เหนือ-อีสาน อ่วมน้ำหลากท่วมพื้นที่ นาข้าวยโสธรจมบาดาลหลายพันไร่

น้ำท่วม
ภาพจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM
ภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระบุ ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์เนื่องจากมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง เผยนาข้าวจังหวัดยโสธรจมบาดาลหลายพันไร่ ขณะที่แม่น้ำมูลสูงขึ้นจนท่วมชุมชนจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว

วันที่ 14 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้ประเทศไทยจะยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายจังหวัด ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วง 1-3 วันนี้ สถานการณ์ปัจจุบันเริ่มเห็นภาพผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคเหนือเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อเนื่อง

โดยเมื่อวานนี้ (13 กันยายน 2566) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระบุว่า เชียงรายเกิดฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง ส่งผลให้น้ำในแอ่งน้ำบ้านเทอดไทย (คันดิน) ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและถนน ทำให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายบางส่วน จำนวน 5 หลังคาเรือน

น้ำหลากท่วมเชียงราย
ภาพจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM

ขณะที่เจ้าหน้าที่จากอำเภอแม่ฟ้าหลวง อบต.เทอดไทย อบต.แม่สลองใน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนและขนย้ายสิ่งของขึ้นบนที่สูง ขณะนี้ได้เข้าสู่สถานการณ์ปกติ น้ำที่ท่วมขังได้ระบายลงน้ำคำแล้ว

ในจังหวัดพะเยา ก็เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อำเภอเมือง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่ ม.2 ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา และมีน้ำท่วมขังบริเวณถนนหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เบื้องต้นเจ้าหน้าที่งานป้องกันเทศบาลตำบลแม่กา และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำออกให้กับบ้านเรือนประชาชน และให้การช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบขึ้นบนที่สูง

ถัดมาเป็นจังหวัดตาก มีน้ำท่วมขังบนผิวจราจรเส้นทางสายแม่สอด-แม่ตาว บริเวณชุมชนอิสลาม ในเขต ต.แม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เพราะระบายลงท่อระบายน้ำไม่ทัน สถานการณ์ล่าสุดรถเล็กสามารถสัญจรผ่านเส้นทางได้ แต่เจ้าหน้าที่ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์ เนื่องจากในพื้นที่ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง

อีสานนาข้าวอ่วมเสียหายหนัก

น้ำท่วมนาข้าว ยโสธ
ภาพจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยโสธร รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม ถึงปัจจุบัน อำเภอเมืองยโสธร ต.ดู่ทุ่ง รวม 4 หมู่บ้าน (บ.ม่วงอ่อน โนนจำปา สามเพีย และบ้านผือ) น้ำยังเอ่อล้นท่วมนาข้าวประมาณ 2,000 ไร่ ยังไม่มีรายงานบ้านเรือนเสียหาย

ที่อำเภอป่าติ้ว ตำบลโพธิ์ไทร หมู่ที่ 1, 2 และ 3 และตำบลศรีฐาน หมู่ที่ 6 มีพื้นที่ประสบภัย 2,500 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 500 ไร่ เนื่องจากเกิดฝนตกในพื้นที่ทำให้น้ำลำเซบายมีระดับเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงอำเภอค้อวัง ตำบลกุดน้ำใส หมู่ที่ 6 มีพื้นที่ประสบภัย 320 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 320 ไร่ เนื่องจากยังคงเกิดฝนตกในพื้นที่ สถานการณ์แม่น้ำชีระดับน้ำสูงขึ้น

อุบลราชธานีก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำจากลำน้ำมูลน้อย ลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล เพิ่มสูงขึ้นและไหลเอ่อเข้าน้ำท่วมภายในชุมชนลุ่มต่ำติดริมน้ำ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแนวคันกั้นน้ำเพื่อช่วยเหลือบ้านเรือนประชาชนแล้ว

สำหรับลักษณะอากาศของอุบลราชธานีจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ระดับน้ำ สถานีวัดน้ำ M7 อ.วารินชำราบ แม่น้ำมูล ระดับตลิ่ง 112.00 ม.รทก. ระดับน้ำปัจจุบัน 110.33 ม.รทก. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 0.34 ต่ำกว่าตลิ่ง 1.67 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับน้ำ สถานีวัดน้ำ KHO อ.โขงเจียม แม่น้ำโขง ระดับตลิ่ง 103.53 ม.รทก. ระดับน้ำปัจจุบัน 98.26 ม.รทก. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 0.58 ต่ำกว่าตลิ่ง 5.27 เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายจังหวัดที่เริ่มมีภาพผลกระทบและความเสียหายแล้ว ซึ่งยังต้องเฝ้าระวังกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เผยว่า ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วง 1-3 วันนี้ ในภาคเหนือ บริเวณ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.หนองคาย ยโสธร อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี และบึงกาฬ และภาคตะวันตก บริเวณ จ.กาญจนบุรี

ทั้งนี้ กอนช. กำชับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือ โดยกรมชลประทาน เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนใน จ.ขอนแก่น ขณะที่ จ.ร้อยเอ็ด ได้บรรจุกระสอบทรายวางเสริมแนวตลิ่งบริเวณประตูระบายน้ำ พร้อมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ด้าน จ.กาฬสินธุ์ เตรียมเครื่องสูบน้ำประจำจุดเสี่ยงน้ำหลาก รถบรรทุก และสะพานเหล็กไว้คอยช่วยเหลือหากเกิดอุทกภัย จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย