“SMEs อีสาน” ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม CBEC ไปจีน

SMEsอีสาน

หอการค้าอีสาน 5 จังหวัดนำร่องผนึกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เชื่อมสภาธุรกิจไทย-ลาว-จีน หนุนผู้ประกอบการ SMEs ส่งสินค้าบุกตลาดจีน ผ่านแพลตฟอร์ม CBEC ที่มีเครือข่ายร้านค้าออนไลน์

ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดี และหัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์ CIC หอการค้าจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น มุกดาหาร อุบลราชธานี และหนองคาย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสภาธุรกิจไทย-ลาว และสมาคมนักธุรกิจไทยในจีนภาคตะวันตกเฉียงใต้

เพื่อสร้างช่องทางผลักดันสินค้า SMEs ไทยเข้าไปจำหน่ายในตลาดจีนผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนไทย-จีน หรือ Cross Border e-Commerce (CBEC) เนื่องจากรัฐบาลจีนต้องการลดการเกินดุลการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านการอนุญาตให้สินค้าที่อยู่ในพิกัดศุลกากรพิเศษที่มากกว่า 1,650 พิกัด สามารถจำหน่ายในตลาดประเทศจีนได้

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับงบประมาณวิจัยทั้งจาก หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท) และ กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้างเพื่อทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้าน CBEC ของภูมิภาคเชื่อมโยงการค้าและการขนส่งทางบกระหว่างจีน-อาเซียน

โดยบทบาทของ CIC จะส่งเสริมในรูปแบบการฝึกอบรม พร้อมโฟกัสเรื่องศูนย์รวมสินค้า (Fulfillment Center) ที่ทำหน้าที่รับสินค้าจาก SMEs ไปจัดเก็บปลายทางที่เมืองคุนหมิง ซึ่งดูแลโดยสมาคมนักธุรกิจไทยในจีนภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขณะเดียวกันเตรียมทำศูนย์รวมสินค้าในไทย อาจจะตั้งอยู่ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะนำสินค้าคุณภาพสูงของกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มหอการค้าอีสาน 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น มุกดาหาร อุบลราชธานี และหนองคาย เข้าสู่แพลตฟอร์มเรียนรู้การขายผ่าน CBEC ที่พัฒนาโดยศูนย์ CIC CAMT มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทำการทดลองตลาด และทำความเข้าใจกระบวนการเข้าสู่ตลาดจีนจากการฝึกฝนจริง

จากนั้นจึงทำการคัดเลือกสินค้าที่มีศักยภาพสูงเพื่อเข้าสู่แพลตฟอร์ม CBEC เต็มรูปแบบผ่าน CBEC คุนหมิง ที่มีเครือข่ายร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในจีนต่อไป

ดร.ดนัยธัญกล่าวว่า แพลตฟอร์มของ CBEC เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมที่จะไปในรูปแบบของการค้าปกติ ที่ต้องไปจดทะเบียนการค้าใบอนุญาตนำเข้าสินค้า จึงจะส่งสินค้าเข้าไปขายในจีนได้ แต่ CBEC เป็นรูปแบบของการนำเข้าที่อาจจะลดหย่อนในส่วนของกฎระเบียบบางอย่างลง ทำให้ส่งสินค้าเข้าสู่ประเทศจีนได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ใน Positive List ที่จีนกำหนด ซึ่งมีมากกว่า 1 พันรายการ ที่จะลดหย่อนให้นำสินค้าเข้าได้ง่ายขึ้น

แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ขายในจำนวนต่อครั้งที่ลดลง ถ้าสินค้าขายได้ มีตลาดรองรับก็ค่อยยกระดับตัวเองไปสู่รูปแบบของการค้าปกติต่อไป

สินค้าที่จีนมีความต้องการ อาทิ อาหารแปรรูป กลุ่มคอสเมติก น้ำหอม โดยเฉพาะแชมพูมะกรูด เป็น Product Champion ที่ขายดีที่สุดผ่านแพลตฟอร์มของ CBEC ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอาจจะสมัครผ่านเครือข่ายของสมาพันธ์เอสเอ็มอีจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อดูความพร้อมและศักยภาพของสินค้าที่จะเข้าไปขายในตลาดจีน

สำหรับโอกาสทางการตลาดมีค่อนข้างมาก เนื่องจากรัฐบาลจีนมีนโยบายที่อยากให้สินค้าจากต่างประเทศเข้าไปขายให้มากขึ้น และสามารถควบคุมได้ ทางรัฐบาลจีนก็จะยินดี เช่น ระบบของ Cross Border e-Commerce ก็เป็นหนึ่งในช่องทางการค้าที่จีนสนับสนุน เห็นได้จากนโยบายการตั้ง Fulfillment Center ครบทุกมณฑลในประเทศจีน

ขณะนี้การซื้อขายในปัจจุบันพฤติกรรมของผู้ซื้อเปลี่ยนไปที่จะซื้อผ่านแพลตฟอร์ม เป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SMEs ไทยเข้าถึงตลาด

ดร.จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว กล่าวว่า มิติความร่วมมือระหว่างสภาธุรกิจไทย-ลาว กับศูนย์ CIC มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาคมนักธุรกิจไทยในจีนภาคตะวันตกเฉียงใต้ ช่วยให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนผ่านช่องทาง CBEC เท่านั้น แต่ยังสามารถร่วมกับผู้ประกอบการ SMEs ประเทศลาว และบริษัทผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ของลาว เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระบบโลจิสติกส์ และระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ

ซึ่งถือเป็นส่วนที่มีผลต่อต้นทุนธุรกรรมของ SMEs และทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการลาว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางการค้าให้กับทั้งสองประเทศได้

นางจันทร์จิรา อนันต์ชัยพัฒนา นายกสมาคมนักธุรกิจไทยในจีนภาคตะวันตกเฉียงใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันคลังสินค้าทัณฑ์บนที่คุนหมิงสามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จีนได้หลากหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Pin Duo Duo Taobao GlobalTmall Global

รวมไปถึงแพลตฟอร์ม Kuai Shou ที่เป็นรูปแบบแพลตฟอร์มนำเสนอสินค้าแบบคลิปวิดีโอสั้นโดย Influencer จีน ที่ทำให้รูปแบบการขายและโลจิสติกส์ด่วนในตลาดปลายทางสามารถเข้าถึงกลุ่มพื้นที่ตลาดใหม่ยุคดิจิทัลของจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ