“ศุภกร” ดีไซเนอร์ล้านนา ปั้น “LONG GOY” สู่ตลาดโลก

ศุภกร สันคนาภรณ์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“LONG GOY” (ลองกอย) แบรนด์เสื้อผ้าล้านนาแนวสตรีตแฟชั่น เป็น Local Brand ปักหมุดอยู่ ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ ในตำบลสันกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

การเกิดขึ้นของ “ลองกอย” เป็นการต่อยอดธุรกิจจากธีสิสของดีไซเนอร์หนุ่มวัย 28 ปี สมัยเรียนคณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่นำเรื่องราวของล้านนาในทุกมิติดีไซน์ลงบนผืนผ้า

ความน่าสนใจของลองกอย ไม่เพียงเป็นแบรนด์แฟชั่นเท่านั้น แต่ได้ยึดโยงผสมผสานวัฒนธรรมล้านนาเข้ากับเสื้อผ้าแนวสตรีตได้อย่างลงตัว เป็นหัตถอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานท้องถิ่นละแวกบ้านในการตัดเย็บ ซึ่งทำมาแล้วถึง 10 คอลเล็กชั่น วางขายที่ห้างดังอย่าง คิง เพาเวอร์ รางน้ำ, เซ็นทรัลเวิลด์ และบลูพอร์ต หัวหิน

“ศุภกร สันคนาภรณ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลองกอยสตูดิโอ จำกัด ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนการรุกตลาดของแบรนด์ “LONG GOY” ในปี 2567

โปรเจ็กต์ LONG GOY สู่ธุรกิจ

ศุภกรเล่าว่า เติบโตมากับโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าพื้นเมืองประยุกต์ ธุรกิจเล็ก ๆ ของครอบครัวเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว พื้นที่ใต้ถุนบ้านคือ โรงงาน โดยมีคุณแม่เป็นช่างตัดเย็บ ชื่อแบรนด์ “บัวเขียวผ้าฝ้าย” และส่งไปขายหน้าร้านที่เปิดอยู่ตลาดนัดจตุจักร กรุงเทพฯ ความเป็นดีไซเนอร์ของผม อาจได้รับอิทธิพลมาจากคุณแม่ตั้งแต่วัยเด็กอย่างไม่รู้ตัว จากการซึมซับในสิ่งที่ได้มองเห็นจากเสื้อผ้า วิธีการตัดเย็บ หรือการได้ไปเดินซื้อผ้าที่กาดหลวงกับคุณแม่

นำมาสู่การเรียนในคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งได้มีโอกาสเรียนเกี่ยวกับ Textile การออกแบบลายผ้าและการออกแบบแฟชั่นด้วย

จึงได้นำธีสิสที่ใช้ชื่อหัวข้อว่า “LONG GOY” ซึ่ง ลองกอย ภาษาเหนือ แปลว่า ลองดู ลองทำดู ภายใต้คอลเล็กชั่น “The Story of Lanna” เป็นงานออกแบบลายผ้าพื้นเมืองแนวสตรีตแฟชั่นด้วยเทคนิคเฉพาะ โดยบอกเล่าเรื่องราวของล้านนาในมิติต่าง ๆ ผ่านเสื้อผ้าแฟชั่น เป็นชิ้นงานที่มีความแตกต่างและแปลกใหม่ ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากอาจารย์ผู้สอน จึงนำมาต่อยอดธุรกิจ สร้างแบรนด์ “LONG GOY” ตั้งแต่ 7 ปีที่แล้วหลังเรียนจบ โดยใช้พื้นที่โรงงานใต้ถุนบ้านเป็นที่ในการตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งทำมาแล้ว 10 คอลเล็กชั่น

ขึ้นห้างคิง เพาเวอร์-เซ็นทรัล

ศุภกรบอกว่า แบรนด์ลองกอยผลิตเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นแรก ชื่อว่า “The Story of Lanna” เป็นการยกงานธีสิสมาเปิดตลาด ชิ้นงานเป็นเสื้อคลุมคล้ายกิโมโน ที่เล่าเรื่องราวล้านนายุคเก่า ๆ ให้ดูใหม่บนผืนผ้า โดยนำไปโชว์ในงานแฟชั่นดีไซน์หลายงานในกรุงเทพฯ และได้รับโอกาสจากคิง เพาเวอร์ (KING POWER) ที่อยากให้นำสินค้าของลองกอย เข้าไปขายในโซน Thai Designer ที่คิง เพาเวอร์ รางน้ำ และถือเป็นการเริ่มต้นธุรกิจที่ได้เรียนรู้ไปกับคิง เพาเวอร์

โดยลูกค้ากลุ่มหลักเป็นคนต่างชาติ อาทิ ญี่ปุ่น ยุโรป และจีน จากนั้นได้ต่อยอดขยายสินค้าให้หลากหลายขึ้น ทั้งกางเกง เสื้อเชิ้ตแขนสั้น เสื้อฮาวาย ชุดทำงาน เสื้อแจ็กเกตที่เป็นแนว Everyday Clothes ใส่ได้ทุกวัน ซึ่งปัจจุบันสินค้าของลองกอยวางขายที่คิง เพาเวอร์ รางน้ำ, เซ็นทรัลเวิลด์ และบลูพอร์ต หัวหิน

ตอนนี้ผลิตผลงานมาแล้วถึง 10 คอลเล็กชั่น โดยจะทำออกมาปีละ 1 คอลเล็กชั่น ซึ่งไม่เพียงเรื่องราวของล้านนาที่ถูกหยิบมาเป็นเรื่องเล่าให้ดูใหม่บนผืนผ้าเท่านั้น แต่ปรากฏการณ์สำคัญของล้านนาอย่างเรื่อง PM 2.5 ก็ได้ถูกนำมาดีไซน์เป็นคอลเล็กชั่นหนึ่งของลองกอยด้วยเช่นกัน

LONG GOY

โดยเปรียบอากาศที่ดีกับอากาศที่เสียเป็นน้ำหนักสี เป็นสองน้ำหนักที่แตกต่างกันไป ถ้าช่วงที่อากาศดีจะเป็นสีขาวหรือสีฟ้าสดใส แต่ถ้าช่วงไหนที่อากาศไม่ดี เสื้อผ้าจะเป็นสีหนัก ๆ อย่างน้ำเงินเข้ม และวาดลวดลายบนเสื้อผ้าเป็นก้อนเมฆ

ซึ่งคอลเล็กชั่นนี้เน้นเสื้อผ้าแนว Ready to Wear มากขึ้น มีความแปลกใหม่อยู่ที่ทรงเสื้อผ้าที่หลากหลายและสนุกสนาน และเป็นคอลเล็กชั่นที่ขายดี

“ไม่ว่าคอลเล็กชั่นไหน หรือคอนเซ็ปต์อะไร ก็จะยึดความเป็นล้านนาเป็นจุดขาย อนุรักษ์ความเป็นล้านนาถ่ายทอดลงบนผืนผ้าที่ไปสู่สายตาคนทั้งโลก เพราะเสื้อผ้าสามารถเดินทางไปได้ทุกที่บนโลก โดยผ้าทุกชิ้นใช้ผ้าทอมือจากอำเภอจอมทอง เน้นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ใช้แรงงานตัดเย็บในท้องถิ่นละแวกบ้านสันป่าตอง เป็นการใช้ Soft Power ที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้เป็นแบรนด์ลองกอย”

ศุภกรบอกว่า ช่วงโควิด-19 เป็นช่วงที่ทุกอย่างหยุดชะงัก จึงมีเวลาทบทวนตัวเอง และเห็นความธรรมดาของเสื้อผ้าที่ตัดมาหลายคอลเล็กชั่น ที่ดูธรรมดาเกินไป จึงตัดสินใจไปเรียนต่อด้านแฟชั่นที่ Bunka Fashion School สาขากรุงเทพฯ เติมเต็มความรู้ในการทำแพตเทิร์นจนเกิดความเชี่ยวชาญ LONG GOY

ซึ่งความเป็นดีไซเนอร์ของตัวเอง มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น ทั้งการครีเอตเรื่องราว การออกแบบลายผ้า การดีไซน์และการวางแพตเทิร์น ที่ทำด้วยตัวเองทั้งหมด สามารถเพิ่มมูลค่าของเสื้อผ้าแต่ละชิ้นให้สูงขึ้นมากกว่าเดิม เป็นจุดเปลี่ยนของแบรนด์ลองกอย ที่มีทรงเสื้อผ้าแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร มีความเป็นตัวเองอย่างชัดเจนมากขึ้น

รุกปี’67 เพิ่มยอดขาย 50%

ปัจจุบันการทำตลาดของแบรนด์ลองกอย วางขายบนห้าง 50% และทำตลาดเอง 50% ผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งไอจี เฟซบุ๊ก และลูกค้าสั่งตัด มีกำลังการผลิตอยู่ที่ราว 100-200 ชิ้นต่อเดือน โดยในปี 2567 วางแผนขยายตลาดนำสินค้าเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น และกว้างขึ้น ทำสินค้าที่ทำให้คนกล้าใส่มากขึ้น เพิ่มแบบของเสื้อผ้า เช่น เสื้อยืดที่ออกแบบลวดลาย และดีไซน์เอง แต่จ้างคนอื่นผลิตให้ พร้อมกับเตรียมขยายตลาดสินค้ากลุ่มใหม่ไปห้างเดิม 3 ห้างที่ขายอยู่ รวมถึงมีแผนขยายไปภูเก็ตและสมุย

ขณะเดียวกันก็จะรุกตลาดออนไลน์มากขึ้น สำหรับยอดขายในปี 2566 อยู่ที่ราว 5 แสนบาท เป็นช่วงหลังโควิดที่เริ่มกลับมามีรายได้อีกครั้ง โดยในปี 2567 ตั้งเป้ายอดขายเพิ่มขึ้น 50% จากปีที่แล้ว

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ย้ายจากพื้นที่ใต้ถุนบ้าน มาที่โรงงานใหม่ ซึ่งสร้างอยู่ภายในบริเวณบ้าน ต้องการทำให้โรงงานแห่งนี้เป็น Flagship Store ของแบรนด์ลองกอย โดยโรงงานแห่งใหม่ยังคงทำควบคู่กับแบรนด์ ‘บัวเขียวผ้าฝ้าย’ ของคุณแม่”

 

สำหรับคอลเล็กชั่นล่าสุดปี 2567 มีชื่อว่า “Hmong In Game” (ม้งอินเกม) เป็นเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ซึ่งอยู่ในดินแดนล้านนา นับจากอดีตที่ชาวม้งอพยพหนีสงครามจากจีนลงมา และเดินทางมาตั้งรกรากใช้ชีวิตอยู่บนภูเขาทางตอนเหนือของประเทศไทย ดำเนินชีวิตหารายได้ด้วยการลงมาค้าขายในเมืองเชียงใหม่และกลายเป็นคนเมือง เป็นการเล่าเรื่องราวสนุก ๆ และนำลวดลายเสื้อผ้าของชาวม้งผสมกับลวดลายเกม 8 บิต และลวดลายการดีไซน์ของลองกอย เป็นลวดลายที่เล่าเรื่องราวของชาวม้งแต่ละช่วง

ศุภกรบอกว่า การพัฒนาแบรนด์จาก Local Brand สู่แบรนด์ระดับโลก หรือระดับสากล สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนางานอย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งแบรนด์ใหญ่ ๆ ทั้งโลกก็มาจากความเป็น Local ด้วยกันทั้งสิ้น ก่อนที่ปารีสจะเป็นเมืองแฟชั่น ก็อยู่กันแค่ในปารีสมาก่อน แต่การที่จะทำให้เป็นแบรนด์ที่ยอมรับระดับสากล ก็ต้องสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวสินค้า ซึ่งแบรนด์เสื้อผ้าดัง ๆ ก็จะใช้เทคนิคเฉพาะที่แตกต่างกันไป เช่น ใช้งานมือ การปักลวดลายที่เป็นเทคนิคพิเศษ

ในส่วนของลองกอยก็พยายามสร้างเทคนิคเฉพาะ เช่น การกัดสี งานมือ ที่ทำให้ชิ้นงานมีเอกลักษณ์ มีความเป็นหัตถอุตสาหกรรมอย่างลงตัว ซึ่งลองกอยก็ดูแบบอย่างของแบรนด์ดังระดับโลก และนำมาพัฒนาปรับให้เป็นตัวเอง และจากโลคอลก็จะเริ่มกลายเป็นโกลบอลมากขึ้น

ณ เวลานี้ ลองกอยยังอยู่ระดับโลคอลแบรนด์ ซึ่งการจะเป็นระดับโลกต้องมีทีมที่ใหญ่มากขึ้น ซึ่งตอนนี้เริ่มหาทุนเพื่อมาขยายทีม โดยเฉพาะในปีนี้ตั้งใจขายมากขึ้น อยากให้ลองกอยเติบโตก้าวไปสู่ระดับไทยแบรนด์ให้ได้ก่อน

LONG GOY (ลองกอย) เป็นโลคอลแบรนด์ที่ไม่ลืมราก ไม่ลืมท้องถิ่นที่เป็นบ้านเกิด เรื่องราวล้านนาบนผืนผ้าที่มีเอกลักษณ์จากดีไซเนอร์มากฝีมือวัย 28 ปีคนนี้ คงจะก้าวสู่แบรนด์ระดับโลกได้ในไม่ช้า