15 จังหวัดเร่งเลี้ยงไก่งวง ส่งไป “ตะวันออกกลาง-เนปาล”

ศรีสุนันท์ พวงอินทร์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“ไก่งวง” หนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจที่เริ่มได้รับความนิยมในประเทศไทย และส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ศรีสุนันท์ พวงอินทร์” เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงระบบฟาร์ม ในฐานะประธานวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไก่งวงจังหวัดราชบุรี และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไก่งวง ราชบุรี จำกัด อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายสมาชิกรวม 15 จังหวัด ถึงแผนการเลี้ยง การทำตลาดภายใน และต่างประเทศ

ไก่งวงอินทรีย์สู้สินค้านำเข้า

“ศรีสุนันท์” เล่าว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่งวงใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ นครพนม สกลนคร และมหาสารคาม และเพิ่มเติมในส่วนของจังหวัดราชบุรี ซึ่งอยู่โซนภาคใต้ ได้รับการส่งเสริม เพราะมีลูกค้ากลุ่มประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ประกอบกับจังหวัดราชบุรีอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งฝรั่งต่างชาตินิยมเดินทางมาท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นการบริโภคไก่งวงจะมีมาก

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไก่งวง จ.ราชบุรี มีสมาชิกในเครือข่าย 15 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี อุทัยธานี สุโขทัย หนองบัวลำภู เลย อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา ขอนแก่น สกลนคร นครพนม มหาสารคาม

ประมาณ 333 ฟาร์ม เฉพาะจังหวัดราชบุรี มีสมาชิกประมาณ 70 ฟาร์ม

เกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มวิสาหกิจฯต้องมีพื้นที่การเลี้ยง ทำโรงเพาะฟัก และโรงขุน เพื่อผลิตไก่งวงครบวงจร ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไก่งวงราชบุรีเป็นกลุ่มที่เลี้ยง และทำตลาดให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงในจังหวัดอื่นทั้งหมด โดยทำหน้าที่ตั้งแต่วางแผนการเลี้ยงของแต่ละกลุ่ม กลุ่มใดเหมาะสมเลี้ยงไก่งวงสายพันธุ์ไหน ส่งออกประเทศอะไร เพราะความสามารถของเกษตรกรมีความแตกต่างกัน

ปัจจุบันเรามีการเลี้ยงไก่งวงทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ได้แก่ 1.สายพันธุ์อเมริกันบรอนซ์ (American Bronze) 2.สายพันธุ์เบลต์สวิลล์ สมอลล์ไวต์ (Beltsville Small White) และ 3.สายพันธุ์ขาวหนองบัวลำภู

สายพันธุ์ที่เรามีการเลี้ยง และใช้เป็นต้นพันธุ์ในยุคแรก คือ สายพันธุ์อเมริกันบรอนซ์ ได้มาจากศูนย์วิจัยทับกวาง จังหวัดสระบุรี และสายพันธุ์สมอลล์ไวต์ มาจากศูนย์วิจัยกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

ไก่งวง

โดยสายพันธุ์อเมริกันบรอนซ์มีลักษณะเด่น คือ โครงสร้างใหญ่ เนื้อค่อนข้างน้อย ส่วนสะโพกมีเนื้อสีชมพู ส่วนอกมีชั้นถุงไขมันแทรก ตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม อายุการเลี้ยงก่อนเชือด 180 วัน ส่วนตัวผู้มีน้ำหนักประมาณ 7-8 กิโลกรัม กลุ่มลูกค้าที่นิยมรับประทานคือ ชาวเยอรมัน

สายพันธุ์เบลต์สวิลล์ สมอลล์ไวต์ เป็นไก่งวงโครงร่างเล็ก กระดูกเล็ก แต่เนื้อหนา มีเนื้อขาวอมชมพู น้ำหนักตัวเมียประมาณ 4 กิโลกรัม ตัวผู้ประมาณ 5-6 กิโลกรัม อายุการเลี้ยงดูก่อนเชือด ประมาณ 180 วัน

กลุ่มลูกค้าที่นิยมรับประทานคือ ลูกค้าในโรงแรม หรือนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์

สายพันธุ์ขาวหนองบัวลำภู เกิดจากการที่ทางกลุ่มเกษตรกรได้นำไข่จากคนที่อิสราเอลส่งมาให้ฟัก และมาเป็นต้นทุนในการพัฒนา ตัวผู้น้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียประมาณ 20 กิโลกรัม เนื่องจากมีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีการเลี้ยงค่อนข้างยาก ทำให้ไม่มีตลาดรองรับ เราจึงได้มีการผสมพันธุ์ โดยใช้วิธีการผสมเทียมทั้งหมด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

จึงได้มีการนำสายพันธุ์อเมริกันบรอนซ์ และสายพันธุ์เบลต์สวิลล์ สมอลล์ไวต์มาผสมกัน จึงได้เป็นสายพันธุ์ขาวหนองบัวลำภู ลักษณะเด่นคือเลี้ยงได้ง่าย มีเนื้อหนา โครงร่างพอดีตัว ตัวผู้มีน้ำหนักประมาณ 7-8 กิโลกรัม มีอายุการเลี้ยงก่อนนำเข้าโรงเชือด ประมาณ 120 วัน ตัวเมียน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม มีอายุการเลี้ยงก่อนเข้าโรงเชือด ประมาณ 90 วัน

เดิมทีกระบวนการผลิตและการส่งเสริมการเลี้ยงไก่งวง ทางกรมปศุสัตว์จะส่งเสริมการเลี้ยงไก่งวงในรูปแบบของการเลี้ยงอิสระหรือมีมาตรฐานรองรับ แต่เนื่องจากพบปัญหาเรื่องสุขภาพของสัตว์ เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ จึงหันมาเลี้ยงไก่งวงแบบคอกยกพื้นสูง เมื่อเลี้ยงในคอกยกพื้น ปัญหาการป้องกันโรคก็ง่ายขึ้น อัตราการสูญเสียจากเดิมที่เลี้ยงแบบอิสระสูญเสีย 50% แต่เมื่อมาเลี้ยงคอกลอย การสูญเสียพบว่าอยู่ที่ประมาณ 5-10%

“เราจะเลี้ยงไก่งวงในคอกลอย ตั้งแต่เริ่มอนุบาล เมื่ออายุประมาณ 4-5 สัปดาห์ จะย้ายเข้าไปในคอกขุน และมีการแยกเพศ และเลี้ยงในปริมาณที่ไม่หนาแน่นเกินไป สำหรับพื้นที่การเลี้ยง ตัวผู้ 1 ตารางเมตรต่อ 3 ตัว ส่วนตัวเมีย 1 ตารางเมตร เลี้ยงได้ 4 ตัว”

ขณะเดียวกันเราต้องเลี้ยงไก่งวงให้แตกต่างจากต่างประเทศ ถ้าหากเลี้ยงเหมือนกันก็ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เนื่องจากต้นทุนของต่างประเทศถูกกว่า ตอนนี้การเลี้ยงเน้นเรื่องสุขภาพสัตว์ โดยเลี้ยงในรูปแบบอินทรีย์ เพื่อสร้างคุณภาพเนื้อให้มีลักษณะที่แตกต่าง มีขบวนการพัฒนาสูตรอาหารเอง

โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยง เพื่อคิดค้นสูตรอาหารที่เหมาะสมแต่ละช่วงอายุ พันธุ์หญ้าที่ให้บริโภคคือ พันธุ์หญ้าท้ายเขื่อน คล้ายหญ้าเนเปียร์ แต่มีความหวานและนิ่มกว่า ซึ่งในเครือข่ายเกษตรกรต้องมีการปลูกวัตถุดิบเอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต เราต้องการผลิตอาหารที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภค และใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด

เร่งส่งออกตะวันออกกลาง

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนไก่งวงราชบุรีได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นบริษัท ชื่อ “บริษัท ไก่งวง ราชบุรี จำกัด” ทำหน้าที่ผลิตและจัดจำหน่ายเนื้อไก่งวงแช่แข็ง แบบชิ้นส่วนและทั้งตัว รองรับตลาดทั้งภายในประเทศ และตลาดส่งออก โดยราคาในการรับซื้อจากสมาชิกจะมีการประชุม และมีมติด้านราคาร่วมกัน

ช่วงปี 2562-2563 ตลาดไก่งวงค่อยโตมาเรื่อย ๆ ความต้องการในตลาดค่อนข้างมาก ซึ่งตลาดที่ใช้ส่วนใหญ่จะนิยมนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) อาหารสุนัขและแมว มีสัดส่วนการขายส่งไปที่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ 70% ส่วนที่เหลือเป็นการบริโภคในประเทศ และส่งออก

ปัจจุบันตลาดแปรรูปสำหรับผู้บริโภคเติบโตมากยิ่งขึ้น ปี 2565 มียอดตลาดผู้บริโภคประมาณ 10 ตัน ส่วนปี 2566 มียอดตลาดผู้บริโภคประมาณ 20 ตัน ปี 2567 คาดว่าจะมียอดผู้บริโภคตลาดในประเทศ ประมาณ 40 ตัน โดยมีสินค้าแปรรูป อาทิ ไส้กรอก เบคอน และชิ้นส่วนแช่แข็ง

ตอนนี้ตลาดผู้บริโภคในประเทศเน้นประชาสัมพันธ์มากขึ้น ทำให้ในกลุ่มเชฟหรือกลุ่มผู้ผลิตอาหารในประเทศไทย เริ่มรู้จักไก่งวงของกลุ่มเรามากยิ่งขึ้น ทำให้ลดการนำเข้าไก่งวงจากต่างประเทศ กลุ่มลูกค้าในประเทศปัจจุบันมีทั้งโรงแรม สนามกอล์ฟ ร้านสถานบันเทิง ทำให้ยอดส่งในประเทศไทยมียอดเพิ่มขึ้น

ซึ่งดูจากออร์เดอร์ลูกค้าที่มีการขยับยอดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โรงผลิตบางแห่งจากเดิมที่เคยสั่ง 50 กิโลกรัม ก็เพิ่มเป็น 100 กิโลกรัม

ผภ.จากไก่งวง

เหตุผลที่โรงงานส่วนใหญ่เลือกซื้อสินค้าในประเทศ เพราะการนำเข้าต้องมีการสต๊อกสินค้าและซื้อเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าเลือกใช้วัตถุดิบในประเทศไทย สินค้าจะสดใหม่ เห็นคุณภาพสินค้า สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และราคาถูกกว่า อิงจากราคาขายในห้าง ไก่งวงนำเข้าขายประมาณ 690 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนไก่งวงในประเทศกิโลกรัมละ 320 บาท การบริโภคสัตว์มีปีกในต่างประเทศ ไก่งวงอยู่อันดับที่ 3 ของโลกที่มีการบริโภคสูง

ส่วนตลาดส่งออก ที่ผ่านมาได้หารือกับกรมปศุสัตว์ เพราะต้องไปว่าจ้างโรงเชือดของบริษัทอื่นให้ดำเนินการ ซึ่งล่าสุดได้โรงเชือดของบริษัท วินไทย ฟู้ด จำกัด จังหวัดสระแก้ว ในเครือบมจ.บางกอกแร้นช์

ซึ่งเป็นโรงเชือดขนาดใหญ่ที่ได้รับมาตรฐานโรงงานเพื่อการส่งออก (OFFICIAL EXPORTESTABLISHMENT CERTIFICATE-EST) เป็นผู้ดำเนินการให้ มีกำลังการเชือดได้ 400 ตัวต่อชั่วโมง เพื่อส่งออกไปตลาดตะวันออกกลาง และเนปาล ซึ่งมีความต้องการสินค้า ปีนี้คาดว่าจะมีตลาดส่งออกประมาณ 60 ตัน

ที่ผ่านมามีตลาดเกาหลี และญี่ปุ่น แสดงความสนใจ แต่เราติดปัญหาไม่มีโรงเชือดที่ได้มาตรฐานในการส่งออก ดังนั้นนับจากนี้เตรียมลุยหาตลาดส่งออก เพื่อเข้าเชือดให้ได้ปริมาณมากขึ้น เนื่องจากโรงเชือดค่อนข้างใหญ่ ระบบการทำงานทุกอย่างต้องวางแผน การทำความสะอาดโรงฆ่า การเตรียมตัวเข้าเชือดล่วงหน้า เพื่อประหยัดต้นทุนการดำเนินการ

เพราะฉะนั้น ตลาดที่จะซื้อสินค้ากับเราต้องมีแผนงานมาให้ด้วย เพราะเป็นสินค้าพรีเมี่ยมและมีปริมาณจำกัด