จับตา 7 (ว่าที่) อรหันต์ กสทช. พลิกล็อกตัวเต็งวืดยกแผง เกมใหม่ธุรกิจสื่อสาร-บรอดแคสต์ ?

กสทช.

สิ้นสุดการรอคอย สำหรับการสรรหากรรมการ กสทช.ชุดใหม่ เมื่อคณะกรรมการสรรหา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์ และเสนอรายชื่อให้วุฒิสภาแล้ว เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา

ผู้ผ่านคัดเลือก 7 ราย 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านกิจการกระจายเสียง พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม

4.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 5.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน นายต่อพงศ์ เสลานนท์

ที่ปรึกษาประจำรองประธาน กสทช. 6.ด้านกฎหมาย ร้อยโท ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ 7.ด้านเศรษฐศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็น 7 ว่าที่ กสทช.จากผู้สมัคร 78 คน (รอบก่อนมีผู้สมัคร 80 คน) โดยบรรดาตัวเต็งตบเท้ามาสมัครกันคึกคัก แต่ผ่านเข้าไปไม่ถึงรอบสุดท้าย ซึ่งถือได้ว่า “เซอร์ไพรส์” ไม่ว่าจะเป็นนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช.,

พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์, นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บมจ.ไปรษณีย์ไทย, นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นต้น

การคัดเลือกรอบนี้แตกต่างไปจากครั้งก่อนตรงที่รอบที่แล้วจะเลือก 7 ด้าน ด้านละ 2 คน รวม 14 คน แล้วส่งให้วุฒิสภาเลือก 1 ใน 2 ของผู้ผ่านการคัดเลือกแต่ละด้านอีกที

แต่หนนี้เคาะเลือกเองกับมือด้านละ 1 คน ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา กสทช. ก่อนส่งไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งก็ต้องมาลุ้นกันต่อว่าจะเห็นชอบตามที่เสนอทั้งหมดหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหา กสทช.ก็ยังใช้สิทธิตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้

1 ใน 78 ผู้สมัครกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลการคัดเลือก บอร์ด กสทช.รอบนี้ยังปรากฏรายชื่อผู้ที่เคยมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติ กลับเข้ามามีชื่ออยู่ในผู้ผ่านคัดเลือกด้วย

อีกทั้งยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเกณฑ์ในการคัดเลือก โดยเฉพาะการวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้สมัครบางรายที่ไม่ได้รับเลือกด้วยเหตุที่ว่าเข้าข่ายเป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. รวมถึงลาออกจากตำแหน่งไม่ครบ 1 ปี เป็นต้น

“กรณีนายฐากร กรรมการสรรหาเห็นว่าพ้นวาระเลขาธิการ กสทช.ไม่ถึง 1 ปีก่อนปิดรับสมัครทำให้พ้นจากตำแหน่ง ผอ.วิทยุ 1 ปณ.ไม่ครบ 1 ปีด้วย เช่นกันกับพลโทสรรเสริญ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์”

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สมาชิกวุฒิสภาอาจไม่โหวตผ่านทั้ง 7 ด้านก็ได้ ซึ่งตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ระบุว่า หากเกิดกรณีไม่ให้ความเห็นชอบ ผู้ได้รับการเลือกรายใดตามมาตรา 16 วรรค 2 ให้กรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาบุคคลใหม่แทนผู้นั้นแล้วเสนอวุฒิสภาให้ความเห็นชอบต่อไป

ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 5 คน ให้สำนักเลขาธิการวุฒิสภาจัดให้ผู้ได้รับเลือกประชุมร่วมกัน เพื่อเลือกคนหนึ่งคนใดเป็นประธานกรรมการแล้วแจ้งต่อประธานวุฒิสภารับทราบ เพื่อแจ้งนายกรัฐมนตรี

และเมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้ว ให้กรรมการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจได้ โดยให้ถือว่า กสทช.ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ และให้ดำเนินการสรรหาเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องสรรหาต่อไป

เท่ากับว่าถ้าสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบ 5 ใน 7 คน บอร์ด กสทช. ชุดใหม่ก็จะปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ครบ 7 ด้าน และหากมีการฟ้องคดีเกี่ยวกับการสรรหาของกรรมการ

ต่อศาลปกครอง การฟ้องคดีดังกล่าวก็จะไม่เป็นเหตุให้ระงับหรือชะลอการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการสรรหาที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เว้นแต่ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

และคงต้องจับตาว่า เมื่อวุฒิสภาได้รับรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกแล้วจะลงมติก่อนปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 18 ก.ย.นี้ หรือลงมติในช่วงเปิดสมัยประชุมสภารอบหน้าวันที่ 1 พ.ย. 2564