คุยกับ “อ.ปวีร์ เจนวีระนนท์” อุปสรรคกฎหมายกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

ผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ผลักดันให้ทุกธุรกิจต้องทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลมากขึ้น และหันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น โดยคลาวด์คอมพิวติ้ง ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้าช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับเพิ่มโอกาสให้สามารถแข่งขันได้ในปัจจุบัน

แต่จำนวนข้อมูลที่เพิ่มขึ้น ทำให้เอกชนเริ่มกังวลการเก็บและการขอข้อมูลจากรัฐ ที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต จนอาจจะส่งต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ต่อภาพรวมเศรษฐกิจและเป้าหมายการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “อ.ปวีร์ เจนวีระนนท์” อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล

และด้านการกำกับดูแลเครือธนาคารโลก (World Bank Group) หลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับข้อกฎหมาย และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย

ตั้ง Trusted Cloud Principles

“อ.ปวีร์” กล่าวว่าวิกฤตโควิด-19 ทำให้ทุกธุรกิจทรานส์ฟอร์มตนเองสู่ดิจิทัลมากขึ้น และคลาวด์เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจจากแนวโน้มในการใช้งานคลาวด์ที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีปริมาณข้อมูลที่ต้องจัดเก็บในระบบเพิ่มขึ้นมากด้วย

ทำให้ผู้ให้บริการคลาวด์เริ่มมีความกังวลในประเด็นเกี่ยวกับการเก็บ และการขอข้อมูลจากภาครัฐว่าอาจไปกระทบหรือละเมิดข้อมูลของลูกค้าทำให้โดยที่ผ่านมาผู้ให้บริการคลาวด์ 8 บริษัท

ได้แก่ อเมซอน, กูเกิล, ไมโครซอฟท์,ไอบีเอ็ม, Salesforce, Atlassian และซิสโก้ ได้มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่ม Trusted Cloud Principles เพื่อนำเสนอหลักการในการเก็บรักษา และขอข้อมูล

“เช่น ภาครัฐควรต้องขอข้อมูลจากลูกค้าโดยตรง แทนการขอจากผู้ให้บริการคลาวด์ โดยลูกค้าควรได้รับการแจ้งเตือนหากมีหน่วยงานของรัฐมาขอข้อมูล อีกทั้งผู้ให้บริการคลาวด์ควรจะต้องมีกระบวนการอุทธรณ์การขอข้อมูลจากภาครัฐด้วย เป็นต้น

ทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัย และรักษาสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการคลาวด์”

กรอบชัด-เพิ่มความน่าเชื่อถือ

“ปวีร์” ระบุว่าเป้าหมายในการกำหนดหลักการพื้นฐานของระบบคลาวด์ที่น่าเชื่อถือคือ การปกป้องสิทธิของลูกค้าในกรณีที่หน่วยงานรัฐต้องการเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าในระบบคลาวด์

โดยหากภาครัฐต้องการเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าในระบบคลาวด์ เจ้าของข้อมูลต้องมีสิทธิได้รับการแจ้งเตือน หรือต้องมีหลักการกระบวนการในการขอให้ทบทวนการขอข้อมูลเจ้าของข้อมูล

เพื่อสร้างความชัดเจนในการออกกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ให้เอกชนมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนและโปร่งใส เพื่อให้ทุกส่วนมีความเชื่อมั่น และไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เพราะถ้ากฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ มีความชัดเจนก็จะดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนเข้ามาได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีกฎหมาย ข้อบังคับ และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลแล้ว เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่แม้ว่าจะมีเลื่อนการบังคับใช้ออกไป

แต่ถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งยังมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องในลักษณะที่ว่า การให้อำนาจเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการขอข้อมูลจากผู้ให้บริการได้

รวมไปถึงประกาศหลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. 2564

“ทั้งหมดจะโยงกลับมาที่เรื่องของการจัดเก็บข้อมูล ทำให้หลักเกณฑ์พื้นฐานเหล่านี้จำเป็นต้องมี เนื่องจากรูปแบบแนวทางการทำธุรกิจเปลี่ยนไป ทุกอย่างกลายเป็นดิจิทัล มีเรื่องของการเก็บข้อมูลเข้าเกี่ยวข้อง”

เจาะลึกอุปสรรคเศรษฐกิจดิจิทัล

“ปวีร์” กล่าวต่อว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ทำโครงการร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) โดยเก็บข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรม ทั้งในเชิงกฎเกณฑ์ กฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้าและการลงทุน

เพื่อศึกษาว่าอะไรคืออุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลในเชิงนโยบาย กฎเกณฑ์ ข้อกฎหมายในการพัฒนาประเทศสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล พบว่าเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมีผลต่อการพัฒนาประเทศ

ทั้งคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์มีบทบาทต่อการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งยังพบว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลได้ดีอยู่แล้วประมาณหนึ่ง แต่ควรดำเนินการทำต่อเนื่อง และจริงจังมากขึ้นเพื่อคว้าโอกาสเหล่านี้ไว้

อย่างไรก็ตาม นโยบายและกฎเกณฑ์ด้านการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นสุดท้ายแล้วต้องให้ข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นกับประชาชน

คุ้มครองข้อมูลต่อยอดธุรกิจ

“ถ้าตั้งต้นว่าข้อมูลมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดนวัตกรรม และพัฒนาการต่าง ๆ ของประเทศไทย จะพบว่าที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ทั้งการพยายามสร้างศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (open government data) เพื่อทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน

ซึ่งมีบางธุรกิจสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากนำข้อมูลจากภาครัฐมาต่อยอดพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่น ตลอดจนการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามพรมแดน เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม

ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่้ยงไม่ได้ ดังนั้นอาจต้องกลับมาพิจารณาว่า ควรต้องมีมาตรฐานในการคุ้มครองข้อมูล หรือการโอนข้อมูลระหว่างประเทศเหล่านี้ด้วยหรือไม่”

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า รัฐบาลพยายามออกกฎหมาย กฎเกณฑ์เกี่ยวกับข้อมูลที่เข้มแข็งขึ้นทั้งหมดเป็นแนวทางที่ดี เพราะรัฐเองพยายามเปิดรับฟังความคิดจากภาคธุรกิจ

และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น มากกว่าที่จะออกเป็นกฎหมายแล้วกำหนดว่าต้องทำเหมือนที่ผ่านมา

ยกตัวอย่างกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดสนามทดลองที่มีหน่วยงานกำกับคอยดูแล หรือ regulatory sandbox เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการฟินเทคสตาร์ตอัพคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ได้มีโอกาสทดลองใช้จริง ถือเป็นแนวทางที่ดีรวมถึงการเปิดกว้างให้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ธุรกิจได้

“มาถึงจุดนี้ อาจมองว่าคลาวด์และข้อมูล กำลังเข้าไปเกี่ยวข้องกับทั้งผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ใช้บริการ ถ้ามีการจัดเก็บข้อมูลที่ดี โดยไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนก็จะสามารถกำหนดนโยบายได้ดีขึ้น

อีกทั้งรัฐและเอกชนยังสามารถต่อยอดและนำข้อมูลไปใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ตรงจุดยิ่งขึ้น ก็จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ไปพร้อมกัน”

ปลดล็อกข้อจำกัดดึงนักลงทุน

จากการศึกษาที่ผ่านมายังพบอีกว่าปัญหาหลัก ๆ ที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเดินหน้าสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องมาจาก 1.กฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน สร้างภาระให้ผู้ประกอบการเกินจำเป็น ทำให้นักลงทุนไม่เข้ามาลงทุน

ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ ลดขั้นตอนความยุ่งยากด้านเอกสารหรือการให้ขอยื่นเอกสารผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

2.ความชัดเจนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ภาครัฐอาจพิจารณาประกอบกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องออกมาด้วย ขณะที่ภาคธุรกิจมีความกังวลว่า กฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องจะเป็นอย่างไร

3.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีจำกัดเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ และสุดท้าย 4.ทักษะแรงงาน เนื่องจากการพัฒนาทักษะของคนดิจิทัลเพิ่มขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้เร็วที่สุด เพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติเข้ามา