มีไว้อุ่นใจ…ส่องแอป “หมอชนะ” ตัวช่วยยุคโควิด

โควิด-19 กลับมาระบาดระลอกใหม่ส่งท้ายปลายปี นอกจากประชาชนจะต้องระมัดระวังตนเองให้อยู่ห่างไกลพื้นที่เสี่ยง ยังมีอีกหนึ่งตัวช่วยดี ๆ อย่างแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ที่จะช่วยแจ้งเตือนประชาชนเมื่อใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือเมื่อต้องเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงทันที

สำหรับแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” จะบันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานด้วย GPS และบลูทูธ ช่วยแจ้งเตือนผู้ใช้งานเมื่ออยู่ในสถานที่เสี่ยง ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรทางแพทย์สามารถสอบสวนโรคได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงและแม่นยำมากขึ้น โดยข้อมูลของผู้ใช้บริการใน “หมอชนะ” จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแล โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งข้อมูลจะถูกใช้สำหรับการวิเคราะห์ ประมวลผล และประเมินความเสี่ยงในการสัมผัสโรคโควิด-19 เท่านั้น และหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง ข้อมูลจะถูกลบหรือทำลายภายใน 30 วัน เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล

“หมอชนะ” ใช้อย่างไร

แอปพลิเคชั่น“หมอชนะ” สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android เพียงเข้าไปที่ App Store หรือ Play Store แล้วค้นหาคำว่า “หมอชนะ” หรือ “MorChana” กดดาวน์โหลดและกดลงทะเบียน ระบบจะให้ใส่รูปโปรไฟล์ ซึ่งสามารถเลือกจากแกลลอรี่หรือถ่ายใหม่ก็ได้ จากนั้นระบบจะขอความยินยอมจากผู้ใช้บริการในการทราบตำแหน่งที่อยู่ ไทม์ไลน์การเดินทาง และเปิดการค้นหาด้วยบลูทูธ เมื่อกดยินยอมก็จะสามารถใช้ฟังก์ชั่นแจ้งเตือน เมื่อเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทันที

ต่อมา “หมอชนะ” จะให้ผู้ใช้บริการตอบคำถามประเมินอาการป่วยเบื้องต้น ผ่าน 4 คำถาม ได้แก่ มีอาการป่วยเช่นมีไข้สูง ไอ เจ็บคอ เหนื่อยหอบ อาเจียนหรือไม่ เดินทางไปต่างประเทศในระยะเวลา 14 วันหรือไม่ อยู่ใกล้ชิดกับคนที่มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันหรือไม่ และประกอบอาชีพใกล้ชิดกับชาวต่างชาติหรือไม่ เมื่อตอบคำถามเสร็จ “หมอชนะ” จะให้ QR Code ซึ่งแบ่งระดับความเสี่ยงตามสี ดังนี้

  • สีเขียว อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ต่ำมาก
  • สีเหลือง อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ต่ำ
  • สีส้ม อยู่ในระดับความเสี่ยงปานกลาง
  • สีแดง อยู่ในระดับความเสี่ยงที่สูงมาก

นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบการเดินทางแบบเรียลไทม์ เพิ่มตำแหน่งที่อยู่บ้านและตำแหน่งที่ทำงานได้ อีกทั้งยังสามารถเลือกการใช้งานได้ทั้งแบบยืนยันตัวตน โดยหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ติดต่อในกรณีฉุกเฉิน หรือใช้งานแบบบไม่ยืนยันตัวตนก็ได้

อย่างไรก็ตามการเข้าไปดูข้อมูลส่วนบุคคลจะทำต่อเมื่อมีการตรวจพบว่าผู้ใช้บริการติดโรคโควิด-19 เท่านั้น โดยผู้ใช้งานและควบคุมข้อมูลได้จะมีเพียงกรมควบคุมโรคหน่วยงานเดียว หรือ หากประชาชนสงสัยว่ามีอาการ หรือไปในพื้นที่เสี่ยง สัมผัสใกล้ชิดผู้ที่ป่วย ให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข