ไฟใต้กับตลาดแรงงาน

ตลาดแรงงาน
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : ผศ.ดร.สุกำพล จงวิไลเกษม, ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ, ดร.นครินทร์ อมเรศ

สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอำเภอจะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย ในจังหวัดสงขลา) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านหลายช่องทาง

ทั้งการสูญเสียทุนและกำลังคนในการผลิต การสร้างความหวาดกลัวของประชาชนและผู้ประกอบการ ทำให้การบริโภคและการผลิตลดลง

ทั้งนี้ ปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้น อาจส่งผลย้อนกลับให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นด้วย

เนื่องจากการว่างงาน ส่งผลให้ผู้ก่อความขัดแย้งมีต้นทุนค่าเสียโอกาสของการทำกิจกรรมเพื่อความไม่สงบต่ำลง เมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง นำไปสู่การตัดสินใจก่อความขัดแย้งมากขึ้น

แม้ว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้นี้จะเกิดขึ้นอย่างยาวนาน แต่ยังไม่พบการศึกษาความสัมพันธ์ในทางตรงระหว่างสถานการณ์ความขัดแย้งกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ผลงานวิจัยล่าสุด Chongwilaikasaem et al. (2022) ภายใต้ทุนสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า ตลาดแรงงานในจังหวัดชายแดนใต้มีลักษณะเฉพาะเหมือนกับภาพรวมของประเทศ คือ มีภาคเกษตรและเศรษฐกิจนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ มีกระบวนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปยังกิจกรรมที่มีผลิตภาพสูงที่ชะงักงัน และมีอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานที่ไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับจังหวัดใกล้เคียงที่มีโครงสร้างคล้ายกันแล้ว

อัตราการว่างงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับที่สูงกว่า และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาคใต้และของประเทศ แม้แต่ในช่วงเวลาที่ตลาดแรงงานไทยมีความตึงตัวอย่างต่อเนื่องก็ตาม การศึกษาพบว่าความขัดแย้งส่งผล
ให้อัตราการว่างงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มสูงขึ้น

แต่ปัญหาการว่างงานไม่ส่งผลย้อนกลับให้เกิดปัญหาความขัดแย้งมากขึ้น โดยพบว่าความขัดแย้งในไตรมาสที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราการว่างงานในระบบประกันสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มสูงขึ้น แต่ปัญหาการว่างงานไม่ส่งผลย้อนกลับให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง

จากผลของแบบจำลอง Panel VAR และพบว่าความขัดแย้งในไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งที่วัดด้วยจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ส่งผลให้จำนวนสถานประกอบการลดลงในไตรมาสที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

นอกจากนี้ พบว่าความขัดแย้งในพื้นที่ทำให้อัตราการว่างงานที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่าที่ควรจะเป็นในโลกคู่ขนานของแต่ละจังหวัด เมื่อใช้วิธี synthetic control สร้างโลกคู่ขนานของจังหวัดชายแดนใต้ที่ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น เพื่อหาผลกระทบของความขัดแย้งต่ออัตราการว่างงาน

โดยภายหลังปี 2004 เมื่อความขัดแย้งได้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น อัตราการว่างงานที่เกิดขึ้นจริงของจังหวัดทั้ง 4 สูงกว่าอัตราการว่างงานที่ควรจะเป็นอย่างชัดเจน โดยค่ามัธยฐานของการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานเทียบกับค่าที่ควรจะเป็น หากไม่มีความขัดแย้งของจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา เท่ากับ 0.95, 0.30, 1.51 และ 0.89 จุด (percentage point) ตามลำดับ

ปัญหาความขัดแย้งเป็นปัญหาสำคัญสำหรับภาครัฐ เนื่องจากไม่เพียงจะมีผลต่อความมั่นคง แต่ได้กระทบต่อปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอีกด้วย การศึกษาพบว่าแม้งบประมาณภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่จะมีส่วนลดช่องว่างระหว่างอัตราการว่างงานที่เกิดขึ้นจริง กับอัตราการว่างงานในโลกคู่ขนานที่ไม่มีเหตุความขัดแย้งแต่ก็มีผลเพียงเล็กน้อย

ขณะที่สัดส่วนของงบประมาณด้านความมั่นคงที่เพิ่มสูง จากการปรับเปลี่ยนสัดส่วนของรายจ่ายภาครัฐ โดยลดรายจ่ายในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลงได้ ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างอัตราการว่างงานที่เกิดขึ้นจริงกับอัตราการว่างงานในโลกคู่ขนานที่ไม่มีเหตุความขัดแย้งปรับเพิ่มสูงขึ้น แนวทางในการแก้ไขปัญหาจึงควรให้น้ำหนักกับมาตรการด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับนโยบายด้านความมั่นคง

นอกจากนั้นในการวิเคราะห์ประโยชน์ ในการประเมินผลได้-เสียของนโยบายในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ควรคำนึงถึงประโยชน์จากการลดปัญหาการว่างงานเพิ่มเติมไปจากผลสัมฤทธิ์ด้านความมั่นคงด้วย เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ไม่เพียงแต่จะอยู่ร่วมกับเหตุความขัดแย้งได้ แต่จะกลับมาส่งเสริมให้ตลาดแรงงานและเศรษฐกิจเติบโตได้ตามศักยภาพอีกด้วย

จึงยังต้องอาศัยการศึกษาในอนาคตที่จะตอบว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาแนวทางสร้างความร่วมมือ เพื่อบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการลดปัญหาความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืน