4 กลยุทธ์สำหรับ SMEs บริหารธุรกิจแกร่งในทุกสถานการณ์

คอลัมน์ : Smart SMEs
ผู้เขียน : finbiz by ttb

โลกธุรกิจในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค ข้อบังคับทางกฎหมาย กระแสสังคมและสื่อต่าง ๆ อีกทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาและต้องเตรียมรับมือในหลายด้าน

finbiz by ttb ได้สรุปแผนกลยุทธ์สำหรับ SMEs ที่จะต้องให้ความสำคัญ มี 4 ปัจจัยหลัก ซึ่งหากจัดการได้อย่างดีแล้ว มีโอกาสสูงที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน และสามารถพัฒนาไปเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งได้ในอนาคต

1.การบริหารกระบวนการที่ดี จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มส่วนต่างระหว่างต้นทุนกับรายได้ โดยธุรกิจสามารถใช้แนวคิด LEAN เข้ามาบริหารกระบวนการเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้แก่ การใช้ทรัพยากรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบ

ซึ่งจะส่งผลให้มีภาพลักษณ์ของธุรกิจที่รักษ์โลกได้อีกด้วย การประหยัดเวลาในกระบวนการ ซึ่งสามารถเกิดจากการใช้นวัตกรรมหรือระบบการจัดการที่ดี และการลดความผิดพลาดและความสูญเปล่าในกระบวนการ

2.การบริหารการเงิน เพื่อให้มีสภาพคล่อง โดยผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง การหาแหล่งเงินทุนสำรอง พิจารณาสินเชื่อในรูปแบบต่าง ๆ ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการใช้ ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะได้รับสินเชื่อแล้ว ยังช่วยให้ธุรกิจได้รับความสนใจมากขึ้นจากทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน

นอกจากนี้ ควรเลือกใช้บริการการเงินเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวน เช่น บริการสกุลเงินท้องถิ่นสำหรับการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

3.การพัฒนาบุคลากร เพราะบุคลากรเป็นอีกฟันเฟืองที่สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อบุคลากรในองค์กรรู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง จะช่วยกระตุ้นการสร้างสรรค์งานให้สำเร็จได้ง่ายขึ้น ซึ่งการพัฒนาบุคลากรประกอบด้วยปัจจัยดังนี้

1) สร้างสวัสดิการด้านสุขภาพกายและจิตที่เป็นมาตรฐาน ช่วยให้พนักงานมีความรู้สึกอุ่นใจและมีคุณค่าต่อองค์กร เป็นตัวกระตุ้นผลงานที่มีประสิทธิภาพ

2) ส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้ความสามารถ นอกจากจะช่วยให้องค์กรมีผลผลิตที่ดีขึ้น ยังช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และส่งเสริมความจงรักภักดีต่อองค์กร

3) เปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงถึงอัตลักษณ์ และแสดงความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการมีส่วนร่วมในองค์กรตามแนวคิด DEI & B ที่เน้นเรื่องความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม

4) มีระบบจ่ายเงินเดือนที่มีประสิทธิภาพที่สามารถดูแลและจัดการได้อย่างครอบคลุม จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมาตรฐานให้กับองค์กร และช่วยให้พนักงานสามารถจัดการคุณภาพชีวิตทางการเงินของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

4.การพัฒนาการตลาด

1) เพิ่มจุดที่ลูกค้าสามารถเห็นสินค้าและบริการของธุรกิจของเราได้ (Touch Point) แบบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูกค้า และสามารถจับจ่ายได้ทันทีที่ตัดสินใจ

2) นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ทุกการจับจ่ายของลูกค้าสะดวก และเกิดขึ้นได้ในหลากหลายช่องทาง โดยใช้เครื่องมือที่ให้ลูกค้ามีตัวเลือกในการชำระ รวมถึงต้องสามารถทำได้ทันทีที่ตัดสินใจ ด้วยบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น เครื่องรูดบัตร EDC , ลิงก์สำหรับรับชำระเงินที่สามารถรับได้ทั้งบัตรเครดิตและเดบิต รวมถึงการรับชำระด้วย QR Code และแอปพลิเคชั่นช่วยจัดการร้านค้า

3) ใช้ความได้เปรียบจากการทำโฆษณาที่มีต้นทุนต่ำลง ด้วยการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย

4) กระจายความเสี่ยงด้วยการนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ โดยไม่พึ่งพาตลาดหลักเพียงแห่งเดียว

ด้วย 4 กลยุทธ์หลักนี้ หาก SMEs นำไปคิดหาวิธีจัดการ ให้มีระบบการจัดการบริหารงานที่ดี ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถเลือกวิธีการที่ผู้ประกอบการมีความถนัดและมีทรัพยากรก่อน แล้วจึงพัฒนาวิธีการที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป พร้อมกับการมีเครื่องมือที่มารองรับการพัฒนาดังกล่าว ซึ่งสถาบันทางการเงินและธนาคารในยุคนี้ก็มีเครื่องมือทางการเงิน และเครื่องมือด้านทรัพยากรบุคคลและสวัสดิการต่าง ๆ

รวมไปถึงหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการให้ผู้ประกอบการได้เลือกสรร สามารถปรึกษาที่ศูนย์บริการลูกค้าธุรกิจและเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ (Relationship Manager) ของธนาคาร เพราะปัจจุบันธนาคารให้บริการได้มากกว่าเรื่องเงิน…