จุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ดัน “เชียงใหม่เมืองเทศกาล” ปลุกเศรษฐกิจ

จุลนิตย์ วังวิวัฒน์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

เศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่เริ่มมีการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา แต่ในข้อเท็จจริงเป็นการฟื้นตัวท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงภายในและภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ และมีแนวโน้มว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องในปี 2567 ทั้งภาวะหนี้ครัวเรือน และกำลังซื้อที่อ่อนแอ

รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ภาวะสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาไฟป่า ฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เป็นอีกแรงกระทบสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้

“จุลนิตย์ วังวิวัฒน์” ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนงานโครงการสำคัญที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนในปี 2567

Q : มองเศรษฐกิจปี’67 อย่างไร ท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยง

หลังโควิดคลี่คลาย มีสัญญาณบวกที่ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงคงต้องใช้เวลามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เหมือนโมเมนตัมยังไม่กลับมาเป็นบวกเลยทีเดียว

โดยเฉพาะปี 2566 ที่ผ่านมามีปัจจัยทั้งในประเทศและนอกประเทศที่ควบคุมไม่ได้เข้ามากระทบเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถเติบโตได้ตามที่คาดหวัง เช่น ภาวะสงครามระหว่างประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ยังไม่แน่นอน ตลาดการเงินผันผวนทั่วโลก โรคระบาดใหม่

รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ล้มละลายและปิดตัวลงไปจำนวนมาก ซึ่งเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ยังฟื้นตัวไม่ได้เต็มที่ เนื่องจากพึ่งพาการท่องเที่ยว 60-70% ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักยังไม่กลับมาตามเป้าหมาย

ดังนั้น จึงค่อนข้างน่ากังวลว่าปัจจัยเสี่ยงจะต่อเนื่องไปถึงปี 2567 ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดี ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยที่น่ากังวลคือ ปัญหา PM 2.5 ที่มาเร็วกว่าทุกปี ในเดือนธันวาคมฝุ่นควันเริ่มมาแล้ว ซึ่งทุกปีจะเริ่มเกิดขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ปัญหา PM 2.5 มีระยะเวลายาวนานขึ้น จะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเต็ม ๆ

โดยเฉพาะนโยบายการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ที่กำลังขับเคลื่อน Wellness Tourism อาจจะได้รับผลกระทบ เพราะนักท่องเที่ยวอาจเกิดความกังวลและตัดสินใจยากขึ้นที่จะเดินทางเข้ามาหากมี PM 2.5

Q : การผลักดันแก้ไข PM 2.5 อย่างไร

ภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ ในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ผลักดันเรื่องกฎหมายอากาศสะอาดมาหลายปี ล่าสุด รัฐบาลได้นำมาพิจารณาและให้ความเห็นชอบแล้ว และจะมีการผลักดันให้เป็นรูปธรรมต่อไป ขณะเดียวกัน หอการค้าอยากให้รัฐบาลได้เร่งกระบวนการคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ จากเดิมที่เป็นกระบวนการภาคสมัครใจ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการลดคาร์บอนในองค์กร หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่สร้างมลพิษ

อีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับปัญหา PM 2.5 ภายใต้กฎหมายอากาศสะอาด ได้ระบุให้มีการพิจารณาใช้มาตรการภาษีกับบริษัท โรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงงานพืชผลทางการเกษตร โรงงานอาหารสัตว์ ที่ไปลงทุนหรือใช้กระบวนการ Contract Farming ในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องรับผิดชอบด้านภาษีเพิ่ม เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาด้านมลพิษทางอากาศด้วย

โดย กกร.เชียงใหม่ได้ส่งเรื่องไปถึงรัฐบาลอยากให้มีมาตรการเรื่องนี้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และควรมีการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าพืชเกษตรเชิงเดี่ยวที่มีการปลูกในพื้นที่แหล่งใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการนำเข้าสินค้าเข้ามาทางภาคเหนือของไทย

Q : แผนปลุกเศรษฐกิจเชียงใหม่

ในปี 2567 หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ มีแผนงานเชิงรุกหลายด้านที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงใหม่ ซึ่งแผนงานที่ต้องการทำให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังคือ การขับเคลื่อน “เชียงใหม่เมืองเทศกาล” (Chiang Mai Festival City) โดยหอการค้าได้ร่วมเป็นคณะกรรมการระดับจังหวัดที่ตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อน โดย กกร.ภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคประชาชนร่วมมือกัน เพื่อแสดงศักยภาพของเชียงใหม่ในทุกมิติ

ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญา นวัตกรรม เทคโนโลยีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และงานระดับนานาชาติ ภายใต้แนวความคิด “การฟื้นคืนจิตวิญญาณเมืองเชียงใหม่ : Chiang Mai Spirituality Revival” อันจะส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของการจัดกิจกรรมระดับโลกให้เป็นที่ประจักษ์สู่สากล อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการขับเคลื่อนการสร้างรายได้ในพื้นที่อย่างทั่วถึง เกิดเป็น Festival Economy

เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ตัวแทนของคณะกรรมการขับเคลื่อนเชียงใหม่เมืองเทศกาล ได้เดินทางไปศึกษาดูงานเทศกาลเอดินบะระ กรุงเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งถือเป็นงานเทศกาลระดับโลกที่จัดต่อเนื่องมากว่า 76 ปี มีการปิดเมืองเพื่อจัดเทศกาล 1 เดือนเต็ม รับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทุกภาคมีส่วนร่วมกันจัดขึ้น เป็นการใช้งานเทศกาลสร้างเศรษฐกิจ

โดยทางคณะได้เข้าหารือกับหน่วยงาน องค์กร ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ รวมถึงผู้จัดงานเทศกาลเอดินบะระ ทำให้ได้เรียนรู้แนวทางการดำเนินงานที่พ้องกันไปทุกภาคส่วน และได้ประสบการณ์จากการชมการแสดงที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเมืองเทศกาลของเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น ในปี 2567 “เชียงใหม่เมืองเทศกาล” จะขับเคลื่อนอย่างจริงจัง จะกำหนดให้มีการจัดขึ้นในทุก ๆ ปี เป็นระยะเวลา 1 เดือนเต็ม ซึ่งจะเริ่มต้นปักหมุดเดือนธันวาคม 2567

Q : โปรเจ็กต์ที่จะเกิดในปี’67

กกร. และภาคการศึกษา กำหนดการจัดงานเทศกาล Lanna Revival Festivals 5 เทศกาล กรอบที่วางไว้เบื้องต้นคือ จะมีการรวบรวมศิลปวัฒนธรรม รวมถึงนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ในพื้นที่ ในรูปแบบของนิทรรศการ ศิลปะ และการแสดงที่จัดขึ้นทั่วเมืองเชียงใหม่ เปิดกว้างให้กับศิลปินทุกระดับ เพื่อแสดงความหลากหลายทางศิลปะและวัฒนธรรมของเชียงใหม่

โดยเฉพาะงานศิลปะในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังเปิดพื้นที่ให้กับงานร่วมสมัยรวมถึงนวัตกรรม เพื่อสื่อถึงเมืองเชียงใหม่ทั้งในแง่เมืองอัจฉริยะและเมืองสร้างสรรค์

โดย 5 เทศกาล ที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2567 ประกอบด้วย 1.Sankampaeng Craft Revival Festival : รอยหัตถกรรมความทรงจำสันกำแพง โดยหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และเครือข่าย 2.Reviving Chiang Mai Festival : ฟื้นใจเวียงเจียงใหม่

โดยสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3.Wiang Jed Lin : เมื่อครั้งมีเวียงเจ็ดลิน โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 4.Lanna Revival Music Festival : ท่วงทำนองล้านนา โดยมหาวิทยาลัยพายัพ 5.Chiang Mai and nowhere else Festival : เพียงเจียงใหม่ โดย Greater Chiang Mai

ล่าสุด ได้นำเสนอประเด็นนี้ต่อนายกรัฐมนตรีแล้วคือ 1.มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อน “เชียงใหม่เมืองเทศกาล” อย่างจริงจังและเข้มข้นในปี 2567 2.ให้หน่วยงานของรัฐที่ดูแลพื้นที่ทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เช่น กรมศิลปากร อำนวยความสะดวกในการใช้พื้นที่จัดกิจกรรมตลอดปี 2567 3.จัดงบประมาณพิเศษเพื่อขยายกิจกรรมให้กว้างและมีผลกระทบยิ่งขึ้น

Q : MOU กับฝรั่งเศสปั้น Cosmetic Valley

ภายใต้กรอบการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC) 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้วางหมุดหมายให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ NEC Valley โดยจะผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคเหนือ และพื้นที่เศรษฐกิจที่มีศักยภาพสร้างสรรค์ ซึ่งมีความโดดเด่นเรื่องงานฝีมือและหัตถกรรม

ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และหอการค้าเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) ณ หอการค้าเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นการฟื้นความสัมพันธ์ความร่วมมือในรอบ 17 ปี ที่เคยมีการลงนามความร่วมมือระหว่าง 2 หอการค้าในปี 2549

ซึ่งทั้งเชียงใหม่และลียง มีพื้นฐานเมืองคล้ายกันและใกล้เคียงกันมาก โดยกรอบความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นหลายด้าน อาทิ แลกเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจ การจับคู่ธุรกิจ ส่งเสริมการค้าการลงทุน เป็นต้น

ทั้งนี้ แบบอย่างที่โดดเด่นของหอการค้าลียง คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจเมืองด้านเครื่องสำอาง (Cosmetic) ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับ NEC ที่มีเป้าหมายในการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์บริการสุขภาพและเครื่องสำอาง (Cosmetic Valley) ด้วยศักยภาพของพื้นที่ 4 จังหวัดใน NEC ที่ปลูกพืชสำคัญหลายชนิดทั้งลำไย ชา กาแฟ ฯลฯ ที่สามารถเพิ่มมูลค่านำผลผลิตเข้าสู่กระบวนการทำ Cosmetic ซึ่งจะช่วยยกระดับเกษตรกรในพื้นที่ให้มีรายได้สูงขึ้น โดยจะเริ่มผลักดันจริงจังในปี 2567

Q : อยากให้รัฐแก้หนี้ SMEs อย่างไร

จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนวิสาหกิจ SMEs ประมาณ 95,000 ราย สามารถจ้างงานได้มากกว่า 400,000 คน และสร้างรายได้หมุนเวียนให้เชียงใหม่ได้มากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า SMEs ในพื้นที่มีอัตราการเติบโตของรายได้ค่อนข้างต่ำ หอการค้าได้มีการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ในการช่วยเหลือ SMEs

โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นไปถึง 6-7% เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจของ SMEs ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการจ้างงาน หรือต้นทุนพลังงานต่าง ๆ ที่ต้องแบกรับ แต่เรื่องการเงิน SMEs มีปัญหาในเรื่อง Cash Flow จึงอยากให้มีการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงมา เพื่อชะลอหนี้เสีย หรือยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระ

ซึ่งต้องยอมรับว่า SMEs อยู่ได้ด้วยเงินกู้ หากดอกเบี้ยขึ้นสูง เท่ากับเงินที่หามาได้ต้องเอาไปจ่ายให้แบงก์หมด ในช่วงโควิดก็มีการออกนโยบายเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) อยากให้รัฐบาลนำนโยบายนี้กลับมาสนับสนุน SMEs อีกครั้ง

การแก้หนี้นอกระบบเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนทั่วไป หรือภาคธุรกิจที่เป็น Micro SMEs (กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี การจ้างงานไม่เกิน 5 คน) กลุ่มนี้เข้าถึงสถาบันการเงินไม่ได้ เลยต้องไปกู้นอกระบบ ถ้ารัฐบาลเอาข้อมูลเหล่านี้กลับมาวางแผนกันใหม่ ทุกอย่างที่อยู่ใต้ดินก็เอาขึ้นมาบนโต๊ะ มีหน่วยงานรัฐเข้ามาดูแล ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างถูกต้อง จัดระบบ ขึ้นทะเบียน ซึ่งรัฐจะได้เรื่องของการเสียภาษีด้วย

หรืออาจจะตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อให้ Micro SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งรัฐจะได้ฐานข้อมูลจำนวน Micro SMEs ว่ามีกี่รายที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ การจัดเก็บภาษีก็จะง่ายขึ้น เพราะธุรกิจในประเทศไทยส่วนใหญ่คือ SMEs กับ Micro SMEs ที่ต้องเร่งแก้หนี้

โดยอาจมีการรวมหนี้ธุรกิจ SMEs และ Micro SMEs ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และมีหน่วยงานกลางมาเจรจายืดระยะเวลาการผ่อนชำระให้นานขึ้น หรือปรับลดดอกเบี้ยลง เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจที่ค่อนข้างชะลอตัวในช่วงนี้

Q : วัตถุประสงค์การตั้ง CCA Academy

หอการค้าเชียงใหม่ เห็นความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้จากผู้ประกอบการที่มากด้วยประสบการณ์ จึงต้องการเผยแพร่ความรู้เพื่อช่วยการพัฒนาบุคลากรด้านต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ เพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่ , การจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC), แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ

รวมทั้ง Global Trend ด้านธุรกิจด้วย ดังนั้นการจัดตั้ง Chiang Mai Chamber of Commerce Academy หรือ CCA Academy จะเป็นอีกหนึ่งพันธกิจหลักของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

CCA Academy มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์ความร่วมมือด้านวิชาการ พัฒนาความรู้และความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือ แล้วกับหลายสถาบันการศึกษา อาทิ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, วิทยาลัยศิลปะสื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนอร์ท เป็นต้น