เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรยื่นหนังสือของบภาครัฐ 180 ล้านบาท แก้ปัญหาหมูล้นตลาด

สุกร

เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร เผยแก้ปัญหาหมูล้นตลาดทำเมนู “หมูหัน” 5,000 ตัวต่อวัน ลูกหมูหายจากระบบ 450,000 ตัว ยื่นหนังสือของบฯชดเชยจากภาครัฐ 180 ล้านบาท

วันที่ 20 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรมผู้เลี้ยงรายย่อยไทย ได้มีการจัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ทำอย่างไรให้รายย่อยยั่งยืน” ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมด้วย

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 20 ก.ย. 2566 ในการประชุมพิกบอร์ด จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติม โดยให้มีผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยเข้ามาอยู่ในกรรมการชุดนี้ด้วย อีกทั้งจะการตั้งคณะกรรมการปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะปัญหาสุกรเถื่อน แต่จะเป็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อปราบปรามสินค้าเกษตรทุกประเภท โดยมี นายอนุชา นาคาศัย และนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นรองประธาน รวมถึงอธิบดีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีส่วนร่วม

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า

“ในเรื่องของการปราบปรามของเถื่อน เราต้องทำจริงจัง และหากจับได้ต้องมีการขึ้นบัญชีดำ เหมือนที่กระทรวงมหาดไทยจัดทำบัญชีผู้มีอิทธิพล ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการขั้นเด็ดขาด หากไม่เอาจริงเอาจังก็จะเป็นอยู่แบบนี้ และยืนยันว่า ถ้าตนยังนั่งในตำแหน่งนี้อยู่ ไม่ใช่ว่าแก้ปัญหาวันนี้ แล้วพรุ่งนี้หายเงียบ” ร้อยเอกธรรมนัสกล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังเน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหาต้นทุนการเลี้ยงสุกรสูงว่า กระทรวงพาณิชย์ถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการประกาศราคา ส่วนเนื้อหางานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังนั้น ตนจะหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่ง

นายสัตวแพทย์ วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย ในฐานะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย เปิดเผยว่า ตอนนี้ราคาสุกรค่อนข้างตกต่ำ ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะมีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ซึ่งมีปริมาณมหาศาล อีกทั้งยังประสบปัญหาหมูล้นตลาด ต้นทุนการการเลี้ยงสุกรในปัจจุบันมีต้นทุนที่สูงถึงกิโลกรัมละ 70 บาท แม้ตอนนี้ต้นทุนจะลดลงมาแล้ว แต่ว่าราคาขายโดยเฉพาะภาคอีสาน ยังย้ำแน่ขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบขาดทุนตัวละ 3,000 บาท

เพื่อแก้ไขปัญหา ตัวแทนผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศจะนำสุกรที่มีน้ำหนัก 3-6 กิโลกรัมมาทำเป็นเมนู “หมูหัน“ 5,000 ตัวต่อวัน มีระยะการดำเนินงาน 3 เดือน จะมีจำนวนลูกหมูออกจากระบบประมาณ 450,000 ตัว และได้ยื่นของบประมาณรัฐบาลในการช่วยชดเชยหมูตัวละ 400 บาท ใช้งบประมาณทั้งหมดรวม 180 ล้านบาท ซึ่งในอดีตเคยทำมาแล้ว ทำให้เกษตรกรรายย่อยฟื้นคืนชีพได้

ทั้งนี้ ในงานเสวนาการเลี้ยงสุกรรายย่อยจะอยู่ยั่งยืนได้อย่าง ซึ่งขนาดการเลี้ยงสุกรมีทั้งหมด 5 ขนาด ได้แก่ 1.บริษัทมหาชน 2.ขนาดใหญ่ 3.ขนาดกลาง 4.ขนาดเล็ก 5.รายย่อย แต่ขนาดเล็กและขนาดย่อยมีผู้เลี้ยงสุกรมากกว่า 200,000 ราย

พันตำรวจตรีสุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษกล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินการคดีหาผู้กระทำผิดในคดีหมูเถื่อนมีความคืบหน้าแล้ว 60% ทำให้เห็นเบื้องหลังว่ามีบริษัทใหญ่อยู่เบื้องหลังประมาณ 4-5 บริษัท
หลังจากเสร็จคดีนี้แล้ว เราจะมีการดำเนินการกับกลุ่มผู้กระทำผิดต่อไป

“ทางเราก็ได้มีการปรึกษาผู้ที่เกี่ยวข้อง เรื่องลักลอบนำเข้าเป็นเรื่องที่เราทำได้เร็วที่สุด ในคณะทำงาน
เราใช้เวลาอย่างหนักในการดูข้อมูลเบื้องต้น แต่ในแนวทางสอบสวน คือต้องการรู้คนที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการจริง ๆ ได้มีการขอข้อมูลว่ามีใครเข้าค่ายบ้าง”