ทูซีทูพีผนึกแอนท์ไฟแนนซ์ เสริมแกร่งธุรกิจปักธงขยายการลงทุนทั่วโลก

ทูซีทูพี

“ทูซีทูพี” เผยกลยุทธ์ธุรกิจปี’65 เดินหน้าจับมือแบรนด์ระดับโลกขยายฐานการค้า พร้อมเปิดทาง “แอนท์ไฟแนนซ์” ถือหุ้นใหญ่กว่า 50% เสริมแกร่งธุรกิจเพย์เมนต์ ปักธงลงทุนเพิ่มทั้งในตลาดเอเชีย และยุโรป ตั้งเป้าปั๊มรายได้โต 20% ทะลุ 2,000 ล้านบาทในสิ้นปี

วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 นายปิยชาติ รัตน์ประสาทพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่มแอนท์ ไฟแนนซ์ ในเครือยักษ์อีคอมเมิร์ซอาลีบาบา โดยในเบื้องต้นแอนท์ฯ จะเข้ามาถือหุ้นใหญ่กว่า 50%

คาดว่าภายในไตรมาส 2/2565 น่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด และเชื่อว่าการประสานความร่วมมือระหว่างกันจะทำให้การขยายธุรกิจของทั้งคู่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

“เรากับกลุ่มแอนท์ฯรู้จักกันมานานแล้ว เขารู้ว่าความแข็งแกร่งของทูซีทูพีอยู่ตรงไหนจึงสนใจเข้ามา ซึ่งเรายอมให้เขาเข้ามาก็จากวิชั่นที่ตรงกัน ที่จะสร้างการเติบโตด้านดิจิทัลเพย์เมนต์ แอนท์ฯแข็งแกร่งด้านวอลเลต ทั้งในจีน และนอกจีน มีไลเซนส์ในหลายประเทศ แต่ในเซาต์อีสเอเชีย เราแข็งแกร่งกว่า มีเครือข่ายร้านค้า และช่องทางมากที่สุดจึงจะมาเสริมกันได้”

อย่างไรก็ตาม ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาในการดำเนินธุรกิจเพื่อก้าวไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินระดับโลก

บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ย 30-50% ต่อปี แม้ในช่วงโควิดใน 2 ปีที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยว และการบิน ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญของบริษัทจะได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่ก็มีการเติบโตของธุรกิจอื่น ๆ ที่มียอดขายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นมากเข้ามาทดแทนทำให้ยังสามารถรักษาระดับการเติบโตเอาไว้ได้

สำหรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจในปี 2564 ยังคงเดินหน้าเป็นผู้เชื่อมต่อระหว่างแบรนด์ระดับโลกเข้าถึงตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเชื่อมต่อบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เข้าถึงลูกค้าทั่วโลก โดยตั้งเป้าผลักดันการเติบโตในแง่รายได้ไม่น้อยกว่า 20% ภายในสิ้นปี เพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ราว 2,000 ล้านบาท

โดยในช่วงปีที่ผ่านมา มีปริมาณธุรกรรมมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการมีเครือข่ายพันธมิตรและผู้ค้าที่กว้างขวาง เช่น ธนาคาร ผู้ให้บริการรับชำระเงินต่าง ๆ และผู้ค้าที่แข็งแกร่งในระดับภูมิภาค อาทิ Grabpay Shopeepay และ HOOLAH ทั้งจับมือแบรนด์แฟชั่นระดับโลก, บริษัทประกันภัย, ภาคการบิน รวมถึงพัฒนาการบริการด้านผู้ค้าที่มีอยู่ เช่น สินค้าและบริการดิจิทัล รวมถึงการทำธุรกรรมชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือโซลูชั่นเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรม เป็นต้น

นายปิยชาติกล่าวถึงลยุทธ์การดำเนินงานในปีนี้ว่านอกจากเน้นการรักษาคุณภาพการให้บริการแล้วยังจะเพิ่มจุดแข็งด้านความรวดเร็วของการให้บริการมากขึ้น และขยายตัวเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่ลึกขึ้น พร้อมไปกับการเพิ่มฐานการค้าในทุกอุตสาหกรรม และทุกประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะแบรนด์ดังระดับโลก

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุง และพัฒนาบริการ ผลิตภัณฑ์ พร้อมลงทุนในเทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อขยายทีมในการให้บริการ และเข้าถึงตลาดที่ต้องการ

นายปิยชาติกล่าวว่าการใช้จ่ายด้านอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้น จาก 162% เป็น 179.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 ทั่วทั้งภูมิภาค โดยการชำระเงินดิจิทัลคิดเป็น 91% ของการชำระเงินอีคอมเมิร์ซ ซึ่งการกลับมาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการบริการหลังเปิดประเทศจะเริ่มเห็นมากขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค

โดยตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย (83 พันล้านดอลลาร์) เวียดนาม (29 พันล้านดอลลาร์) และ ไทย (24 พันล้านดอลลาร์) ตามลำดับ เช่นเดียวกับสถานการณ์ตลาดอีเพย์เมนต์ที่คาดว่าจะเติบโตมีมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573

สำหรับในประเทศไทยพบว่าประชากรส่วนใหญ่นิยมใช้สมาร์ทโฟน ทำให้กระเป๋าเงินดิจิทัลเป็นวิธีการชำระเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเช่นกัน

ปัจจุบันทูซีทูพีให้บริการผู้ค้ากว่า 10,000 รายจากทุกกลุ่มธุรกิจ รวมถึงยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ตลาดออนไลน์ ผู้ค้าปลีก และองค์กรระดับโลกอื่น ๆ รวมทั้งลาซาด้า การบินไทย โรงแรมในกลุ่มบริษัทไมเนอร์ ไปรษณีย์ไทย เป็นต้น ทั้งยังเชื่อมต่อกับธนาคารในประเทศและต่างประเทศ มีวิธีการชำระเงินทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ครอบคลุมที่สุดด้วย