ฤดูแล้งปีหน้า EEC วิกฤตขาดน้ำ อุตสาหกรรม-สวนทุเรียนระส่ำ

EEC วิกฤต สนทช.คาดการณ์ มี.ค.-เม.ย. 67 น้ำไม่พอใช้ทั้งภาคอุตสาหกรรม-สวนทุเรียน-ท่องเที่ยว เหตุเพราะยังไม่สามารถผันน้ำได้ตามแผน คาดอีอีซีขาดน้ำหนัก 3 อ่างหลักใน จ.ระยอง “ดอกกราย-หนองปลาไหล-คลองใหญ่” เหลือน้ำต่ำกว่า 50 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่อ่างประแสร์เหลือน้ำต่ำกว่า 100 ล้าน ลบ.ม.

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุม เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีการรายงานสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกปี 2566 เทียบกับปี 2562 ที่ประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด พบว่า ปีนี้น่าจะมีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2562 เล็กน้อย โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

ประเมินว่าพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะมีปัญหาขาดแคลนน้ำตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม หรือเดือนเมษายน 2567 เนื่องจากปีนี้ผลกระทบจากเอลนีโญปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาน้อย และกรมชลประทานไม่สามารถบริหารจัดการผันน้ำตามเส้นท่อจากส่งไปยังอ่างประแสร์จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรีได้ตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากเหลือเส้นท่อผันน้ำได้เพียงเส้นท่อเดียว

3 อ่างหลักระยองน้ำน้อย

ประกอบกับการผันน้ำของผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานยังไม่เป็นไปตามแผนโดยคาดการณ์ว่า น้ำใน 3 อ่างหลักในจังหวัดระยอง ได้แก่ ดอกกราย หนองปลาไหล และคลองใหญ่ จะเหลือน้ำต่ำกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะที่คาดว่าอ่างประแสร์จะเหลือน้ำต่ำกว่า 100 ล้าน ลบ.ม.

“แล้งหน้าอีอีซีจะวิกฤตหนัก นอกจากภาคอุตสาหกรรมในระยองจะใช้น้ำมากที่สุดแล้ว การท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นกลับมาในจังหวัดชลบุรี ระยอง แล้วช่วงเดือนมีนาคม เมษายน จะเป็นฤดูที่ผลไม้อย่างทุเรียนกำลังใกล้ออกผล เป็นช่วงที่ต้นทุเรียนต้องการน้ำมาก และล้งที่ไปตั้งในจันทบุรี ระยอง ตราด ใช้น้ำมากเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ความต้องการน้ำจะมาก ปกติพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด ใช้น้ำรวมวันละประมาณ 2 ล้านลบ.ม.เศษ แบ่งเป็นระยอง 1.2 ล้าน ลบ.ม. ชลบุรี 6-7 แสน ลบ.ม. ฉะเชิงเทรา 1 แสนกว่า ลบ.ม. ตอนนี้ชลประทานใช้เส้นท่อเดิมของชลประทานเอง ผันน้ำจากอ่างประแสร์มายัง 3 อ่างในจ.ระยองได้เพียง 2.5-3 แสน ลบ.ม.ต่อวัน”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งนี้อ่างประแสร์ ควรจะมีน้ำผันเข้ามาวันละ 5 แสน ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อจะได้ผันน้ำกระจายไปยัง 3 อ่างใหญ่ ได้แก่ ดอกกราย หนองปลาไหล และคลองใหญ่ และ 3 อ่างใหญ่จะกระจายไปช่วยอ่างต่าง ๆ รวมถึงอ่างเก็บน้ำในจังหวัดชลบุรี เช่น อ่างบางพระ เป็นต้น แต่ตอนนี้อ่างประแสร์ผันน้ำมาลง 3 อ่างได้ 2.8 แสน ลบ.ม.ต่อวัน มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยมาก และคงที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 เพราะปริมาณฝนที่ตกไม่ลงอ่าง

ตอนนี้รอลุ้นมรสุมในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ที่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่อ่างบางพระ จ.ชลบุรี ต้องบริหารน้ำโดยผันน้ำจาก 2 แหล่ง ได้แก่ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ประมาณ 5 แสน ลบ.ม.ต่อวัน และแม่น้ำบางปะกง ประมาณ 2.5 แสน ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งชลบุรีจะเผชิญปัญหาเวลาน้ำทะเลหนุนสูงจะทำให้น้ำเค็ม

ทั้งนี้ ปริมาตรน้ำในแต่ละเขื่อน และอ่างหลักของพื้นที่ภาคตะวันออก ณ วันที่ 22 กันยายน 2566 อ่างเก็บน้ำประแสร์ ปริมาตรน้ำอยู่ที่ 183.800 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้ 163.800 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 62.31% มีน้ำไหลลงอ่างเพียง 2.70 ล้าน ลบ.ม., อ่างดอกกราย ปริมาตรน้ำอยู่ที่ 36.979 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้ 33.979 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 51.79%,

อ่างหนองปลาไหล ปริมาตรน้ำอยู่ที่ 97.139 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้ 83.979 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 59.32%, อ่างคลองใหญ่ ปริมาตรน้ำอยู่ที่ 27.138 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้ 24.138 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 67.68% ขณะที่ จ.ชลบุรี อ่างเก็บน้ำบางพระ ปริมาตรน้ำอยู่ที่ 55 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้ 43 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 47 มีน้ำไหลลงอ่างเพียง 0.28 ล้าน ลบ.ม. หรือแทบไม่มีน้ำไหลลงอ่าง

จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาก่อนวิกฤต

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาระบบการผันน้ำไปสู่ผู้ใช้น้ำของบริษัทเอกชน จากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ทั้งเส้นท่อ การใช้ในอ่างเก็บน้ำของชลประทาน คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ควรเข้ามาแก้ไขในภาคส่วนรัฐบาล ที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เพราะปัญหาเกิดขึ้นมาปีกว่าแล้ว ยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถเจรจาแก้ปัญหาได้ และช่วงฤดูแล้งปีหน้า พื้นที่ EEC จะมีปัญหาขาดแคลนน้ำแน่นอน เพราะความจุอ่างประแสร์ขณะนี้เก็บได้เพียง 175 ล้าน ลบ.ม.

คาดว่าจะมีการขอแบ่งปันน้ำจากกลุ่มน้ำวังโตนด จันทบุรีมาใช้เหมือนในอดีตช่วงปี 2563 นอกจากนี้อาจจะต้องให้ระดับนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งควบคุมดูแลกรมธนารักษ์ เข้ามาจัดการปัญหาโดยเร็ว หากปล่อยให้อีอีซีวิกฤตขาดแคลนน้ำ จะกระทบต่อนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานอยู่แล้ว และกระทบต่อนักลงทุนหน้าใหม่ที่อยากเชิญชวนมาลงทุน

แหล่งข่าวจากจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สนทช.มองว่าน้ำในพื้นที่ EEC น่าจะไม่เพียงพอช่วงแล้งหน้า เพราะปีนี้ฝนตกน้อยโดยเฉพาะในพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำ แม้บริเวณใต้อ่างที่เคยเกิดปราฏการณ์น้ำท่วมปีนี้ ไม่มีปรากฏเหตุการณ์เช่นนั้น ทำให้ระบบสูบกลับไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้นจึงต้องการให้อ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะอ่างประแสร์ ถ้าเก็บกักน้ำไว้ได้น้อยการผันน้ำไปที่อื่นจะไม่พอ และคาดว่าในช่วงแล้งพื้นที่ EEC ขาดแคลนน้ำแน่

ทั้งนี้ มติคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกที่มีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ จะไปมีผลบังคับกับหน่วยงานนั้น ๆ มีผลทางปฏิบัติได้หรือไม่ รวมทั้งการสูบน้ำไปจากสถานีสูบน้ำวังประดู่ ลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ในช่วงฤดูฝนทำได้น้อยมาก เพราะในหลักเกณฑ์จะสูบไปได้ก็ต่อเมื่อระดับน้ำที่ฝายวังใหม่สูงเกิน 16 เมตร เทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ทำให้การสูบน้ำแต่ละครั้ง ถ้าฝนไม่ตกต่อเนื่อง ระดับน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ เครื่องสูบจะหยุดทำงานโดยอัตโนมัติ

“ทางด้านพื้นที่การเกษตรในจังหวัดจันทบุรีแล้งนี้ คาดว่าน้ำยังพอใช้ เพราะน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองประแกตที่เป็นอ่างหลักส่งน้ำลงมายังพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำวังโตนด และไปช่วยอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยองนั้น ปัจจุบันอ่างประแกตมีความจุ 60 ล้าน ลบ.ม. และเมื่อเสริมฝายพับได้จะสามารถเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นอีก 13 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งสิ้น 73 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ปริมาณน้ำ ตัวเลขอาจขึ้นไปถึง 30 ล้าน ลบ.ม. รวมน้ำทั้ง 2 อ่าง น่าจะถึง 90 ล้าน ลบ.ม.เพียงพอแน่นอน” แหล่งข่าวกล่าว