“มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ” สะท้อน EEC-รถไฟความเร็วสูง ชุบชีวิตเมืองเก่าหรือสร้างปัญหาเพิ่ม ?

สัมภาษณ์

ความพยายามในการผลักดันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างสุดตัวของรัฐบาล เพื่อเร่งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลาง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ” ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์ แอนด์ ลีฟวิ่ง จำกัด ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ชลบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ได้มาฉายมุมมองและภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นจริง หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบาย EEC ว่า มีผลบวกและผลกระทบต่อคนในท้องที่ชลบุรีวันนี้อย่างไร โดยเฉพาะผลพวงหลังจากประกาศโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

Q : ผลบวก EEC ต่อการพัฒนาเมือง

ตอนนี้ความคืบหน้า EEC จริง ๆ ยังไม่มา มีแต่ราคาที่ดินที่พุ่งขึ้นไป 2-3 เท่าตัว ยกตัวอย่าง กรณีโครงการรถไฟทางคู่เองก็แทบไม่มีผลกับท้องถิ่นเลย เพราะรถไฟนิยมใช้ในการขนถ่ายตู้สินค้า แต่เพื่อการโดยสารคนไม่ได้นิยมใช้กัน คนที่ได้ประโยชน์จริง ๆ คือ คนที่ทำการขนสินค้ามากกว่า

ที่ผ่านมาในภาคตะวันออก แทบไม่มีคนเดินทางโดยรถไฟ ดังนั้น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้นที่กำลังเปิดประมูลอยู่ จะมีผลบวก ผลกระทบต่อจังหวัดชลบุรีแค่ไหน ยังเป็นคำถามอยู่

ที่สำคัญ ปกติการจะทำโครงการขนาดใหญ่ต้องศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ของโครงการ แต่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีการทำ feasibility study หรือไม่ เพราะคนชลบุรีไม่รู้สึกเลยว่ามีการทำ ทั้งที่การศึกษาความเป็นไปได้เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก แต่ภาพการศึกษาความคุ้มค่าความเป็นไปได้ไม่ปรากฏแก่สาธารณะมากพอ แม้แต่การเลือกระบบการวิ่งรถระหว่างความเร็วสูงกับความเร็วปานกลาง ซึ่งแตกต่างกัน ยังไม่มีข้อสรุปการศึกษาที่แน่นอน

Q : รถไฟความเร็วสูงไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้

คนชลบุรีไม่รู้สึกเลยว่ามีการทำ ในต่างประเทศไม่มีเคสแบบนี้ จริง ๆ รถไฟความเร็วสูงจะลงทุนให้ได้ผล เห็นได้จากตัวอย่างในต่างประเทศจะใช้รถไฟในการเปิดพื้นที่ใหม่ ถึงจะคุ้มค่า เป็นพื้นที่ราคาถูก ไร่ละไม่กี่หมื่นไม่กี่แสนบาท แล้วไปวางผังเมืองใหม่เพื่อรองรับอนาคต 20-30 ปีข้างหน้า ไปเลือกพื้นที่ใหม่ที่ไม่มีปัญหาเหมือนเมืองปัจจุบัน อย่างปัจจุบันกรุงเทพฯ จ.ชลบุรี และ อ.ศรีราชา ล้วนแต่เป็นเมืองเดิมที่มีความเจริญ เมืองเล็กลงจนเกิดความแออัด สาธารณูปโภคมีจำกัด

ยกตัวอย่างรถไฟความเร็วสูงสถานีศรีราชาที่มีการชี้จุดไว้นั้นจะอยู่บริเวณบ้านไร่กล้วย หากมองย้อนกลับไปสัก 30 ปีที่แล้ว ไร่กล้วยเป็นพื้นที่ที่ไม่เจริญ แต่พอมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้น บ้านไร่กล้วยเลยกลายเป็นบริเวณที่มีบ้านจัดสรรเกิดขึ้นมาก แต่ถนนยังขนาดเดิมซึ่งแออัดมาก ถ้าสถานีรถไฟเกิดขึ้น จะสร้างความแออัดให้พื้นที่อีก เป็นการเพิ่มปัญหาเข้าไป

การที่มีข่าวว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) จะไปเปิดพื้นที่แปดริ้ว ผมเห็นด้วยเพราะว่าเปิดพื้นที่เมืองใหม่ เหมือนที่เมืองปูตราจายา และเมืองไซเบอร์จายา ตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย ทั้ง 2 เมืองเป็นการสร้างเมืองใหม่ จากพื้นที่รกร้าง 25,000 ไร่ รวมถึงกำหนดผังเมืองใหม่ให้รองรับอนาคต แต่เมืองที่เราอยู่ปัจจุบันไม่มีการพูดถึงผังเมือง ทำให้ผังเมืองทุกวันนี้เป็นปัญหากับชีวิตประจำวัน แม้ทางรัฐบาลบอกว่าจะรื้อผังเมืองใหม่ แต่รื้อได้หรือไม่ การเวนคืนบ้านคน รื้อบ้านคน เป็นเรื่องที่ยากมาก

Q : สิ่งที่บริษัทชลบุรีพัฒนาเมืองอยากผลักดัน

เราต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองเก่า รวมถึงการพัฒนาไปสู่เมืองใหม่ สมาร์ทซิตี้ คือ ต้องแยกออกเป็น 2 ประเภท

1.สมาร์ทซิตี้เมืองเดิม หรือเมืองเก่าที่มีปัญหา จากนั้นนำ internet of things หรือ IOT เข้าไปใส่ เพื่อเก็บข้อมูลและบริหารระบบเมืองด้วยเทคโนโลยี นำกระบวนการดิจิทัลไปแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น รถติดบริเวณใดจะปล่อยไฟแดงอย่างไร ระบบน้ำ

2.เมืองใหม่สมาร์ทซิตี้ คือการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ โดยต้องมีคอนเซ็ปต์ในการสร้างเมืองที่จะไปสร้างคนที่สามารถผลักดันเศรษฐกิจในรูปแบบเทคโนโลยีในอนาคต

Q : โยงกับสมาร์ทซิตี้ 600 ไร่

แรกเริ่มที่คิดทำไม่เกี่ยวกับอีอีซี แต่เป็นการพัฒนาเมืองที่เริ่มแออัดขึ้นของศรีราชา โดยผมมองพื้นที่นี้มาราว 7-8 ปีแล้ว และเตรียมที่ดินไว้อีก 600 ไร่ ในส่วนของการลงทุนโครงการสมาร์ทซิตี้

ปัจจุบันมีนักลงทุนจากหลายประเทศแสดงความสนใจเข้าร่วมลงทุนด้วย ทั้งจากฮ่องกง มาเลเซีย และอังกฤษ เพราะที่ตั้งของไทยอยู่กึ่งกลางกัมพูชา สปป.ลาว มาเลเซีย ทำให้สามารถขยายต่อไปยังตลาดประเทศข้างเคียงได้ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ยังรอความชัดเจนจากภาครัฐในการอนุมัติโครงการเปรียบเทียบให้ชัดคล้ายกับนิคมอุตสาหกรรม เมืองที่จะเข้าไปจัดสรรให้ตอบสนองกับชีวิตของคนในอนาคต และคนที่มาอยู่จะทำอะไรต้องสอดคล้องกับโลกของเทคโนโลยี โดยในระยะเริ่มต้นอยากให้เป็นคล้ายกับ CBD (central business district) ที่อิงกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ของรัฐบาล

นอกจากนี้ ในพื้นที่จะให้มีธุรกิจอื่นทั้งห้างสรรพสินค้า และโรงพยาบาลประกอบอยู่ด้วย เพราะสมาร์ทซิตี้จะเป็นตัวสร้างคุณภาพชีวิตอีกประการให้กับผู้อยู่อาศัย รวมถึงต้องลดคาร์บอนฟุตพรินต์ หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คนคนหนึ่งจะปล่อยออกมาในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นแนวทางของโลกในอนาคตที่ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้

Q : มีแผนทำรางเบาวิ่งเข้าเมือง

เราต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำฟีดเดอร์สำหรับเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟความเร็วสูงในอนาคต หากปีหน้าเกิดการประมูลรถไฟความเร็วสูง เราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมตอบสนอง ซึ่งจะจัดทำฟีดเดอร์ต้องไปเชื่อมกับพื้นที่เมืองใหม่ หรือแก้ปัญหาของเดิม เพื่อเพิ่มศักยภาพของรถไฟความเร็วสูง เพราะรถไฟความเร็วสูงไม่น่าจะกำไร ดังนั้นต้องเชื่อมโยงให้เป็นการเปิดพื้นที่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

นอกจากการเปิดพื้นที่แล้ว การกระจายความเจริญสู่พื้นที่ห่างไกลเองเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากความเจริญและโฉนดเมืองของจังหวัดชลบุรีนั้นกระจายตัวกันห่าง ๆ ทั่วทั้งจังหวัด ต่างจากจังหวัดที่มีบริษัทพัฒนาเมืองอื่น ที่สามารถมุ่งการพัฒนาเมืองจากส่วนของเทศบาล ทั้งขอนแก่น ภูเก็ต อุดรธานี เป็นต้น การพัฒนาเมืองชลบุรีจึงต้องโฟกัสไปที่ชุมชนที่ไม่ได้รับโอกาสทางความเจริญด้วย โดยจะมุ่งเน้นที่การใช้ฟีดเดอร์เพิ่มอัตราการท่องเที่ยวในชุมชนที่ห่างไกล เพราะแหล่งท่องเที่ยวในชลบุรีมีอีกมาก

นอกเหนือจากจุดหมายปลายทางหลักอย่างพัทยา รวมไปถึงแนวทางการฟื้นฟูเมืองเก่าด้วยการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จาก EEC อย่างทั่วถึง และมีโอกาสได้สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำจากสังคมเมือง ที่ดึงดูดโปรเจ็กต์ทุกอย่างมาที่ศูนย์กลาง แต่ชุมชนห่างไกลไม่มีโปรเจ็กต์เข้าไปสร้างรายได้เลย

 

อ่าน >> “ธนินท์”เทหมดหน้าตัก ยุทธศาสตร์ซีพีลงทุนเมือง-อาหาร