จ้างจุฬาฯทำEIAปัดฝุ่น”กระเช้าภูกระดึง”หากสำเร็จเงินสะพัด7หมื่นล.

ภูกระดึง
ปัดฝุ่น - นับเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ที่ชาวจังหวัดเลยส่วนหนึ่งได้พยายามผลักดันให้มีการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึง มูลค่ากว่า600 ล้านบาท แต่ได้รับเสียงคัดค้านมาตลอด ล่าสุดได้มีการหยิบยกโครงการดังกล่าวขึ้นมาปัดฝุ่นศึกษาอีกครั้ง

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ฤดูการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยในช่วงนี้ หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องในทุกฝ่ายเตรียมพร้อมทุกด้านเพื่อให้บริการรองรับนักท่องเที่ยวแล้ว ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนอยู่ประมาณ 20% ของรายได้ทั้งหมดของจังหวัดเลย

ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเชียงคาน ภูเรือ ภูหลวง หรือภูกระดึงที่ได้เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 และจากที่ประเมินนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดในแต่ละปีประมาณ 3 ล้านคน คาดว่าเฉลี่ยการใช้เงินในการท่องเที่ยวประมาณ 2-3 พันบาทต่อคน เงินสะพัดต่อปีประมาณไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี

“ในปี 2561 นี้นักท่องเที่ยวไม่น่าจะต่ำกว่า 3 ล้านคนแน่นอน แต่รายได้ขึ้นอยู่กับภาวะของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวแต่ละคน และสำหรับภูกระดึงเราคิดว่านักท่องเที่ยวจะมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะตั้งแต่เริ่มเปิดพื้นที่ในวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี รายได้ของลูกหาบไม่ต่ำกว่า 2-3 พันบาทต่อวัน ส่วนประเด็นการสร้างกระเช้าลอยฟ้าภูกระดึงตอนนี้รายละเอียดต่าง ๆ อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เลย ว่าผลการศึกษาจะเป็นไปในทิศทางใด”

นายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท.5) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) หรืออพท.)เปิดเผยว่า เรื่องกระเช้าภูกระดึงก่อนหน้านั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้ อพท.เป็นผู้ศึกษาร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อศึกษาเรียบร้อยและรายงานให้ ครม.รับทราบแล้ว จะนำเข้าสู่กระบวนการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยทางกระทรวงได้ให้จังหวัดจัดหาส่วนราชการมารับผิดชอบเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และตกลงให้ อบจ.เป็นผู้จัดการต่อไป ซึ่งการศึกษาดังกล่าวน่าจะต้องใช้เวลาเป็นปี เบื้องต้นมูลค่าการก่อสร้างราว 600 ล้านบาท แต่จะมากหรือน้อยกว่านี้ ต้องรอผลการศึกษาที่ออกมาชัดเจนก่อน

ทั้งนี้ เหลือการศึกษาที่จะเขียนเป็นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว ส่วนแนวทางการก่อสร้าง การบริหารจัดการมีแผนทั้งหมดแล้ว แต่อาจจะมีการทบทวนเพื่อให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น เพราะคอนเซ็ปต์ของกระเช้าภูกระดึงไม่ได้มาเพื่อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมด้วย

ด้านนายภูริวัจน์ โชตินพรัตน์ นายอำเภอภูกระดึง เปิดเผยว่า ตอนนี้ทาง อบจ.ได้จ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาศึกษาเพิ่มเป็นรอบสุดท้าย หลังจากเสร็จสิ้นจะยื่นเรื่องดำเนินการพิจารณาต่อไป ส่วนปัญหาที่ยังไม่สามารถสร้างได้จนผ่านมานานหลายสิบปีแล้ว เพราะมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และต้องรับฟังทั้ง 2 ฝ่าย แต่หากโครงการสำเร็จ มูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดเลยภายใน 1 ปีน่าจะประมาณ 50,000-70,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันคนในพื้นที่กว่า 90% เห็นด้วยในการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง

“การก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงอยู่กับผู้บริหารของประเทศว่าจะตัดสินใจอย่างไร แต่ปัจจุบันลูกหาบที่เคยมีอยู่มากถึง 1,500 คน ลดเหลือเพียง 300 กว่าคนเท่านั้น และมีแนวโน้มว่าคนรุ่นใหม่ไม่เข้ามาทำอาชีพนี้ ภายในระยะเวลา 5 ปี อาชีพลูกหาบของภูกระดึงน่าจะมีปัญหา อีกอย่างสังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น การสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงน่าจะตอบโจทย์ได้”

นายวิโรจน์ เปี่ยมสกุล ประธานหอการค้าจังหวัดเลย กล่าวว่า ปัจจุบันภูกระดึงมีนักท่องเที่ยวลดน้อยลงเรื่อย ๆ มองว่า หากมีกระเช้าขึ้นภูกระดึงจะทำให้ภูกระดึงกลับมาบูมหรือคึกคักอีกครั้งหนึ่ง คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะขึ้น-ลงไม่ต่ำกว่า 3,000 คน/วัน โดยขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยอยู่ระหว่างการว่าจ้างให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการศึกษารอบใหม่ จากเดิมในอดีตเคยดำเนินการศึกษามาแล้วกว่า 4 ครั้ง ใช้งบประมาณเกินร้อยล้านบาท ครั้งนี้มีการศึกษาที่ละเอียดมากขึ้น ทุกประเด็น ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดเลยเห็นด้วย

ในส่วนลูกหาบที่ลดจำนวนลงเหลือเพียง 100 กว่าคน จะมีงานทำเป็นมัคคุเทศก์นำทางให้นักท่องเที่ยว ทั้งนี้มองว่าถ้าต้องการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว อาจต้องใช้มาตรา 44 ของ คสช.

อนึ่ง โครงการกระเช้าขึ้นภูกระดึง มีการพูดกันมานานกว่า 30 ปี โดยมีแนวคิดเริ่มแรกตั้งแต่ปี 2525 แต่เริ่มมีการศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่ปี 2527 ปี 2542 ปี 2557 ปี 2559