ไทม์ไลน์ ข้อพิพาท ไทยคม 5

ย้อนไปเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.62 ดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งขึ้นสู่วงโคจร ตั้งแต่ พ.ค. 49 ใช้งานมาเกือบ 14 ปี ได้เกิดเหตุขัดข้อง เนื่องจากใช้งานเกินอายุวิศวกรรม ทาง “ไทยคม” จึงแจ้ง กสทช. และ กระทรวงดีอีเอส นำไปสู่การปลดระวางไทยคม 5 เมื่อวันที่ 26 ก.พ 63

วันที่ 6 พ.ย 63 ไทยคม แจ้งต่อ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ได้รับหนังสือแจ้งจากดีอีเอส ให้สร้างและส่งมอบดาวเทียม ทดแทนดาวเทียมไทยคม 5

หากไม่ส่งมอบดาวเทียมทดแทน จะต้องจ่ายเงินกว่า 7,790 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ตั้งแต่ 30 ต.ค.63 และ ค่าปรับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.63 เป็นต้นไป จนกว่าจะส่งมอบดาวเทียมทดแทน หรือชำระเงินค่าเสียหาย

วันที่ 11 พ.ย 63 ไทยคม ร่อนจดหมายถึงสื่อมวลชน ขอชี้แจงข้อพิพาทไทยคม 5

วันที่12 พ.ย 63 “อนันต์ แก้วร่วมวงศ์” ซีอีโอ ไทยคม ชี้แจงปมพิพาท 4 ข้อ

1.บริษัทได้ดำเนินการจัดส่งดาวเทียมขึ้นให้บริการครบถ้วนตามเงื่อนไขสัมปทาน จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 ตามข้อเรียกร้องดีอีเอส

2.ปัจจุบัน ยังมีดาวเทียมอีก 2 ดวง คือ ไทยคม 4 และ ไทยคม 6 ที่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้กับกระทรวงดีอีเอสแล้ว ซึ่งดาวเทียมทั้ง 2 ดวง มีอายุวิศวกรรมเกินระยะเวลาสิ้นสุดสัมปทาน ดีอีเอสสามารถนำไปบริหารจัดการต่อไปได้

3.กรณีดาวเทียมไทยคม 5 ที่ขัดข้อง และต้องปลดระวางนั้น ทางดีอีเอสก็รู้ถึงอายุการใช้งาน โดยบริษัทได้หารือกับ ดีอีเอส และ กสทช. ล่วงหน้า พร้อมแจ้งแผนการปลดระวางให้ทราบ ก่อนขออนุมัติดำเนินการ

อีกทั้งที่ผ่านมาบริษัทได้ “นำส่วนแบ่งรายได้จากลูกค้า นำส่งดีอีเอสเป็นค่าชดเชย” รวมถึงเจรจากับบริษัทประกันภัย เพื่อนำเงินสินไหมทดแทนส่งมอบต่อให้ดีอีเอส

บริษัทจึงไม่เห็นว่าทางรัฐจะเสียผลประโยชน์อะไร เพราะได้ชำระส่วนแบ่งรายได้ของดาวเทียมทั้ง 6 ดวง รวมกันกว่า 13,792 ล้านบาท

“ถ้าเราสร้างดาวเทียมไม่ดี ผิดสเปก รัฐก็ต้องปฏิเสธการรับส่วนแบ่งรายได้ตั้งแต่แรก” ซีอีโอไทยคมกล่าว

4.ไทยคมอยู่ระหว่างปรึกษาที่ปรึกษาทางกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไร คาดว่ากว่าจะถึงขั้นการตั้งอนุญาโตตุลาการ ต้องใช้ระยะเวลาอีก 1 ปี