก่ Apple, Microsoft, Amazon, Alphabet และ Facebook บริจาคเงินสนับสนุนตัวแทนของพรรคเดโมแครตปีนี้ไปแล้วกว่า 15 ล้านเหรียญ ในขณะที่บริจาคให้พรรครีพับลิกันแค่ 3 ล้านเหรียญ

เท่ากับมีพนักงานถึง 84% ที่สนับสนุนเดโมแครต โดย “โจ ไบเดน” ที่มีโอกาสจะเป็นตัวแทนพรรคเข้าท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เงินบริจาคไปถึง 92%

ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าชาวเทคหมายมั่นจะเอาคืนทรัมป์ผ่านการเลือกตั้งให้ได้ ถึงแม้ว่าตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาบริษัทของพวกเขาจะร่ำรวยขึ้นมากภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนนี้ที่ผลักดันนโยบายด้านภาษีจนทำให้บริษัท Big Tech สามารถประหยัดต้นทุนไปได้มหาศาล

แม้กระทั่งพิษโควิดที่เขย่าทุกอุตสาหกรรมก็ยังทำอะไรบริษัท Big Tech ไม่ได้ ดูจากที่ Apple MicrosoftAmazon และ Alphabet มี market cap ทะลุ 1 ล้านล้านเหรียญไปเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ Facebook ตามมาเป็นอันดับ 5 ด้วยมูลค่า 6 แสนล้านเหรียญ

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการเหล่านี้ไม่มีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของบรรดาพนักงานที่ยอมควักกระเป๋าตัวเองเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำประเทศไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องและชอบธรรมอีกครั้ง

จุดยืนนี้ยังลามไปถึงพนักงานในบริษัทหัวอนุรักษ์อย่าง Oracle ที่ทั้งผู้ก่อตั้งและซีอีโอเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์อย่างชัดเจน โดยมีพนักงานถึง 67% บริจาคเงินสนับสนุนตัวแทนจากพรรคเดโมแครตเพิ่มจาก 49% ในปี 2016 และ Cisco ที่พนักงานเปลี่ยนข้างจากเดิมที่เคยบริจาคให้เดโมแครตแค่ 36% ในปี 2016 กลายเป็น 80% ในปีนี้

นอกจากบริจาคสนับสนุนพรรคคู่แข่งแล้ว ชาวไฮเทคยังต่อต้านนโยบายของทรัมป์อย่างแข็งขันหลายครั้ง รวมทั้งพร้อมงัดข้อกับผู้บริหารเพื่อเรียกร้องความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคมเมื่อเห็นว่าบริษัทกำลังทำสิ่งที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยด้วย

เช่น พนักงานของ Google นับพันคนเรียกร้องให้บริษัทยุติการทำ “ธุรกิจสงคราม” กับกระทรวงกลาโหมด้วยการใช้ AI ของบริษัทมาช่วยวิเคราะห์บันทึกวิดีโอที่ได้จากโดรนของทหาร ในจำนวนนี้มีหลายสิบคนที่ตัดสินใจประท้วงด้วยการลาออก หรือพนักงาน Facebook ที่ประท้วงด้วยการหยุดงานตอนที่บริษัทปล่อยให้ทรัมป์ (รวมทั้งนักการเมืองอื่น) โพสต์ถ้อยคำยั่วยุ หรือให้ข้อมูลอันเป็นเท็จแก่สังคม

นับวันจุดยืนของชุมชนชาวเทคที่ “ไม่เอา” ทรัมป์ก็ยิ่งเด่นชัด แต่จะสัมฤทธิผลหรือไม่ต้องรอลุ้นผลศึกเลือกตั้งกันอีกทีว่าคนส่วนใหญ่จะคิดเหมือนชาวเทคหรือไม่