เจ เวนเจอร์ส จุดพลุ NFT ต่อจิ๊กซอว์เชื่อมธุรกิจมัดใจลูกค้า

ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ JFIN
ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์
สัมภาษณ์พิเศษ

ปัจจุบันความนิยมสินทรัพย์ดิจิทัลยังพุ่งขึ้นไม่หยุด แม้ราคาคริปโตเคอร์เรนซี จะขึ้นเร็วลงเร็วจากปัจจัยต่าง ๆ “เจ เวนเจอร์ส” เป็นบริษัทไทยรายแรก ๆ ที่สร้างแซนด์บอกซ์ นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ และขาย ICO (initial coin offering) เป็นรายแรกๆ ล่าสุดปลุกกระแส NFT (nonfungible token) สร้างพื้นที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนผลงานศิลปะให้เหล่าครีเอเตอร์

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยอัพเดตแผนงาน และมุมมองเกี่ยวกับ NFT และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กับ “ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือเจมาร์ทอีกครั้ง

Q : การเติบโตตลาด NFT ในไทย

คนทั่วไปมองตลาด NFT เป็น 2 มุม มุมมองแรก เรียกว่าเป็นความบ้าบอ ทั้งการสร้างเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีที่เกิดขึ้นจำนวนมาก หรือผลงานศิลปะที่เป็น NFT บางผลงานโดนประมูลไปในราคาสูง แต่ในอีกมุมมองที่เรามอง คือ เราเชื่อเรื่องกลไกของเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งอยู่เบื้องหลังภาพใหญ่ทั้งหมด ปัจจุบันตลาด NFT ในไทยได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ยังต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างการรับรู้ ทำให้เกิดการทดลองใช้ เสมือนเฟซบุ๊กที่ในช่วงแรกที่คนรู้สึกว่าทำไมต้องเข้าไปเล่น แต่ถ้าเกิดแล้วจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

Q : จุดเด่นของ JNFT Marketplace

JNFT Marketplace เป็นแพลตฟอร์ม NFT สัญชาติไทย หลังเปิดตัวปลายปี 2564 ถึงปัจจุบันมีผลงานศิลปะจากศิลปินและครีเอเตอร์เข้ามาขายกว่า 700 ชิ้น คาดว่าจะโตขึ้นเรื่อย ๆ เราต่างจากรายอื่น คือเป็น marketplace ที่สนับสนุนผลงานศิลปิน ไม่จำกัดว่าต้องเป็นครีเอเตอร์หน้าใหม่หรือเก่าก็เข้ามาใช้กลไกเทคโนโลยีสร้างผลงานที่เป็น NFT มีช่องทางในการสร้างรายได้ ที่่ผ่านมาผลงานที่ขายได้ราคาสูงที่สุดอยู่ที่ 1 ล้านกว่าบาทในอนาคตอาจขายได้ในมูลค่าสูงขึ้น

เรายังจะขยายผลงาน NFT ไปในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ สถาบันการเงิน ปัจจุบันจับมือกับเจมาร์ทโมบาย, ซิงเกอร์ และโมเดอร์นฟอร์ม กรุ๊ป สร้างผลงาน NFT มาต่อยอดสร้างสิทธิประโยชน์ให้ภาคธุรกิจ ทำให้ NFT เป็นมากกว่าแค่ผลงานศิลปะ เช่น เจมาร์ทโมบายมีเจเบิร์ด มาสคอตดิจิทัล ในอนาคตอาจนำมาทำเป็นสินค้าพรีเมี่ยม หรือ NFT เจเบิร์ดซีซั่นต่าง ๆ แบบลิมิเต็ดเอดิชั่น เป็นต้น

Q : NFT ทำได้ตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต.

NFT Marketplace ทำได้ ผลงานศิลปิน NFT เหล่านี้ ก.ล.ต.อนุญาตให้ขาย เปลี่ยนมือได้ เพราะภาพเหล่านี้ไม่มีเรื่องสิทธิประโยชน์อื่น ๆ มาเกี่ยว ใน 1 ภาพจะมี 1 ลิงก์ ถ้าภาพนั้นโดนทำลาย เหรียญก็จะหายไปด้วย และไม่สามารถนำไปซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ แตกต่างจากยูทิลิตี้โทเค็น (utility token) ซึ่งเป็นเหรียญที่มีสิทธิประโยชน์ ซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจัดอยู่ภายใต้กำกับของพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

Q : แนวโน้มตลาด NFT ในอนาคต

NFT เกิดมาจากเกม จากการซื้อขายอาวุธ หรืออุปกรณ์บางอย่างในเกม แต่วันนี้กำลังนำ NFT มาใช้กับการสร้างรายได้ให้งานศิลปะ ในอนาคตจะเห็นการนำ NFT กับเมตาเวิร์สมาใช้ในเชิงธุรกิจหลายบริษัทกำลังปรับเปลี่ยนตนเองเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้า เมื่อซื้อของแล้วจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม

Q : การห้ามนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ

เป็นสเต็ปที่ค่อย ๆ เรียนรู้กันไป การออกหลักเกณฑ์นี้มาจากแบงก์ชาติที่กังวลว่าจำนวนผู้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลจะเพิ่มขึ้น ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพเงินบาท จึงไม่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยคริปโตเคอร์เรนซี เช่น กรณีศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลร่วมกับศูนย์การค้าในการรับชำระค่าสินค้าและบริการเป็นสกุลเงินคริปโต อาจกระทบเสถียรภาพเงินบาท ซึ่งแบงก์ชาติไม่มีกฎหมายควบคุมส่วนนี้ จึงให้ ก.ล.ต.ดูแลผู้ได้รับใบอนุญาต เช่น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล, นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น หลักเกณฑ์ดังกล่าว ไม่ห้ามการออกโทเค็น ไม่ได้ห้ามร้านค้า ร้านกาแฟ รับชำระด้วยคริปโตเคอร์เรนซี แต่ ก.ล.ต.กำลังห้ามผู้ประกอบการสินทรัพย์ภายใต้การกำกับดูแล

Q : ธุรกิจชะลอการออกโทเค็นหรือไม่

ภาคธุรกิจยังออกโทเค็นในลักษณะยูทิลิตี้โทเค็น ซึ่ง ก.ล.ต.เห็นว่าจุดนี้อาจยังมีช่องโหว่ ในอนาคตอาจมีหลักเกณฑ์ใหม่ออกมาคุม เช่น กำหนดให้เหรียญเหล่านี้มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดจึงจะออกได้จะช่วยดับความร้อนแรงของตลาดโทเค็นได้ เพราะต้องยอมรับว่ามีเหรียญบางกลุ่มออกมาหลอกลวง ผู้ลงทุนไม่รู้ว่าเหรียญไหนดีไม่ดี แต่ซื้อไว้ก่อน หากมีหลักเกณฑ์ใหม่ออกมาควบคุมยูทิลิตี้โทเค็น จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโดยรวม มองว่าหลักเกณฑ์ใหม่ที่ออกมานี้เป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะถ้าห้ามตั้งแต่วันแรก เทคโนโลยีก็จะไม่เกิด ภาครัฐก็ไม่ได้เรียนรู้

Q : กระทบ JFIN Coin หรือไม่

JFIN Coin ไม่ได้รับผลกระทบ หน้าที่หลักเจเวนเจอร์ส คือนำบล็อกเชนมาใช้ในอีโคซิสเต็มของกลุ่มเจมาร์ท ที่ผ่านมาได้ทำแซนด์บอกซ์ เมื่อทำเสร็จก็ให้ ก.ล.ต.มาดู เปิดให้ทดลองใช้ เรียกว่า ศึกษาและพัฒนาไปเรื่อย ๆ ท้ายสุดแล้ว ถ้า ก.ล.ต.มีมุมมองอย่างไร หรือจะให้ปรับแก้ก็ต้องดำเนินการตาม

Q : ทิศทาง JFIN Coin

JFIN Coin เป็นกลไกในการซื้อขายในกลุ่มเจมาร์ทเราค่อย ๆ สร้างอีโคซิสเต็ม JFIN Coin ขึ้นมา ปัจจุบันนำมาใช้ในกลุ่มเจมาร์ทได้ทุกส่วน ผ่านแคมเปญลด แลก แจก ออม เช่น นำ JFIN Coin มาแลกสมาร์ทโฟน ล่าสุดร่วมกับกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป ซึ่งถือหุ้นในเจมาร์ท นำคะแนนแรบบิท รีวอร์ดส มาแลกสินค้าและบริการในเครือ เช่น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ค่าส่งสินค้า เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เป็นต้น

เท่ากับว่า การใช้ JFIN Coin ยังอยู่ในระบบปิด ที่เชื่อมโยงกับบริษัทในเครือ ในระบบ point system เป็นการบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM มากกว่า ในอนาคตจะนำออกไปใช้นอกเครือมากขึ้น แต่สิ่งที่บริษัทเตรียมไว้ ก็คือ JFIN Credit นำ JFIN Coin มาวางเป็นหลักค้ำประกันแล้วปล่อยกู้ ให้วงเงินตามเงื่อนไขที่กำหนด นำไปซื้อสินค้าและบริการในเครือเจมาร์ท