TKC ปรับสูตรธุรกิจโกดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มองค์กรรับโลกเปลี่ยนเร็ว

เทคโนโลยีดิสรัปต์กระตุ้นให้ทุกองค์กรต้องทรานส์ฟอร์มสู่ “ดิจิทัล” โดยมีวิกฤตโควิด-19 เร่งให้เร็วขึ้น

ไม่เว้นแม้แต่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโดยตรงก็ยังต้องปรับตัวให้ทัน และเตรียมองค์กรให้พร้อมสำหรับอนาคตที่เปลี่ยนเร็ว”

“TKC” หรือ บมจ.เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส เป็นหนึ่งในนั้น หลังปักหลักก่อร่างสร้างธุรกิจมาเกือบ 20 ปี ในฐานะที่ปรึกษา รับงานออกแบบ ติดตั้ง วางระบบสื่อสาร และบริการที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมโทรคมนาคมและระบบสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ มีลูกค้า-คู่ค้าในวงการสื่อสารมากมาย ทั้งรัฐและเอกชน ตั้งแต่ กสทช., หัวเว่ย, เอ็นที ไปจนถึงค่ายมือถือ

ปรับสูตรธุรกิจโก “ดิจิทัล” ครบวงจร

“สยาม เตียวตรานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในอนาคตจะกลายเป็นดิจิทัลทั้งหมด

ส่งผลให้บริษัทต้องเปลี่ยนตนเองมุ่งไปยังการเป็น digital solution provider ที่มีบริการใหม่ตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งก็คือบริการที่ขึ้นต้นด้วย “Smart” ทั้งหลาย เช่น smart healthcare, smart education, smart farm, smart logistic เป็นต้น รวมไปถึงงานด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่จะเป็นเทรนด์

“เพราะภัยไซเบอร์ เป็นภัยที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น เป็นเรื่องที่ทุกอุตสาหกรรมต้องลงทุน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แบงก์, ไฟฟ้า, น้ำ ในไทยเป็นเรื่องใหม่ ยังไม่มีใครกล้าบอกว่าใครเป็นผู้นำ เราจึงต้องเริ่มเข้าไป

โดยจับมือกับพันธมิตรที่ทั่วโลกยอมรับ บริษัทที่เก่งด้านนี้ มีทั้งอิสราเอลและรัสเซีย โดยทำหลายเรื่อง ทั้งการจัดอบรมทีมวิศวกร จัดอบรมให้ลูกค้า โดยทำงานร่วมกับ สกมช. (สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ)”

ลุยระดมทุนเพิ่มสปีดแข่งขัน

นอกจากนี้ ยังเตรียมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 78 ล้านหุ้นแล้ว เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ และนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้ธุรกิจเดิมที่ยังเติบโต

โดยโครงสร้างธุรกิจของบริษัทมุ่งไปยัง 3 กลุ่ม 1.โครงการรับเหมาแบบเบ็ดเสร็จ ให้บริการรับเหมาออกแบบ วางระบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้ง ทดสอบ และบำรุงรักษางานวิศวกรรมในสายงานระบบโทรคมนาคม ระบบสื่อสารข้อมูลและระบบความปลอดภัยสาธารณะ

2.งานบริการวิศวกรรม และงานบำรุงรักษาระบบงานโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้ประจำ

และ 3.การจัดจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบโทรคมนาคม ระบบสื่อสารข้อมูล และระบบความปลอดภัยสาธารณะ

“แผนลงทุนต้องสอดคล้องกับเงินระดมทุนที่จะได้มา เช่น ลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นโครงการสมาร์ทต่าง ๆ ช่วงแรกอาจยังไม่ออกดอกออกผล แต่เชื่อว่าจะค่อย ๆ เติบโต และผลักดันให้บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำด้านดิจิทัลโซลูชั่นครอบคลุมทั้งโทรคมนาคมและไอซีที”

ประสบการณ์แน่นปึ้ก

“สยาม” เล่าย้อนไปถึงช่วงก่อตั้งบริษัทว่า หลังเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้า และปริญญาโทคอมพิวเตอร์โทรคมนาคมแล้วก็ทำงานหาประสบการณ์ที่อเมริกาต่อ เริ่มจากบริษัทโมโตโรล่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบระบบ และทดสอบสัญญาณคลื่นวิทยุ (radio-frequency : RF) ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น และเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำมาใช้ประโยชน์อย่างมากเมื่อมาตั้งบริษัทเอง ทำไปสักพักก็ย้ายไปอยู่บริษัทที่วางระบบโทรศัพท์ให้สปรินต์ (ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในอเมริกา) ก่อนกลับเมืองไทยตอนอายุ 30 ปี

“ย้อนไปตอนเป็นเด็ก ไม่รู้ว่าอยากเรียนหรือเป็นอะไร แต่ในครอบครัวผม ส่วนใหญ่เป็นหมอ เป็นวิศวกร คุณพ่อ (รศ.นพ.ปรีชา เตียวตรานนท์-ศัลยแพทย์ชื่อดัง) อยากให้เป็นวิศวกร เลยส่งไปเรียนที่อเมริกาตั้งแต่อายุ 15 ปี จบตรี-โทที่นั่น

กลับมาไทยก็ไปสมัครงานบริษัทโน้นนี้ได้ที่แรกที่ซิเลซติกา (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นโรงงานผลิต RF ระดับท็อป ๆ ของโลก ทำได้ 1 ปี ก็คิดอยากจะเปิดบริษัทเอง แต่คิดว่าความรู้ที่มีอาจยังไม่พอ เพราะเรียนจบมาทางสายงานวิศวะ จึงคิดว่าควรไปทำงานบริษัทไทยให้รู้ว่าเขาคิด ทำงานกันอย่างไรก่อนดีกว่า ก็ไปสมัครที่ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส ตอนนั้นทำโปรเจ็กต์เกี่ยวกับมือถือหลายอย่าง” ก่อนที่จะตัดสินใจออกจากล็อกซเล่ย์ มาตั้งบริษัทของตนเองในเดือนมีนาคม 2546

ประสบการณ์ทั้งหมดเชื่อมโยง และเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจที่ทำจนถึงปัจจุบัน

จุดพลิกผันอัพสปีดโต

“ตอนทำงานที่บริษัทอเมริกันจะเกี่ยวกับระบบโทรศัพท์มือถือที่ใช้เทคโนโลยี CDMA ฝั่งอเมริกาเด่นเรื่อง CDMA แต่ฝั่งยุโรปใช้เทคโนโลยี GSM ช่วงนั้นประเทศไทยใช้ GSM แต่การมาของโอเปเรเตอร์รายใหม่ในตอนนั้น คือ ฮัทช์ ถ้ายังจำกันได้ (ภายหลังทรูซื้อกิจการฮัทช์) ที่ให้บริการซีดีเอ็มเอใน 25 จังหวัดโซนภาคกลาง

เป็นจังหวะที่ผมตั้งบริษัทได้ไม่นาน ก็มีโอกาสเข้าไปทำตรงนี้ จึงถือเป็นจุดพลิกจุดแรกของเรา เพราะฮัทช์ใช้ CDMA ใช้เน็ตเวิร์กของโมโตโรล่าก็เริ่มมีงานเข้ามาเรื่อย ๆ”

เมื่อจังหวะและโอกาสลงตัว ทำให้ธุรกิจไปต่อได้อย่างรวดเร็ว

“สยาม” เล่าว่า จุดพลิกสำคัญ คือ การเข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทยของมังกรจีน “หัวเว่ย” ซึ่งในเวลานั้นยังถือว่าใหม่มาก และหัวเว่ยต้องการวิศวกรคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้

จึงเป็นโอกาสในการเข้าไปรับงานจากหัวเว่ย และต่อมาได้งานจาก SK TELESYS บริษัทลูกเครือเอสเคกรุ๊ป เกาหลีใต้ ที่ได้งาน CAT (ปัจจุบัน คือ เอ็นที-บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ) สร้างเครือข่ายมือถือ CDMA โดย SK TELESYS ได้งานภาคใต้ทั้งภาคแล้วขยายไปภาคเหนือ TKC จึงได้เข้าไปทำด้วย

“SK ส่งคนมาเป็น project director ทำงานร่วมกับทีมวิศวกรของเราเกือบทั้งหมด”

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ TKC มีโอกาสเข้าไปทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ พร้อมไปกับได้เรียนรู้งานจากบริษัทเอสเค ทั้งด้านการบริหารจัดการ และเทคโนโลยีโมบายเน็ตเวิร์กต่าง ๆ

“ต่อมาหัวเว่ยได้งานเอไอเอส ก็ดึงเราเข้าไป เหมือนเป็นพันธมิตรทำงานคู่กันกับเขา เมื่อเขาใหญ่ขึ้นเราก็ใหญ่ขึ้นไปด้วย ต้องขยายคนมารับงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้ในแง่รายได้ และจำนวนบุคลากรเติบโตต่อเนื่อง”

เรียกว่าโตก้าวกระโดดก็น่าจะได้

แก้โจทย์ “ทุน-บุคลากร” รับโอกาสโต

อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทได้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้องหาทั้งเงินลงทุนและบุคลากรเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่ง “สยาม” ยอมรับว่าในฐานะผู้นำองค์กร ทำให้เขาต้องวางแผนการบริหารงานให้สอดคล้องกัน โดยยกตัวอย่างว่า โครงการต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นสัญญาระยะการทำงานแบบ 3-5 ปี จึงต้องวางแผนล่วงหน้าทั้งในแง่การจ้างงาน และอื่น ๆ

“เรื่องเงินทุน ยอมรับว่าการเข้าระดมทุนในตลาด ทำให้เรามีเครื่องมือในการหาทุนมากขึ้น จากเดิมผมใช้วิธียืมเงินพ่อ (หัวเราะ) ส่วนปัญหาขาดแคลนบุคลากรต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด เพราะถ้ามองง่าย ๆ เวลาค่ายมือถือไปประมูลคลื่นความถี่ ได้คลื่นมาแล้วจะมีกำหนดเวลาว่าต้องขยายพื้นที่บริการให้ได้เท่าไรภายในเมื่อไร และไม่ได้มีแค่โอเปอเรเตอร์รายเดียวที่ต้องทำ นั่นทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ เพราะบริษัทที่ได้งานก็ต้องรับคนเพิ่มมาทำงาน แต่โชคดีที่เราให้ความสำคัญกับการบริหารบุคลากร ทำให้การเทิร์นโอเวอร์ค่อนข้างต่ำมาก”

“สยาม” เล่าว่า สไตล์การบริหารงานของเขาให้ความสำคัญกับทีมงาน โดยบริษัทมีการวางเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (career path) ที่ชัดเจน โดยไม่ลืมการเพิ่มแรงจูงใจต่าง ๆ เช่น การส่งบุคลากรไปอบรมทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น

“พนักงานรุ่นก่อตั้งบริษัททุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็ยังทำงานอยู่กับเราจนถึงปัจจุบัน”

เปิดรายได้ย้อนหลัง 3 ปี

สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้โตต่อเนื่อง โดยในปี 2561 รายได้รวม 3,669.65 ล้านบาท กำไรสุทธิ 216.50 ล้านบาท ปี 2562 รายได้ 4,907.25 ล้านบาท กำไรสุทธิ 423.03 ล้านบาท และปี 2563 รายได้รวม 2,881.92 ล้านบาท กำไรสุทธิ 232.85 ล้านบาท

ขณะที่ในครึ่งปีแรกปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) รายได้รวม 1,374.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.52% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 152.62 ล้านบาท จากงานโครงการกว่า 70% และรายได้จากงานบริการและบำรุงรักษากว่า 29% ที่เหลือเป็นรายได้จากงานจัดจำหน่าย มีลูกค้าเป็นเอกชน 35-40% และภาครัฐ 60-65%