พุทธิพงษ์ เล็งใช้ “หมอชนะ” สแกนคนเดินทางข้ามจังหวัด

พุทธิพงษ์  เตรียมหารือใช้ “หมอชนะ” สแกนคนข้ามจังหวัด แนะกลุ่มโรงงาน-ร้านอาหารใช้สแกนพนักงาน และลูกค้าป้องกันความเสี่ยง ด้าน สพร.ตั้งเป้าคนดาวน์โหลด 30 ล้านคน เพิ่มภาษาเพื่อนบ้านรับกลุ่มแรงงาน และพัฒนาระบบหากลุ่มเสี่ยงมาตรวจเชื้อภายใน 1 วัน

วันนี้(6ม.ค64) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “NBT รวมใจสู้ภัย COVID-19” ว่า แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” และ “หมอชนะ” ถูกพัฒนามาให้ใกล้เคียงกัน โดย “ไทยชนะ” ถูกนำมาใช้เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายในปีก่อน ใช้เช็กอิน เช็กเอาท์ตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นประโยชน์สำหรับบุคคลากรแพทย์ในการสอบสวนไทม์ไลน์ของผู้ป่วย

ส่วน”หมอชนะ”ถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ที่โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ หลัก ๆ คือ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบไทม์ไลน์ของผู้ป่วยและประชาชนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการสอบสวนโรคและหยุดการแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาจะเห็นว่า มีการเปิดเผยไทม์ไลน์ผู้ป่วยในโซเชียลมีเดียตลอด ซึ่งผู้ป่วยหลายคนไม่ต้องการเปิดเผยไทม์ไลน์ หมอชนะ เพราะมีระบบจัดเก็บข้อมูลไทม์ไลน์ผู้ป่วย เมื่อพบว่าผู้ใช้งานสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก็จะส่งข้อความแนะแนวทางปฏิบัติตัวมายังแอปพลิเคชัน ข้อความจะระบุให้กักตัว 14 วันสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือหากมีความเสี่ยงสูงก็จะให้โทรติดต่อไปที่กรมควบคุมโรคเพื่อเข้ารับการรักษา

สำหรับข้อมูลผู้ใช้งานในหมอชนะจะมีเพียงไทม์ไลน์การเดินทางของผู้ใช้งานและภาพถ่ายเท่านั้น  โดยผู้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลจะมีเพียงกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขณะที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจะมีหน้าที่พัฒนาแอปพลิเคชันและประมวลผลข้อมูล

“คิวอาร์โค้ดสามสีของแอปฯ หมอชนะ คือ “เขียว ส้ม แดง” จะแบ่งตามความเสี่ยง นอกจากจะใช้เตือนผู้ใช้งานเมื่อสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยแล้ว อีกนัยหนึ่งยังมีประโยชน์กับผู้ประกอบการทั้งร้านค้าที่สามารถสแกนตรวจสอบผู้ใช้บริการได้ว่า เป็นบุคคลเสี่ยงหรือไม่ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงงานถือว่ามีประโยชน์สำหรับบันทึกไทม์ไลน์ของพนักงาน เพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังเร่งหารือร่วมกับฝ่ายความมั่นคง เตรียมใช้หมอชนะตรวจสอบประชาชนที่เดินทางข้ามจังหวัดทุกเส้นทางตั้งแต่สนามบิน สถานีรถไฟ และด่าน แต่จะประกาศใช้เมื่อไรนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของประชาชน  และเจ้าหน้าที่ที่จะต้องเรียนรู้ระบบให้คุ้นชินก่อน”

นายพุทธิพงษ์ ย้ำว่า จะเห็นว่า เริ่มมีแอปพลิเคชันเช็กไทม์ไลน์ในลักษณะเดียวกับหมอชนะจากเอกชนผุดขึ้นมาหลายเจ้า ซึ่งประชาชนสามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวก แต่อยากจะขอให้ประชาชนใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้ให้น้อยที่สุด ยกตัวอย่างที่ก่อนหน้านี้แต่ละจังหวัดมีแอปพลิเคชันป็นของตนเอง ภายหลังก็ยกเลิกไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐสอบสวนโรคได้ง่าย ไม่เกิดความสับสน

ด้านดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือสพร. กล่าวว่า ปัจจุบันหมอชนะมียอดดาวน์โหลดเกิน 1 ล้านครั้งแล้ว โดยสัปดาห์ที่มาหลังมีการประชาสัมพันธ์ไปในสื่อต่าง ๆ พบว่ามียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นวันละ 1 หมื่นคน และมีผู้ใช้งานแอคทีฟรายวันอยู่ที่ 4 แสนคน ตั้งเป้าผู้ใช้งานอยู่ที่ 30 ล้านคน และเร่งพัฒนาระบบให้กรมควบคุมโรคสามารถติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงเพื่อมาตรวจหาเชื้อได้ภายในเวลา 1 วัน นอกจากนี้ยังเตรียมเพิ่มภาษาสำหรับแรงงานเพื่อนบ้านอย่างลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา และเพิ่มการประชาสัมพันธ์ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ลงในแอปพลิเคชันด้วย