เปิดศึกชิงแรงงานลำไยไปจีน ล้งปาดหน้าจ่ายค่าหัวเพิ่มสูงสุด 40,000 บาท

ลำไยไปจีนป่วน ล้งเปิดศึกชิงแรงงานเก็บผลผลิตส่งไม่ทันเทศกาลตรุษจีน ปาดหน้าชิงรถขนคนงานข้ามจังหวัดจ่ายเงินค่าหัวเพิ่มสูงสุด 40,000 บาท/คันรถ ชาวสวนจันทบุรี สระแก้ว โดนเบี้ยวสัญญาหน้าเก็บเกี่ยววุ่นหลายสวน ล้งไม่เก็บผลไม้ตามสัญญา พ่อค้าชงรัฐมนตรีเกษตรฯ ดันเข้า ครม.แก้กฎหมายให้แรงงานข้ามจังหวัดได้

นายศิริไพบูลย์ วัฒณวงศ์ชัย พ่อค้ารับซื้อลำไย ต.คลองหาด และสมาชิก อบต.คลองหาด อ.คลองหาด จ.สระแก้ว เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ชาวสวนลำไยกำลังมีปัญหาหนัก 2 ประเด็นร้อน เนื่องจากล้งไม่มาเก็บลำไยในสวนและไม่ยอมจ่ายเงินมัดจำ รอบ 2 ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้

ขณะที่เกษตรกรทำการราดสารให้ต้นลำไยออกผลผลิตจำนวนมาก เพื่อให้ล้งมาเก็บไปส่งออกตลาดจีนให้ทันเทศกาลตรุษจีน (10 ก.พ. 67) ซึ่งจะได้ราคาดี ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ลำไยแตกเสียหาย และต้องเร่งเก็บหลายสวนพร้อมกัน จนทำให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องกันระหว่างเกษตรกร และล้งรับซื้อลำไย

โดยต้นตอปัญหาเกิดจากการขาดแคลนแรงงานในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวลำไยช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ทำให้ล้งที่เหมาสวนหรือทำสัญญาซื้อขายไว้ล่วงหน้ากับเกษตรกรไม่มีแรงงานเพียงพอเก็บเกี่ยวผลผลิต ต้องทิ้งสัญญามัดจำ เกษตรกรที่ไม่ได้รับเงินจึงฟ้องร้องล้งผิดสัญญา ขณะที่มีเกษตรกรบางรายหาคนเก็บลำไยเองและนำผลผลิตไปขายให้ล้งอื่น ก็ถูกล้งฟ้องร้องว่าฉ้อโกงทรัพย์

ดังนั้น ในวันที่ 18 มกราคม 2567 ทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสระแก้ว จะนัดประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งตนจะนำเสนอ 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน โดยให้แก้ไขข้อกฎหมายแรงงาน ให้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานใน 3 จังหวัด

คือ สระแก้ว จันทบุรี และตราด สามารถข้ามจังหวัดไป-มากันได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายแรงงานลง โดยขอให้ทางจังหวัดนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเร่งแก้ไขต่อไป

2) ออกกฎหมายบังคับใช้สัญญากลางระหว่างล้งและเกษตรกร เนื่องจากปัจจุบันล้งต่างใช้สัญญาของตัวเอง ทำให้เกษตรกรเสียเปรียบ เช่น การไม่มาเก็บตามกำหนด การต่อรองราคา การทิ้งสวน รวมทั้งล้งถูกหลอกเหมาขายแปลงลำไยซ้ำซ้อน

3) การทำมาตรฐานคุณภาพ ควรมีหน่วยงานกลางดูแลให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ทุกวันนี้แต่ละล้งต่างคัดเกรดและตีราคาที่ล้ง เช่น สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “สมาคมลำไย” ขึ้นมาออกมาตรฐานควบคุม

“ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานด่านจันทบุรี สูงถึง 7,500-10,000 บาทต่อคน ถ้าล้งใช้คนงาน 100 คน ต้องจ่ายเงินถึง 700,000-800,000 บาท ทำให้ล้งจ่ายไม่ไหวต้องลดจำนวนแรงงานลงจาก 100 คน เหลือ 50 คน ทำให้แรงงานขาดแคลน

ขณะเดียวกันมีบางล้งที่ไม่ได้แจ้งนำเข้าโดยตรง จะใช้วิธีการซื้อตัวแรงงาน โดยเรียกรถที่บรรทุกแรงงานมา 10-15 คนต่อคัน จะเสนอให้เงินพิเศษเพิ่มจากค่าแรงอีกคันละ 20,000-40,000 บาท เมื่อต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ทำให้ล้งบีบราคารับซื้อลำไยจาก กก.ละ 30-32 บาท เหลือ 20-27 บาท

การที่ล้งชิงตัดหน้าแรงงานกันเอง ทำให้ล้งที่มีสัญญากับหลายสวนไม่มีแรงงานพอที่จะไปเก็บลำไยตามที่ทำสัญญาไว้ สุดท้ายปัญหาตกกับเกษตรกร ตอนนี้แก้ไขอะไรไม่ทัน ต้องเตรียมการแก้ปัญหาแรงงานไว้ฤดูกาลหน้า” นายศิริไพบูลย์กล่าวและว่า

ปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง ประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา เวียดนาม มีการปลูกลำไยส่งออกไปจีนได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าไทย ทั้งค่าแรง ค่าปุ๋ย ค่าขนส่ง หากเปรียบเทียบต้นทุนการปลูกลำไยของไทยประมาณ 25 บาท/กก. ส่วนกัมพูชา เวียดนาม ต้นทุนประมาณ 10-15 บาท

ขณะเดียวกันตอนนี้มีนายทุนคนจีนที่มีทั้งเงิน และเทคโนโลยีเข้ามาเช่าที่ดินในภาคตะวันออก ทำสวนลำไยแปลงใหญ่เอง สามารถควบคุมคุณภาพต่าง ๆ นอกจากนี้ ล้งไทยบางคนเข้าไปตั้งล้งในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม เพื่อซื้อลำไยส่งออกไปจีน

นายสุพล ลิ้มป์รัชดาวงศ์ เจ้าของสวนลำไยใน อ.สอยดาว จ.จันทบุรี และอุปนายกสมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาการซื้อขายลำไยระหว่างล้งกับเกษตรกรมี 2 แบบ คือ

1) การทำสัญญาเหมาสวน โดยคำนวณจากราคาตลาด ปีนี้การเหมาสวนที่ยังไม่เห็นผลผลิตราคา 32-35 บาท/กก. และเหมาสวนแบบเห็นลำไยออกผลประมาณเดือนที่ 3-4 แล้ว ตกลงราคา 37-39 บาท/กก. เนื่องจากสามารถดูคุณภาพ และปริมาณผลผลิตได้ชัดเจนกว่า จะได้ราคาสูง

และ 2) การทำสัญญาซื้อขายดอกลำไย กก.ละ 30-32 บาท ที่มีปัญหาฟ้องร้องกัน การทำสัญญาวางเงินมัดจำ รอบ 1 ประมาณ 10-15% และรอบ 2 เมื่อเข้าเก็บจะจ่ายเงินทั้งหมด หากเป็นลำไยไม่มีคุณภาพ ปริมาณน้อย ล้งส่วนมากจะทิ้งมัดจำ เพราะขาดทุนและมีปัญหาแรงงานด้วยทำให้ล้งไม่อยากไปเก็บ เกษตรกรบางรายไม่พอใจราคาขอเพิ่มไม่ได้ จะคืนเงินมัดจำและขายให้ล้งอื่น

ปัญหาขาดแคลนแรงงานปั่นป่วน เกิดจากล้งที่หิ้วกระเป๋าเข้ามาเฉพาะกิจ ประมาณ 10-20 ล้ง จะเช่าล้งชั่วคราว จ้างแพ็ก จ้างนายหน้าซื้อตัดราคา เช่น เทศกาลตรุษจีนต้องการรวบรวมลำไยให้มากที่สุด จึงเกิดปัญหาแย่งแรงงานกัน ซื้อแรงงานจากสายเก็บเป็นคันรถ และเพิ่มค่าจ้างแรงงานเก็บและแพ็ก 70-75 บาทต่อตะกร้า จากปกติ 45 บาทต่อตะกร้า

“ปัญหาแรงงานที่ต้องข้ามเขตจากจันทบุรีไปสระแก้ว ต้องเสียค่าอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน หากนำแรงงานเข้ามาเกินกำหนดที่แจ้งไว้ต้องเสียเพิ่มอีกเกือบเท่าตัว ไม่เช่นนั้นต้องถูกปรับคันละ 40,000-50,000 บาท” นายสุพลกล่าว

ข้อมูลจากสำนักงานเกษตร จ.จันทบุรี ลำไยปี 2565/2566 เนื้อที่ให้ผล 285,489 ไร่ ผลผลิต 386,819 ตัน ปี 2566/2567 เนื้อที่ให้ผล 266,637 ไร่ ผลผลิต 342,309 ตัน ลดลง 13% ราคารับซื้อแบบเหมาสวน 33-35 บาท/กก. ราคารับซื้อสัญญาซื้อขาย 30-32 บาท/กก. ราคาผลร่วง 14-16 บาท/กก. ทั้งนี้ ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วจำนวน 286,000 ตัน หรือ 83.55% แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 70.18% ในประเทศ 9.19% แปรรูป 3.30% คงเหลือ 16.45%

จ.สระแก้ว ปี 2565/2566 เนื้อที่ให้ผล 80,221 ไร่ ผลผลิต 83,616 ตัน ปี 2566/2567 เนื้อที่ให้ผล 80,808 ไร่ ผลผลิต 85,010 ตัน เพิ่มขึ้น 1.67% ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว ประมาณร้อยละ 70 ราคารับซื้อเหมาสวน 28-30 บาท/กก.

รายงานกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-ตุลาคม) ประเทศไทยส่งออกลำไย 274,064 ตัน มูลค่าลำไย 312.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (10,764 ล้านบาท) โดยตลาดส่งออกหลักของไทย อันดับ 1 ได้แก่ ตลาดจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม