ล้งจีนแห่ซื้อแลนด์แบงก์ดันที่ อ.ท่าใหม่ พุ่ง 8 ล้าน/ไร่

ล้งทุเรียนภาคตะวันออกสู้กันดุเดือด นักธุรกิจจีนรุ่นใหม่ปักหลักสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็น 1,200 แห่ง ดันราคาที่ดินจันทบุรี พุ่งขึ้นไร่ละ 5-8 ล้านบาท ทำเลทองบางจุดแตะ 10 ล้าน/ไร่ มีทั้งรายเก่าขยายกิจการเพิ่ม รายใหม่ตั้งบริษัท ร่วมทุนกับคนไทย เช่าที่ดินสร้างล้งขนาด 10,000 ตารางเมตร ขึ้นพรึ่บ

นายณัฐกฤษฎ์ โอฬารหิรัญรักษ์ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจเกษตร ไทย-จีน และเจ้าของล้งทุเรียนใน จ.จันทบุรี และ จ.ชุมพร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การซื้อ-ขายทุเรียนในภาคตะวันออกมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะ 5-6 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนโรงแพ็กบรรจุหรือล้งเพิ่มขึ้นในปี 2566 ถึง 800-900 ล้ง เกือบทั้งหมดอยู่ที่ จ.จันทบุรี ปี 2567 มีล้งเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 400 ล้ง

“เฉพาะจันทบุรีปีนี้ยอดล้งทั้งหมดมีประมาณ 1,200 ล้ง ตอนนี้จดทะบียนเพิ่มไปแล้ว 200 กว่าล้ง ปกติแต่ละปีมีล้งเพิ่มประมาณ 30-40 ล้ง ไม่เกิน 50 ล้ง การเพิ่มขึ้นของจำนวนล้งนอกจากเป็นการเข้ามาของคนจีนรุ่นใหม่ ๆ แล้ว ยังมีชาวสวน เจ้าของที่ดินสร้างล้งให้คนจีนเช่า และคนจีนที่มาลงทุนทำล้งในประเทศไทยอยู่แล้วได้ขยายล้งโกดังเพิ่มจาก 1 แห่ง เป็น 2-3 แห่ง”

การเติบโตของล้งบริษัทจีนที่เข้ามาใหม่มักจะสร้างล้งขนาดใหญ่ 10,000 ตร.ม. ทำให้ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ราคาซื้อขายที่ดินบริเวณถนนสายหลัก ซึ่งเป็นทำเลของการสร้างล้งราคาปรับขึ้นกว่า 40% จากราคาไร่ละ 5-7 ล้านบาท ปีนี้ราคาพุ่งไปสูงถึงไร่ละ 7-8 ล้านบาท โดยเฉพาะบริเวณป่ายางพาราติดถนนสุขุมวิท ตลาดเนินสูง-เขาวัว ต.เขาวัว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี น่าจะเป็นตลาดทุเรียนใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก

สาเหตุที่คนจีนแห่มาลงทุนสร้างและเช่าล้งรับซื้อทุเรียนภาคตะวันออกมากที่สุดในปีนี้ บางรายตั้งเป็นบริษัทที่เป็นนิติบุคคล มีทั้งแบบร่วมทุนกับคนไทย และสร้างล้งให้คนจีนเช่า เพราะคนจีนมีความมั่นใจในคุณภาพทุเรียนภาคตะวันออก เนื้อแห้ง รสชาติอร่อย จึงได้ราคาสูงมาก และเป็นช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมที่ส่งไปขายในจีน แม้ราคาสูงแต่ผู้บริโภคจีนพร้อมซื้อ

ล้ง

ล้งใหญ่ 1 หมื่น ตร.ม. ขึ้นพรึ่บ

แหล่งข่าวจากบริษัท เคเอเอฟ อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กพอร์ต จำกัด กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันหลายบริษัทขนาดใหญ่เลือกที่ดินตั้งล้งติดริมถนนสุขุมวิท ในเขตเทศบาลเนินสูง-เขาวัว ตำบลเขาวัว ซึ่งถือเป็นถนนสายหลักที่มีระบบขนส่งเชื่อมต่อได้สะดวก ส่งผลให้ราคาที่ดินสูงขึ้นมากตั้งแต่ก่อนมีสถานการณ์โควิด ราคาไร่ละ 1-2 ล้านบาท จากนั้นในระยะเวลา 4-5 ปี ราคาขยับขึ้นมาถึงไร่ละ 7-8 ล้านบาท และล้งซื้อไปแทบทั้งหมดแล้ว รูปแบบการลงทุนมีทั้งก่อสร้างดำเนินธุรกิจเอง และสร้างให้ล้งเช่า

“ที่ดินที่ก่อสร้างล้งต้องมี 3-10 ไร่ขึ้นไป เพราะอาคารขนาดเล็กต้องใช้พื้นที่ 2,700-5,500 ตร.ม. (1ไร่=1,600 ตร.ม.) ส่วนใหญ่จะลงทุนสร้างล้งขนาดใหญ่ขนาด 10,000 ตร.ม. คนจีนจะเช่าล้งที่เป็นอาคารที่มีขนาดตั้งแต่ 2,800-5,500 ตร.ม. ทำสัญญาเช่า 1-3 ปี ค่าเช่าตารางเมตรละ 750-900 บาท มีระบบสาธารณูปโภคติดตั้งให้พร้อม ไม่ต้องลงทุนเอง เพราะการทำล้งเอง คนจีนต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและการก่อสร้างอาคารขนาดเล็กรวมค่าที่ดินต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 30-35 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

ที่ติด ถ.สุขุมวิทพุ่ง 10-13 ล้าน/ไร่

ทางด้าน นายเชิดศักดิ์ บุญเปี่ยม รองประธาน บริษัท เชิดศักดิ์ เจริญทรัพย์ฟรุ๊ต จำกัด รับก่อสร้างโกดังล้งและมีล้งให้เช่าในจันทบุรี 12 ล้ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาที่ดินในบริเวณถนนหลักตลาดเนินสูง ขึ้นราคามาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด เพราะการเข้ามาของล้งจำนวนมาก จำนวนล้งที่มีอยู่ไม่พอให้เช่า ทำให้ขณะนี้ราคาที่ดินพุ่งไปถึงไร่ละ 10-13 ล้านบาท เพราะล้งมีการแข่งขันสูง

“การลงทุนก่อสร้างล้งที่มาตรฐาน (ไม่รวมค่าที่ดิน) ล้งขนาด 2,000 ตร.ม. ต้องใช้เงินลงทุนอย่างต่ำ 25 ล้านบาท ถ้าเป็นขนาด 10,000 ตร.ม. ต้องใช้ทุน 100 ล้านบาทขึ้นไป และต้องใช้พื้นที่ 10 ไร่ จึงเป็นการลงทุนที่สูง ล้งที่เป็นของบริษัทที่ให้เช่าจะทำตามมาตรฐาน GMP และมีเลขทะเบียน DOA ส่งออกได้เลย” นายเชิดศักดิ์กล่าว

นายวิโรจน์ งามระเบียบ นายกเทศบาลตำบลเนินสูง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อ.ท่าใหม่ มีล้งจำนวนมากที่สุด โดยในพื้นที่เทศบาลตำบลเนินสูงพื้นที่เพียง 10 ไร่ ที่เป็นตลาดขายส่งมีคนเช่าเต็มทุกปี ส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าเดิม ๆ และมีล้งที่อยู่ในพื้นที่ส่วนตัวอยู่ 50-60 ล้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ถนนสายหลักมีการซื้อ-ขายที่ราคาไร่ละ 6-7 ล้าน

ล้งขยายตัวสู่ อ.นายายอาม

ทางด้าน นายวินัย แพทย์รังษี นายกเทศบาลตำบลเขาวัว-พลอยแหวน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ใน อ.ท่าใหม่ มีเทศบาลที่มีล้งอยู่ทั่วไปจำนวนมาก และมีการสร้างล้งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ เทศบาลตำบลเขาวัว-พลอยแหวน เทศบาลตำบลเนินสูง เทศบาลตำบลเขาบายศรี เทศบาลตำบลสองพี่น้อง เทศบาลตำบลหนองคล้า ทำราคาที่ดินสูงขึ้น เทศบาลตำบลเขาวัว ไร่ละ 5-7 ล้านบาท

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (สวพ.6) จำนวนโรงงานผลิตสินค้าพืชที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร (ทะเบียน DOA) ข้อมูล 12 มกราคม 2567 จำนวนโรงคัดบรรจุภาคะวันออกรวม 875 แห่ง คือ จันทบุรี 801 แห่ง ระยอง 41 แห่ง ตราด 25 แห่ง สระแก้ว 2 แห่ง ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง ชลบุรี 5 แห่ง โดย จ.จันทบุรี อำเภอที่มีล้งตั้งอยู่มากที่สุด คือ อ.ท่าใหม่ อ.เมืองจันทบุรี อ.มะขาม และ อ.ขลุง ตามลำดับ