ร้านตู้มือถือ “เอ็มบีเค-พันธุ์ทิพย์” ร้าง เซ่นพิษโควิด จ่อปิดตัวระนาว

โควิด-19 ทุบ “ร้านตู้มือถือ” เผชิญวิกฤตสภาพคล่อง จ่อคิวปิดตัวระนาว ศูนย์ขายส่ง-ปลีกมือถือในตำนาน “เอ็มบีเค” ยอมลดค่าเช่าพื้นที่ 70% แต่เอาไม่อยู่ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” ดึงเชนค้าปลีกรายใหญ่-แบรนด์ดังเปิดแทนร้านย่อย “เจมาร์ท” ระบุดีมานด์ในประเทศยังมี แต่คนเปลี่ยนไปซื้อผ่านออนไลน์

พิษโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ ธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ แม้จะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของผู้บริโภคในปัจจุบันไปแล้ว แต่บรรดาร้านค้าปลีกโทรศัพท์มือถือรายย่อย โดยเฉพาะ “ร้านตู้” ซึ่งมีอยู่เป็นเป็นจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ต้องปิดร้านไปเป็นเวลานาน จึงเริ่มมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจพื้นที่บริเวณชั้น 4 ศูนย์การค้าเอ็มบีเค ซึ่งเป็นโซนจำหน่าย ซ่อมและขายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ พบว่าบรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา มีจำนวนร้านค้ารายย่อยที่จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ จำนวนไม่น้อยปิดไป

จากการสอบถามบรรดาร้านค้าที่ยังเปิดให้บริการได้ให้ข้อมูลตรงกันว่า ร้านค้ารายย่อยหายไปไม่น้อยกว่า 40% ทั้งจากปัญหาขาดสภาพคล่องทำให้ไม่สามารถเปิดร้านต่อได้ และบางส่วนตัดสินใจไม่ต่อสัญญา เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้กลุ่มลูกค้าหลัก ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวหายไปมากกว่า 90%

ผู้ค้ารายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ค้าในศูนย์การค้าเอ็มบีเคได้รวมตัวกันเรียกร้องให้ทางศูนย์การค้ามีมาตรการช่วยโดยลดค่าเช่า ซึ่งทางเอ็มบีเคยินยอมลดค่าเช่าลงให้ 70% เช่น เดิมจ่ายค่าเช่าอยู่ที่ 7 หมื่นบาท/เดือน ลดให้เหลือ 2 หมื่นบาท เป็นต้น ไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย หรือเริ่มมีนักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ ซึ่งการลดค่าเช่าอาจช่วยต่อลมหายใจให้ร้านค้าสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อได้ แต่สถานการณ์การขายโดยรวมไม่ได้ดีขึ้น เนื่องจากกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา

“หลังคลายล็อกดาวน์แล้วก็ยังไม่ค่อยมีคนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นเท่าไร เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยว ทำให้ขายสินค้าไม่ได้ และต้องยอมลดราคาให้ลูกค้า เพื่อให้มีรายได้เข้ามาบ้าง”

“เร็ว ๆ นี้ทางเอ็มบีเคเตรียมจะปรับพื้นที่บริเวณชั้น 4 ใหม่ คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือน โดยจะดึงเชนร้านไอทีรายใหญ่เข้ามาเพิ่มขึ้น เช่น Banana IT และ Studio7 เป็นต้น ขณะที่จำนวนพื้นที่ขายของกลุ่มผู้ค้ารายย่อยจะลดลง เนื่องจากไปต่อไม่ไหว”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ไปสำรวจ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ” พบว่าบริเวณชั้น 2 ที่เป็นโซนจำหน่าย และรับซ่อมโทรศัพท์มือถือมีผู้เช่าหายไปกว่า 90% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้เช่ารายย่อย ส่วนร้านที่ยังเปิดให้บริการจะเป็นร้านของแบรนด์ และค้าปลีกรายใหญ่เท่านั้น

ด้านนายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริม ผ่านร้านค้าปลีกในแบรนด์เจมาร์ท กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ร้านตู้ขายโทรศัพท์มือถือที่เคยเปิดขายในศูนย์การค้าตามต่างจังหวัดหายไป ขณะที่ศูนย์การค้ากลางเมืองหลายแห่ง เช่น MBK และสยาม เป็นต้น ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกันมากนัก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวหายไป ทำให้ยอดขายของร้านตู้มือถือเหล่านั้นหายไปด้วย ส่งผลให้บางรายตัดสินใจปิดกิจการ

อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่สามารถประเมินไม่ได้ว่าการปิดตัวของร้านตู้มือถือรายย่อยจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดหรือไม่ เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความต้องการ และอาจเปลี่ยนช่องทางในการซื้อเป็นผ่านออนไลน์แทน จึงต้องประเมินสถานการณ์ในภาพรวมอีกครั้ง

“ร้านตู้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการปิดห้างชั่วคราว และหลังจากห้างทยอยเปิดแล้ว ร้านตู้บางรายกลับมาเปิดได้ แต่บางส่วนก็หายไปเลย เพราะไม่มีเงินทุน เนื่องจากขาดรายได้ไปเกือบ 3 เดือน ส่วนร้านตู้ตามห้างกลางใจเมือง เช่น MBK สยาม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กลุ่มลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวถือว่าได้รับผลกระทบชัดเจน ถ้านักท่องเที่ยวยังไม่มา ร้านตู้ในกลุ่มนี้ก็อาจจะทยอยหายไปอีกก็ได้”

แหล่งข่าวในธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอที และโทรศัพท์มือถือกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันยังมีความต้องการซื้อโทรศัพท์มือถือ แต่กำลังซื้อเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะต่างจังหวัดเริ่มออกอาการชัดเจน ทำให้ร้านตู้มือถือที่เคยเช่าพื้นที่อยู่ตามโมเดิร์นเทรด หรือห้างใหญ่ ๆ ในต่างจังหวัดเริ่มหายไป เพราะในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ต้องปิดร้านทำให้ไม่มีรายได้ เมื่อกลับมาเปิดใหม่ได้แล้วจึงไม่มีเงินลงทุน ทำให้หลายแห่งต้องปิดกิจการ ส่งผลให้ศูนย์การค้าต่าง ๆ เหลือแต่ร้านค้าปลีกของรายใหญ่

“หลังศูนย์การค้าเปิดบริการ ร้านตู้มือถือก็หายไปจำนวนมาก เพราะไม่มีเงินลงทุน แต่ร้านมือถือที่เป็นเชนใหญ่ ๆ เช่น เจมาร์ท ทีจี โฟน ยังเดินต่อได้ เพราะมีอำนาจต่อรองค่อนข้างสูง จากจำนวนสาขาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบกับมีแบรนด์มือถือ ผู้ให้บริการเครือข่ายก็เข้ามาซัพพอร์ตในหลาย ๆ ส่วน ทั้งการจัดโปรโมชั่น กิจกรรมพิเศษต่าง ๆ ซึ่งต่างจากร้านตู้มือถือที่ไม่มีแบรนด์มือถือ หรือผู้ให้บริการเครือข่ายเข้ามาซัพพอร์ต เนื่องจากเป็นรายย่อยและมีแค่สาขาเดียว”