VPF รุก 40 ช็อป “หมูวีพี” ทำ Cobranding ยักษ์คาร์กิลล์

Wanichchayan-Woraphong-VPF
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“วีพีเอฟ กรุ๊ป” (VPF) กลุ่มทุนท้องถิ่นของ จ.เชียงใหม่ ที่ทำอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายเนื้อสุกรครบวงจรรายใหญ่ในภาคเหนือมาอย่างยาวนานถึง 51 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ “คุณค่าเหนือมาตรฐาน” (Value Beyond Standard) ที่ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจและสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะการรุกสู่ธุรกิจร้านค้าปลีก (Retail Shop) “หมูวีพี” ปูพรม 40 สาขา ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือ

วนิชญ์ชญาญ์ จีรประภาพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการตลาดและขาย และ วรพงศ์ จีรประภาพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร บริษัท วีพีเอฟ กรุ๊ป (1973) จำกัด Gen 2 แห่งวีพีเอฟ กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการเปิดเกมรุกปลุกปั้นแบรนด์ “หมูวีพี” ดันยอดขาย 1,500 ล้านบาทในปี 2567

รุก Retail Shop แบรนด์ “หมูวีพี”

วนิชญ์ชญาญ์บอกว่า วีพีเอฟ กรุ๊ป เริ่มขยายไลน์สู่ร้านค้าปลีกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ “หมูวีพี” ตั้งแต่ปี 2560 ประกอบด้วย 1.กลุ่มเนื้อหมูสด เนื้อหมูแช่แข็ง 2.กลุ่ม Ready to Eat ผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแปรรูป ได้แก่ ไส้กรอก ฮอตดอก เบคอน ค็อกเทล ลูกชิ้น หมูยอ ขาหมู 3.กลุ่ม Ready to Cook ผลิตภัณฑ์กลุ่มเนื้อหมูพร้อมปรุง อาทิ หมูหมัก หมูนุ่ม หมูบด หมูชาชู หมูสเต๊ก น้ำซุปสูตรเข้มข้น 4.น้ำจิ้มสามรส น้ำจิ้มสูตรมะขาม และเครื่องปรุงรส

VPF

ปัจจุบันมี 21 สาขา กระจายอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ 19 สาขา ลำพูน 1 สาขา และเชียงราย 1 สาขา (แม่ขะจาน) วางจุดขายสำคัญคือ คุณภาพสินค้าที่สดใหม่ ความสะอาดของร้าน และการดิสเพลย์สินค้าที่มีครบทุกไอเท็ม ซึ่งเป็นจุดแข็งของแบรนด์ “หมูวีพี” ที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันท่ามกลางธุรกิจร้านค้าปลีกจำหน่ายเนื้อหมูที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มลูกค้าหลักมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มลูกค้าทั่วไปและกลุ่มร้านอาหาร

ปี’67 ดันรายได้ 1.5 พันล้าน

วรพงศ์กล่าวว่า ปี 2566 ผลประกอบการของวีพีเอฟ กรุ๊ป ประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยปี 2567 ตั้งเป้าเพิ่มขึ้น 30% หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยจะรุกขยายร้านค้าปลีกเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดสำคัญ จะช่วยผลักดันรายได้ให้ถึงเป้าหมาย 1,500 ล้านบาท โดยแผนครึ่งหลังปี 2567 เตรียมขยายร้านค้าปลีกไปจังหวัดลำปาง 3 สาขา ได้แก่ โซนเขตตัวเมืองลำปาง 2 สาขา และอำเภอเกาะคา 1 สาขา จะทำให้มีสาขาเพิ่มเป็น 24 สาขาภายในปี 2567

ขณะเดียวกันภายในปี 2570 มีแผนขยายสาขา “หมูวีพี” ไปอีก 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน พะเยา ให้ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จะทำให้มีสาขาเพิ่มเป็น 40 สาขา

การทำร้านค้าปลีก “หมูวีพี” เป็นการนำผลิตภัณฑ์ทุกไอเท็มของวีพีเอฟ กรุ๊ป เข้าถึงผู้บริโภคที่เป็นกลุ่ม End-user ซึ่งการขยาย Shop มากขึ้น จะสามารถเจาะลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ต้องการความสะดวก การเข้าถึงง่าย และมีสินค้าครบ ขยายฐานกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายขึ้น ทั้งกลุ่มลูกค้าที่ทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน และกลุ่มร้านอาหารที่สามารถรับสินค้าได้ที่ Shop แต่ละสาขา โดยสัดส่วนทางการตลาดของร้านค้าปลีก “หมูวีพี” อยู่ที่ราว 70% ที่เหลืออีก 30% เป็นกลุ่มลูกค้าเขียงหมูในตลาดสดและโมเดิร์นเทรด เช่น โก โฮลเซลล์)

นอกจากนี้ ยังได้ส่งผลิตภัณฑ์เข้าร้านอาหารโดยตรง ซึ่งกลุ่มสินค้าขายดีที่สุดคือ หมูชาชูสไลด์ เนื้อหมูที่นำไปใช้ในเมนูราเมน ลูกค้าหลัก อาทิ โอซาวาราเมน (Ozawa Ramen) ที่ตั้งอยู่ในปั๊ม ปตท. โดยมีบริษัทวีพีเอฟพรีเมี่ยมฟู้ด ในเครือวีพีเอฟ กรุ๊ป ที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหน่วยกระจายสินค้าไปสู่ร้านอาหารต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ เน้น B to B ซึ่งสัดส่วนมากกว่า 80% เป็นกลุ่มร้านอาหารที่มีทั้งร้านอาหารแบบ Stand Alone และร้านอาหารกลุ่มแฟรนไชส์

VPF

วนิชญ์ชญาญ์กล่าวว่า หลังโควิดได้พบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องการความสะดวกและการเข้าถึงง่าย ดังนั้น เราต้องเข้าถึงผู้บริโภคให้สะดวกที่สุด เพิ่มความง่ายให้กับผู้บริโภค มีไซซ์โปรดักต์ที่หลากหลายที่เน้น End-user โดยตรง หรือกลุ่มร้านอาหารที่ไม่ต้องการสต๊อกของสดมาก ถ้าต้องการสินค้าเพิ่มเติมก็สามารถขี่มอเตอร์ไซค์ไปซื้อที่ร้าน “หมูวีพี” ได้ ร้านเปิด 07.00-21.00 น. (เขตตัวเมือง) ร้านรอบนอกเปิด 05.00-20.00 น.

ยกระดับโรงงานผลิตอาหารสัตว์

วรพงศ์บอกต่อว่า สายการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำของวีพีเอฟ กรุ๊ป ในปัจจุบันมีฟาร์มพ่อแม่พันธุ์สุกรอยู่ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่, ฟาร์มที่ อ.แม่ทา จ.ลำพูน เป็นฟาร์มพ่อแม่พันธุ์สุกร-สุกรขุน และโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ล่าสุด ได้ขยายฟาร์มสุกรเพิ่มอีก 1 แห่ง (ฟาร์มที่ 3) ที่ อ.เกาะคา จ.ลำปาง ส่วนโรงงานชำแหละ ตัดแต่ง โฟรเซ่นและแปรรูปผลิตภัณฑ์อยู่ที่ ต.ชมพู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ โดยฟาร์มทั้ง 3 แห่ง สามารถผลิตหมูได้ราว 12,000-15,000 ตัวต่อเดือน

ขณะเดียวกันมีสินค้าที่ขายออกไป เช่น การขายลูกหมูให้กับฟาร์มอื่นด้วย ราว 5,000-8,000 ตัว แล้วแต่ช่วงระยะเวลา โดยมีแม่พันธุ์หมูทั้งสิ้น 9,000 ตัว สามารถผลิตลูกหมูได้ปีละราว 200,000-300,000 ตัว ปัจจุบันมีกำลังการผลิตชำแหละหมูราว 300-350 ตัวต่อวัน

สำหรับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ อ.แม่ทา จ.ลำพูน ดำเนินการมา 27 ปี เพื่อป้อนให้กับฟาร์มของเครือวีพีเอฟทั้งหมด มีกำลังการผลิตราว 7,000 ตันต่อเดือน แต่เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 วีพีเอฟ กรุ๊ปได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท คาร์กิลล์สยาม จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสัตว์ระดับโลก เราจะร่วมกันพัฒนาการผลิตอาหารสุกรของวีพีเอฟให้ได้มาตรฐานสูงขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตอาหารสัตว์ระดับโลกของคาร์กิลล์

โดยหลังจากร่วม MOU เป็นพาร์ตเนอร์กับคาร์กิลล์ในเฟสแรก จะผลิตอาหารสัตว์ตามระบบมาตรฐานของคาร์กิลล์ ส่วนเฟสที่ 2 มุ่งไลน์การผลิตป้อนให้กับลูกค้าภายนอกของคาร์กิลล์ และสามารถต่อยอดในธุรกิจอื่น ๆ ร่วมกันได้ โดยเฉพาะโครงการที่คาร์กิลล์มีแผนจะขยายการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งวีพีเอฟก็อาจจะมีโอกาสร่วม Joint ได้

MOU คาร์กิลล์ทำ Cobranding

วนิชญ์ชญาญ์กล่าวต่อว่า ความร่วมมือกันครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับบริษัทระดับโลก ซึ่งคาร์กิลล์เล็งเห็นว่าวีพีเอฟเป็นธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยมุ่งผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น และภายในระยะเวลา 3-5 ปีนี้ ยังมีโครงการต่อเนื่องที่จะร่วมมือกับคาร์กิลล์

โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ (Cobranding) ระหว่างกัน เพื่อเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ไปสู่ฐานลูกค้าของอีกแบรนด์หนึ่ง เป็นการเสริมความแกร่งให้กันและกัน โดยตามแผนที่วางไว้จะลงทุนทำ Shop เฉพาะระหว่างคาร์กิลล์และวีพีเอฟ ซึ่งชื่อแบรนด์ยังไม่สรุปชัดเจน ทั้งนี้ โปรดักต์ของคาร์กิลล์ไม่ได้มีเฉพาะแค่หมู แต่มีครบวงจรทั้งหมู ไก่ ปลา ฯลฯ คาดว่าจะเริ่มราวปลายปี 2568 เจาะฐานลูกค้าเขตภาคกลาง

วรพงศ์กล่าวเสริมว่า คาร์กิลล์จะผลิตสูตรอาหารสัตว์ที่เน้นไขมันดี ผลิตเนื้อหมูมีโอเมก้า 3 เพื่อให้หมูมีสุขภาพดี เสริมสร้างกล้ามเนื้อด้วยโปรตีนชนิดดี ซึ่งผู้บริโภคเนื้อหมูได้รับสารอาหารที่ดีและปลอดภัยมากขึ้น ตอบโจทย์เทรนด์คนรักสุขภาพ จะช่วยยกระดับคุณภาพอาหารสัตว์ของวีพีเอฟให้มีมาตรฐาน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สูงขึ้น

VPF

โดยวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 จะเริ่มผลิตอาหารสัตว์ภายใต้สูตรของคาร์กิลล์ ป้อนฟาร์มหมู 3 แห่งของวีพีเอฟ ขณะเดียวกัน วีพีเอฟจะรับจ้างผลิตให้กับคาร์กิลล์ เพื่อส่งอาหารสัตว์ให้กับลูกค้าของคาร์กิลล์ในเขตภาคเหนือ

วนิชญ์ชญาญ์และวรพงศ์บอกว่า การเข้ามาทำงานในรุ่นของ Gen 2 สิ่งที่ต้องยึดเป็นหลักคิดสำคัญคือ นำประสบการณ์ของคุณพ่อคุณแม่ที่สร้างวีพีเอฟ กรุ๊ป จนเติบโตมาถึง 51 ปี ผนวกเข้ากับประสบการณ์ของรุ่นลูก ที่ต้องหาจุดกึ่งกลางให้เจอ ซึ่งต้องรู้ก่อนว่าเราไม่รู้อะไร และต้องพัฒนาตัวเองในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดให้องค์กรเกิดความยั่งยืน